<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

Tether (USDT) คืออะไร ? ทำไมถึงเป็นเหรียญ Stablecoin เบอร์หนึ่งที่ครองใจชาวคริปโตทั่วโลก

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้กระแสดราม่าดิไอคอน ได้กลายมาเป็นจุดสนใจให้กับชาวไทยทั้งประเทศ ซึ่งในส่วนหนึ่งของคดีดังกล่าวก็ได้มีการกล่าวถึงการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลอย่าง USDT ด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จัก Teteher (USDT) Stablecoin อันดับหนึ่งของโลกไปพร้อมกัน

ทำความรู้จักกับ Stablecoins

ก่อนจะไปเจาะลึก USDT กัน เรามาทำความรู้จักกับ Stablecoins กันก่อน Stablecoins หรือ “เหรียญที่มีความเสถียร”  เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกแบบมาให้มีมูลค่าคงที่ Peg มูลค่าอยู่กับสกุลเงินเฟียต เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ราคาของมันไม่แกว่งเหมือนคริปโตเคอร์เรนซีทั่วไป โดยกำหนดไว้ว่า 1USDT = 1USD อยู่เสมอ ทำให้มูลค่าของมันเลยจะไม่ผันผวนเหมือนกับเหรียญคริปโตสกุลอื่น ๆ

ในอุตสาหกรรมคริปโต Stablecoin จะมีอยู่ 4 ประเภทหลัก ๆ คือ Fiat-Collateralized (ตรึงมูลค่ากับเงินเฟียต)  Crypto Collateralized (ตรึงมูลค่าเข้ากับคริปโตสกุลอื่น) Commodities Collateralized (ตรึงมูลค่ากับสินค้าโภคภัณฑ์) และตรึงมูลค่าด้วยชุดคำสั่ง Algorithmic Stablecoin ซึ่งในกรณีของ Tether (USDT) จะอยู่ในหมวดหมู่ของ   Fiat-Collateralized

Tether และ USDT คืออะไร

Tether เป็นบริษัทแม่ผู้ทำการออกเหรียญ USDT ซึ่งเป็น Stablecoin ที่ตัวของมันถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 2014 โดย Brock Pierce, Reeve Collins, และ Craig Sellars ในชื่อ Realcoin ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Tether หรือ USDT ในภายหลังจวบจนปัจจุบันภายใต้การนำของ CEO อย่าง Paolo Ardoino

นอกจากนี้ Tether ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่เหรียญ USDT แต่ยังขยายตัวสู่การพัฒนาเหรียญ Stablecoin อื่นๆ อีกมากมาย เช่น EURT ที่ผูกกับยูโร, CNHT ที่ผูกกับหยวนจีน, และ MXNT ที่ผูกกับเปโซเม็กซิโก เพื่อรองรับผู้ใช้งานในตลาดต่างประเทศที่หลากหลายมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น Tether ยังแสดงถึงความยืดหยุ่นและความครอบคลุมด้วยการรองรับเหรียญ Stablecoin ของตนบนเครือข่ายบล็อกเชนที่หลากหลาย เช่น Ethereum, Polygon, Solana , Tron และ Avalanche เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่มีความต้องการแตกต่างกัน ทำให้ Tether สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในวงกว้างมากขึ้น

รายละเอียดการประกาศรายงานการสำรองเงินของ Tether

เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน Tether จึงได้ว่าจ้างบริษัทตรวจสอบบัญชี Moore Cayman มาตรวจสอบเงินสำรองของเหรียญ USDT ทุกไตรมาส และเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบอย่างโปร่งใสบนเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งหมายความว่าทุกเหรียญ USDT ที่มีการหมุนเวียนนั้นจะมีเงินสำรองค้ำประกันอยู่จริง

สัดส่วนเงินสำรองของ Tether 

อ้างอิงจากรายงานการสำรองเงินของ Tether อัปเดทล่าสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2024  พบว่า Tether มีเงินสำรองอยู่ทั้งสิ้น 1.18 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าตลาด (Market Cap) ในปัจจุบันของเหรียญ USDT ที่ 1.19 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่า Tether จะมีเงินสำรองมากเพียงพอ หากเกิดกรณี Bankrun ที่นักลงทุนถอนเงินจำนวนมากในเวลาพร้อม ๆ กัน

ทำไมคนทั่วโลกถึงนิยมใช้ USDT

สำหรับสาเหตุที่ผู้คนทั่วโลกต่างนิยมใช้งาน USDT จะประกอบไปด้วยกันหลายสาเหตุ โดยประการแรกคือ USDT  มีมูลค่าตลาด และวอลุ่มการเทรดเยอะที่สุดในโลก ทำให้มันเป็นเหรียญที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

ประการที่สอง คือ USDT เป็นเหรียญ Stablecoin ที่มีมูลค่าคงที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 1:1 ซึ่งมอบความมั่นคงและความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ผู้ใช้งานสามารถหลีกเลี่ยงความผันผวนของราคาคริปโตอื่นๆ ได้ ทำให้ USDT เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่เสี่ยงต่อการขาดทุนจากความผันผวนของตลาด

ประการที่สาม คือการรองรับการใช้งานในหลากหลายแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโต ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเทรด ซื้อขาย หรือโอนเหรียญ USDT ได้อย่างสะดวกสบายในหลายตลาดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในตลาดคริปโตชั้นนำหรือบนบล็อกเชนต่างๆ เช่น Ethereum, Solana, Tron และ Avalanche ซึ่งช่วยเสริมความยืดหยุ่นในการใช้งาน

ประการสุดท้าย USDT ยังสามารถใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ รวมไปถึงทำการสั่งซื้อสินค้าและบริการ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารที่มีความล่าช้า และมีค่าธรรมเนียมที่สูง

เรื่องฉาวของ USDT

อย่างไรก็ตามแม้จะมีประโยชน์อยู่มากแต่ตัวของ USDT เองก็ตกเป็นเป้าคำครหาจากหลาย ๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการที่มีเหล่าอาชญากรทั่วโลกต่างใช้มันเป็นเครื่องมือ ส่งเงินกันไปมาข้ามประเทศ หรือจะเป็นประเด็นที่ Tether ถูกกล่าวหาว่ามีเงินสำรองในบริษัทที่ใช้ค้ำประกันมูลค่าของเหรียญไม่เท่ากับจำนวนเหรียญที่ผลิตออกมา 

ในขณะเดียวกันมีรายงานว่าสินทรัพย์ที่สำรองในคลังของ Tether ไม่ใช่แค่เงินดอลลาร์เท่านั้น แต่รวมถึงสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรือแม้แต่คริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความโปร่งใสในระบบ ทำให้ตัวเหรียญนั้นสูญเสียความน่าเชื่อถือ