<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สหภาพยุโรปกังวล ! การเปิดรับคริปโทฯ ของสหรัฐฯ อาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2025 ที่กรุงบรัสเซลส์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับทิศทางใหม่ของสหรัฐฯ ที่หันมาให้การสนับสนุนสกุลเงินคริปโต โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้อาจส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยทางการเงินและความมั่นคงทางการเงินของกลุ่มยูโรโซน

ความกังวลนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งเคยประกาศในช่วงหาเสียงว่าจะเป็น “ประธานาธิบดีที่สนับสนุนคริปโต” ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อจัดตั้ง ‘คลังสำรองคริปโตแห่งชาติ’ โดยใช้เหรียญที่รัฐบาลเป็นเจ้าของอยู่แล้ว นับเป็นการเปลี่ยนทิศทางนโยบายครั้งสำคัญจากรัฐบาลชุดก่อน

พาสชาล โดโนโฮ ประธานที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มยูโรโซน กล่าวในการแถลงข่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศอื่นอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มประเทศเราในยุโรป” เขาย้ำว่า การหารือเกี่ยวกับนโยบายคริปโตของสหรัฐฯ นั้น “เชื่อมโยงโดยตรงกับอำนาจอธิปไตยและความแข็งแกร่งของสกุลเงินของเรา” และการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เร่งพัฒนาสกุลเงินยูโรดิจิทัลนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินในยุคดิจิทัล

ECB เริ่มพัฒนา ‘สกุลเงินยูโรดิจิทัล’ ตั้งแต่ปี 2020 หลังจากที่ Facebook ประกาศในปีก่อนหน้านั้นว่า ต้องการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองชื่อ “ Libra” ซึ่งทำให้หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปต่างแสดงความกังวล โปรเจกต์ Libra ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Diem” ในภายหลัง แต่สุดท้ายก็พับโปรเจกต์ไปในช่วงต้นปี 2022

อย่างไรก็ตาม ปีแยร์ กราเมญา หัวหน้ากองทุนช่วยเหลือกลุ่มยูโรโซน ได้ออกมาเตือนว่า การที่สหรัฐฯ หันมาสนับสนุนคริปโตอาจกระตุ้นให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่พยายามเปิดตัวระบบการชำระเงินของตัวเองอีกครั้ง โดยเขากล่าวว่า “การหารือกันครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยทางการเงินของยุโรป”

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่เป็นความท้าทายสำหรับยุโรปเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ตลาดคริปโตกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบการเงินโลก และสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินของตนเองในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ที่มา:Reuters