เมื่อเย็นของวันที่ 27 มีนาคม ได้มีรายงานล่าสุดเกี่ยวกับกฎหมายด้าน Cryptocurrency ในประเทศไทยที่หลาย ๆ คนกำลังให้ความสนใจ โดยเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเปิดไฟเขียวร่าง พ.ร.ก. ที่จะออกมาควบคุมและกำกับเงินดิจิตอลแล้ว โดยมีการจัดเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15%
ภายหลังทางกลุ่มบริษัทด้าน Blockchain และ cryptocurrency จึงได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสมาคมไทยบล็อกเชน โดยประกอบด้วย
- ประเภท ก ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิตอล (Trading)
- ประเภท ข นักลงทุน (Trader)
- ประเภท ค ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขุดหรือให้บริการเช่ากำลังขุด (Mining)
- ประเภท ง สื่อสารมวลชน นักวิชาการ และผู้ให้คำปรึกษา
- ประเภท จ ผู้ให้บริการ ICO และผู้ให้บริการเทคโนโลยี Blockchain
สมาคมดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สมาคมไทยบล๊อกเชน หรือ TBA (Thailand Blockchain Association) ทางสมาคมได้มีการแถลงการฉบับที่สองที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการให้รัฐพิจารณาร่างกฏหมายภาษี คริปโต เนื้อหาหลักในร่างแถลงการนั้นคือการนำเสนอให้รัฐเก็บภาษีจากกระดานเทรดที่อัตรา 0.1% จากการซื้อขายหรือคือ 0.05% จากทุกๆการเทรด เพื่องให้ง่ายต่อการดูแลและนำส่งภาษีโดยกระดานเทรดจะเป็นผู้รับภาระนั้นไว้ รวมถึงความเห็นที่ว่าการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15% จะเป็นการปิดกันการระดมทุนรวมถึงเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาในประเทศ สำหรับแถลงการฉบับเต็มมีรายละเอียดดังนี้
สมาคมไทยบล๊อกเชนถูกก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
(1) ให้การส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงธุรกิจให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ธุรกิจให้บริการเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น ( Initial Coin Offering – ICO) การขุดหรือให้บริการเช่ากำลังขุดสกุลเงินดิจิทัล (Mining) และธุรกิจอื่นทั้งหมดที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นสำคัญ
(2) สนับสนุนและส่งเสริมภาครัฐในการกำกับดูแลธุรกิจสกุลเงินดิจิทัล (Crypto currency) และการให้บริการเทคโนโลยี บล็อกเชน (Blockchain) ในประเทศไทยให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจ
(3) เป็นศูนย์กลางเพื่อตกลงและวางระเบียบ หลักเกณฑ์ และจรรยาบรรณเพื่อใช้ร่วมกันในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน และ
(4) เป็นศูนย์ให้ความรู้ รวบรวมและกระจายข้อมูลข่าวสารสำหรับธุรกิจตามข้อ (1) เพื่อให้สมาชิกประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงเตือนภัยที่อาจเกิดขึ้นแก่ภาคประชาชน
สำหรับสมาชิกของสมาคมนั้นมากจากผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวกับ Blockchain โดยมีรายชื่อกรรมการและที่ปรึกษาดังนี้
กรรมการสมาคม
- ดร.ประเวทย์ ตันติสัจจธรรม กรรมการกลางและเลขาธิการ
- นายวิชิต ซ้ายเกล้า (กฐินรัน) กรรมการกลาง
- นายณัฏฐพล อัศวชมพูนุช กรรมการกลาง
- นายศิวนัส ยามดี (Coin asset) กรรมการ ประเภท ก
- นายปฐม อินทโรดม (TSDC) กรรมการ ประเภท ก
- นายชนกันต์ ชัยวัฒนวสุ (Coins.co.th) กรรมการ ประเภท ก
- นายสกลกรย์ สระกวี ( Bitcoin Thai Club) กรรมการ ประเภท ข
- นายกิตติวัฒน์ มโนสุทธิ (Smile Interactive) กรรมการ ประเภท ข
- นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ (โฉลกดอทคอม) กรรมการ ประเภท ข
- นายกษมพัทธ์ วิธานวัฒนา (ZMine) กรรมการ ประเภท ค
- นายวีระชัย เหมาะประไพพันธุ์ (TH Miner) กรรมการ ประเภท ค
- บริษัทสยามบล็อกเชน มีเดีย กรุ๊ป กรรมการ ประเภท ง
- นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล (Bitcoin center) กรรมการ ประเภท ง
- นายคฑาวุธ ปาระมี (Webmaster) กรรมการ ประเภท จ
- นายวิทยา อัศวเสถียร (Dev network) กรรมการ ประเภท จ
ที่ปรึกษาสมาคม
- ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐเอสโตเนียประจำประเทศไทย และประธานคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์
- คุณมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
- ดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม
- คุณศิรินันท์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเลย์ ออบิท จำกัด (มหาชน)
- ผศ.ดร.ทศพล สอตระกูล นักวิชาการ
- ดร.ชัยพร ธนถาวรกิจ ประธานมูลนิธิช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
- พันตำรวจโทเจษฎา บุรินทร์สุชาติ รองผู้กำกับการ ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 2 กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- รศ.ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาคณะนิติศาสตร์
ทางสมาคมยังได้มีการเปิดรับสมาชิกเพิ่มอีกด้วย สำหรับรายชื่อสมาชิกฉบับเต็มและแถลงการทุกฉบับสามารถดูได้ที่นี่
ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน
การเก็บภาษี ณ ที่จ่าย 15% นั้นไม่ต่างอะไรกับการบอกให้ โปรเจค ICO ทั้งหลายที่กำลังจะระดมทุนในประเทศไทยไม่ว่าจะด้วยนักลงทุนประเทศไทยเองหรือต่างชาติ ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน การแถลงการของสมาคมครั้งนี้เป็นการรวมตัวของของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งผู้เขียนก็หวังว่าภาครัฐจะรับฟังไว้
ในส่วนของภาครัฐนั้นผู้เขียนเข้าใจว่าการตั้งกำแพงภาษีนี้ทำเพื่อเป็นการชะลอการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของนวัตกรรม เนื่องจากด้วยเทคโนโลยี Blockchain นั้นความเป็น Decentralized นั้นทำให้มันควบคุมได้ยากในสายตารัฐบาล แต่มันควรจะเป็นอย่างนั้นเสมอไปหรือเปล่าเพราะจะกี่ยุคต่อกี่ยุคเทคโนโลยีก็ได้พิสูจน์มาตลอด ว่าสุดท้ายผู้ที่ครอบครองเทคโนโลยีนั้นจะได้ประโยชน์มหาศาล และด้วยปัจุบันเทคโนโลยี Blockchain นั้นก็ยังไม่ไปถึงจุดที่เรียกว่า Mass Adoption เลยด้วยซ้ำ คำถามที่น่าสนใจคือภาครัฐควรจะหยุดเทคโนโลยีนี้ก่อนที่มันจะเกิดเพื่อไม่ให้เสียการควบคุม หรือว่าจะรอให้เม็ดเงินและมันสมองดี ๆ ไหลออกนอกประเทศแล้วค่อยจะยอมรับในเทคโนโลยีนี้ ซึ่งคำตอบนั้นเราก็คงต้องดูกันต่อไปว่าร่าง พรก. นี้จะอย่างไรต่อ
สยามบล็อกเชนได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านสื่อของสมาคมไทยบล็อกเชน ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความนี้
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น