Cryptocurrency คือนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนการทำธุรกรรมออนไลน์แบบเก่า ๆ รวมทั้งเงิน Fiat เนื่องจากความ Decentralized ของมันที่ถูกหนุนหลังด้วยเทคโนโลยีอย่าง Blockchain
การสร้าง Cryptocurrency หรือ โทเคน
หากดูแบบผิวเผินจะคิดว่า Cryptocurrency นั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้แบบเทคนิคเฉพาะทางมาก ๆ ในการสร้าง ซึ่งเป็นความจริงในช่วงแรก ๆ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีได้พัฒนามาไกลกว่าเดิมมาก ทำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายในการสร้างคริปโต เช่น การประยุกต์ใช้ ERC-20 ของ Ethereum ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานของ Ethereum ที่ได้รับการยอมรับ และโปรเจกต์ชั้นนำส่วนใหญ่ในวงการคริปโตต่างก็ใช้กัน
การใช้ ERC-20 ในการสร้างโทเคน หรือ Cryptocurrency นั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ได้มีวิดีโอ หรือแหล่งความรู้ How to มากมายในอินเทอร์เน็ตสอนว่าทำอย่างไร และที่น่าตกใจคือ มันใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็สามารถสร้างโทเคนของเรา และปล่อยมันไปโลดแล่นอยู่บนเครือข่าย Ethereum ได้แล้ว
ในวิดีโอได้อธิบายว่า เพียงแค่ใช้ MetaMask, เว็บไซต์ Remix, เว็บ Github และความรู้ด้านการเขียนโค้ดนิดหน่อย จากนั้นก็สามารถคลิก และพิมพ์ตามวิดีโอแบบ Step by Step เพื่อสร้างโทเคนของเราได้เลย
การตลาด และชุมชน
โดยทางเทคนิคแล้ว หาก Cryptocurrency นั้นถ้าถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ก็เป็นอันสำเร็จ แต่ว่า การที่ Cryptocurrency นั้นจะประสบความสำเร็จได้มันต้องมีอะไรมากกว่าเหรียญเฉย ๆ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือผู้ใช้งาน หรือชุมชน โปรเจกต์นั้น ๆ จำเป็นต้องหาวิธีโปรโมทจุดยืน และจุดเด่นของตัวเองในตลาดให้เจอว่า ทำไมโปรเจกต์นี้ถึงดีกว่าโปรเจกต์อื่น ๆ
การตลาดสำหรับตลาดคริปโตนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยความที่ชุมชนคริปโตนั้นอยู่ตาม Social Media เช่น Telegram, Reddit หรือ Twitter ซะส่วนมาก ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกส่งผ่านกันตามช่องทางนี้ และมันแพร่ไปไวมาก ๆ เพราะฉะนั้นต้องคิดกลยุทธ์ในส่วนนี้ให้ดี ว่าแบบไหนถึงจะเหมาะสม
การตลาดที่ดีจะสามารถดึงผู้ใช้งาน และนักลงทุนเข้ามาได้ ซึ่งผู้ใช้งานจำนวนมากจะสร้างชุมชนขึ้นมา ที่จะคอยเป็นกำลังสนับสนุนในโปรเจกต์นั้น ๆ คิดสภาพว่า มีโปรเจกต์หนึ่งมีเทคโนโลยีแบบสุดยอด สามารถทำธุรกรรมได้แบบทันที โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แก้ปัญหา Scaling ได้จริง ทีมพัฒนาเก่งทุกคน แต่ไม่ได้ทำการตลาด ไม่มีผู้ใช้งาน ไม่มีชุมชนเลย มันก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะจุดประสงค์หลักของ Cryptocurrency คือการคืนอำนาจกลับไปให้ผู้ใช้งาน
ต้นทุนที่ตามมา
เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ การที่จะทำให้เหรียญมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เปิดตัวจำเป็นต้องใช้นักพัฒนา ซึ่งนักพัฒนาส่วนใหญ่คงจะไม่มีทำงานให้โปรเจกต์โนเนมฟรี ๆ เป็นแน่ ทำให้เกิดสิ่งที่ตามมาคือต้นทุนในการจ้างพนักงานในส่วนต่าง ๆ เช่น พนักงานที่ดูแลด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้, โปรแกรมเมอร์ที่คอยพัฒนาโค้ดของเหรียญอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้บัคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน, ทีมงานด้านการตลาดที่ต้องคอยโปรโมท และหากลยุทธ์ใหม่ ๆ มาตีตลาดอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งพนักงานในส่วนของการประชาสัมพันธ์ดูแลช่องทาง Social Media ต่าง ๆ เช่น Telegram, Twitter หรือ Reddit เป็นต้น
หากมองลงลึกไปจริง ๆ จะเห็นว่า มันมีต้นทุนที่แฝงอยู่พอสมควร ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม ICO ถึงสนใจที่จะระดมทุนกันเต็มไปหมด การสร้างเหรียญนั้นไม่ใช่แค่เสกขึ้นมาเฉย ๆ จากอากาศ มันจำเป็นต้องมีส่วนประกอบในแง่อื่น ๆ ข้างต้นในการสร้าง รวมทั้งรักษาให้มันคงอยู่ต่อไปอีกด้วย
Tokenomics
นอกเหนือจากต้นทุนต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องคิดว่าให้ดีว่า โทเคนที่สร้างขึ้นมานั้นมีกลไก หรือ Tokenomics ที่จูงใจผู้ใช้งาน และนักพัฒนาหรือไม่ เช่นการนำเหรียญไปทำ Masternode เพื่อรับปันผล และเป็นการลดปริมณเหรียญที่ไหลเวียนในตลาด ทำให้อาจส่งผลให้ราคาขึ้นได้, การ Burn หรือทำลายเหรียญแบบเดียวกับ Binance ที่แสดงให้เห็นว่า Supply ได้หายไปจริง ๆ ซึ่งอาจจะเพิ่มมูลค่าให้เหรียญที่เหลืออยู่ได้, การ Stake เหรียญผ่าน Client ที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องขุดเหรียญ แต่เป็นการ Stake เหรียญให้ได้ปันผลได้, การกำหนดว่า จะมีเหรียญปล่อยออกมาเท่าไรต่อ Block ถ้าเกิดเหรียญถูกขุดได้ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทีมนักพัฒนาต้องไปคาดการณ์เอาเองว่าจะเดินไปในทิศทางไหน
สรุป
จากบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วการสร้าง Cryptocurrency นั้นง่าย ๆ มาก ใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็สำเร็จได้ แต่สิ่งที่ยากจริง ๆ คือการสร้างเหรียญคริปโตที่ดี เพราะ Cryptocurrency นั้นไม่ได้ต้องมีเทคโนโลยีที่ดีอย่างเดียว มันต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกเช่น Tokenomics, ชุมชนที่ใช้งาน, ปัจจัยด้านราคา และอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับทีมนักพัฒนา เนื่องจากสูตรของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันออกไป0
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น