<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

บลจ.กรุงไทย ร่วมวงรุกตลาด Bitcoin เปิดกองทุน Bitcoin ETF สำหรับนักลงทุนรายใหญ่

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

บลจ.กรุงไทย รุกตลาด Bitcoin เปิดขายกองทุนเปิดเคแทม Bitcoin ETF Fund of Funds ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KT-BTCETFFOF-UI) เสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 2-11 ธ.ค. 67 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท 

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เปิดเผยว่า Spot Bitcoin ETFs ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้น มีเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนราคา Bitcoin ในระยะยาว บริษัทจึงได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดเคแทม Bitcoin ETF Fund of Funds ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KT-BTCETFFOF-UI) (ความเสี่ยงระดับ 8+) กองทุนนี้เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน โดยจะเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 2-11 ธ.ค. 67 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท 

“จากการที่ Fed ได้ปรับลดดอกเบี้ยเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือน ธ.ค.นี้ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องของเงินเฟ้อได้ รวมถึงแนวโน้มของนโยบายภายใต้รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการผลักดันให้สหรัฐกลายเป็นศูนย์กลางคริปโตเคอร์เรนซีระดับโลก หรือแผนการจัดตั้งคลังสำรองบิตคอยน์แห่งชาติ สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้” นางชวินดากล่าว

Bitcoin คือ รูปแบบของสกุลเงินในอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ทั่วโลกใช้ได้ในฐานะสกุลเงินใหม่ และได้รับการสนับสนุนด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยธุรกรรม Bitcoin จะถูกส่งและยืนยันด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งมีพลังการคำนวณที่แข็งแกร่ง เพื่อใช้ยืนยันธุรกรรมในแต่ละ Node (คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายบล็อกเชน หรือสกุลเงินดิจิทัล) พร้อมทั้งจัดเก็บบันทึกไว้ในรายการเดินบัญชีสาธารณะ (Public Ledger) นอกจากนี้ เทคโนโลยี Blockchain จะถูกใช้แทนที่การยืนยันตัวตนผ่านธนาคาร เพื่อเปิดโอกาสให้ Bitcoin สามารถส่งมอบได้ระหว่าง 2 บุคคล โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

สำหรับกองทุน KT-BTCETFFOF-UI เน้นลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ อาทิ หน่วย CIS และ/หรือ กองทุนรวมอีทีเอฟ และ/หรือหลักทรัพย์ประเภทอีทีพี (Exchange Traded Products : ETP) ซึ่งเป็นกองทุนปลายทาง ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป

โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV โดยกองทุนจะลงทุนในกองทุนปลายทางทั่วโลกที่มีนโยบายการลงทุนและ/หรือสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์ ซึ่งกองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์สูงสุดได้ไม่เกิน 100% ของ NAV ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนในกองทุนใดกองทุนหนึ่งโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกิน 79% ของ NAV

โดยจุดเด่นของ KT-BTCETFFOF-UI มาจากการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้ง่ายโดยผ่านกองทุนรวม ทั้งยังไม่ต้องเผชิญกับต้นทุนการซื้อขายที่สูงและความซับซ้อนของการรายงานด้านภาษีที่เกิดจากการลงทุนใน Bitcoin โดยตรง นอกจากนี้ กองทุนนี้ยังได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการของบริษัทจัดการระดับโลกอย่าง Blackrock และ Fidelity เพื่อบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของการเก็บเหรียญ อีกด้วย

โดยเบื้องต้นคาดว่ากองทุนจะลงทุนมากกว่า 20% ในกองทุน iShares Bitcoin Trust ETF (IBIT) และกองทุน Fidelity Wise Origin Bitcoin Fund (FBTC) อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน (ที่มา : KTAM, ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 67, เนื่องจากกองทุนยังไม่เริ่มลงทุน ดังนั้นข้อมูลข้างต้นจึงเป็นเพียงประมาณการเท่านั้น สัดส่วนการลงทุนจริงอาจแตกต่างจากข้อมูลข้างต้นได้)

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น มาจากหลายปัจจัย อาทิ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทั่วทุกอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นในระบบการเงินแบบดั้งเดิมที่ลดลง รวมถึงโครงสร้างประชากร โดยเทียบกับ Baby Boomer นั้น นักลงทุนรุ่น Millennial และ Gen Z ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในสัดส่วนที่สูงกว่า (ที่มา : Investopedia Financial Literacy Survey, ข้อมูล ณ ก.พ. 2565) นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเติบโต สามารถช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงได้

ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ : ความเสี่ยงด้านราคาของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์ ความเสี่ยงด้านระบบเครือข่ายและซอฟต์แวร์ในการซื้อขาย ความเสี่ยงด้านส่วนต่างราคาของกองทุนปลายทางและราคาของสินทรัพย์อ้างอิง ความเสี่ยงทางตลาด ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของหลักทรัพย์

ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ความเสี่ยงในเรื่องคู่สัญญาในการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากข้อจำกัดการนำเงินลงทุนกลับประเทศ และความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

ที่มา : ประชาชาติ