<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สิ่งที่ผู้ลงทุน Bitcoin กำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจ่ายภาษีเงินได้

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ท่ามกลางราคาของเหรียญ cryptocurrency ระดับโลกที่กำลังพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง และลากให้ราคาของเหรียญอื่นๆให้ไป “อวกาศ” กับมันด้วยนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่กำลังถูกดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในตลาดอิสระเสรี ไร้กฎหมายมาควบคุมที่เชี่ยวกรากนี้ ในขณะหลายๆคนเชื่อว่าความเป็น decentralized ของมันที่ปลดแอกจากการควบคุมของทางการและรัฐบาลได้ พวกเขามองว่าเมื่อรัฐบาลกำลังผลักไสไล่ส่งมันออกไปจากประชาชนของพวกเขา ดังนั้นการเก็บภาษีก็ควรที่จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้นที่ถูกผลักออกไปด้วย แต่ทว่า…

มันเป็นเรื่องที่พูดยาก

Bitcoin และ cryptocurrency อื่นๆทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain หรือเทคโนโลยีที่การเก็บข้อมูลด้านการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดบนเหรียญนั้นๆแบบแยกตัว ไม่ถูกเก็บไว้บนที่ใดที่หนึ่ง แต่จะถูกแยกตัวตาม node หรือเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆเครื่องของผู้ที่เปิดรันมันไว้อยู่ทั่วโลก และมี “นักขุด” เป็นผู้คอยช่วยประมวลผลและตรวจสอบธุรกรรมเหล่านั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ยากจนถึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานรัฐบาลจะสามารถเข้าไปปราบปรามเหรียญ cryptocurrency เหล่านี้ได้อย่างหมดจด นั่นหมายความว่าถ้าพวกเขาต้องการจะ “ล้มล้าง” Bitcoin ให้สิ้นซากนั้น พวกเขาจะต้องไปไล่ปิด node ที่มีมากกว่า 7,000 แห่งทั่วโลกพร้อมๆกันให้หมดไป

แต่คอนเซปของ Bitcoin ที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนแนวคิดที่ต้องการจะปลดแอกประชาชนจากรัฐบาลและธนาคารที่คอยเอาเปรียบพวกเขานั้น ส่งผลทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมาย ว่าถ้าหากรัฐบาลที่เป็นผู้ถูกต่อต้านเหล่านั้นไม่สนับสนุนมัน การจ่ายภาษีที่ได้จากการทำกำไรซื้อขายเหรียญเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ควรพึงกระทำหรือไม่อย่างไร

ความจริง

โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรแห่งประเทศไทยนั้นได้มีการระบุไว้ว่า ผู้ที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยประกอบไปด้วย

  1. บุคคลธรรมดา
  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ข้อมูลของข้อหนึ่งข้างต้นเผยให้เห็นว่า ในที่นี้คำว่า “บุคคลธรรมดาทั่วไป” นั้นหมายถึงบุคคลที่เป็นคนธรรมดาทั่วไป เป็นมนุษย์ ดังนั้นนั่นแปลว่าพวกเราทุกคนที่กำลังอ่านบทความอยู่ในขณะนี้เข้าเกณฑ์ข้อที่หนึ่ง หากอ้างอิงจากกฎหมายภาษีของประเทศไทย

ทีนี้เราลองมาดูหน้าต่อไปของเว็บไซต์สรรพากรบ้าง ที่กล่าวว่าเงินที่จะต้องนำมาเสียภาษีนั้นประกอบไปด้วย

  1. เงิน
  2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง
  3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
  4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
  5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับข้อแรกนั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเงินสด หรือเงินที่ถูกโอนเข้ามาในบัญชีธนาคารนั้น หากมีการพิจารณาแล้วว่าเป็นเงินที่เกิดจากรายได้ (เงินเดือน, เงินได้ที่ได้จากการว่าจ้าง, ดอกเบี้ยที่เก็บได้จากการให้เพื่อนของคุณยืมเงิน เป็นต้น) นั้นจำเป็นที่จะต้องถูกนำมาคิดคำนวณและเพิ่มเข้าไปในแบบยื่นภาษี ดังนัั้น นั่นหมายความว่า

“กำไรที่คุณได้มาจากการซื้อขาย Bitcoin หากมีการขายออกมาเป็นเงินบาท นั่นคือรายได้ที่เป็นเงินสด และจำเป็นต้องถูกนำมายื่นแบบเสียภาษี”

แต่เดี๋ยวก่อน หลายๆคนอาจจะคาดว่า ถ้าอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขายมันออกมาเป็นเงินบาท เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำมันมาเสียภาษีสิ?

โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีที่ไม่ประสงค์จะออกนามผู้หนึ่งที่ทางทีมงานสยามบล็อกเชนได้ทำการสัมภาษณ์นั้น เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวคือ

“เมื่อผู้ที่ซื้อ Bitcoin ถือเก็บไว้ แต่ไม่ได้ขายออก แม้ว่ามูลค่าของมันจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ในกรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นรายได้ ดังนั้นผู้ที่ถือ Bitcoin จึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษี”

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้งาน Bitcoin ที่มองว่าความพยายามในการรับจ่ายเงินเป็น Bitcoin แทนเงินบาทจะสามารถเลี่ยงภาษีได้นั้น ก็ให้ย้อนกลับไปดูข้อสองด้านบนที่เขียนว่า “ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง” ในกรณีนี้ อาจไม่เป็นไปตามที่หลายๆคนคาดไว้ เพราะนั่นหมายความว่า

“กรณีได้รับการจ่ายเงินเป็น Bitcoin ให้อ้างตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จะแปลความหมายของเงินได้พึงประเมินไว้ แล้วให้โยงกับ มาตรา 9 ทวิ จะแปลความหมายของคำว่า มูลค่า ของทรัพย์สินที่จะเปนเงินได้พึงประเมิน ดังนั้น เข้าข้อ 2”

ซึ่งหมายความว่าผู้ที่รับรายได้เป็น Bitcoin จากการขายสินค้านอกเหนือจากเงินบาทนั้น ก็ยังคงต้องเสียภาษีอยู่ดีนั่นเอง

คำถามที่ตามมาคือ แล้วต้องเสียอย่างไรล่ะ?

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า สมมติว่ามีร้านค้ารถจักรยานยนต์แห่งหนึ่ง เปิดขายรถด้วยราคา 1 BTC (สมมติว่า BTC ละ 10,000 บาท) และมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นหมายความว่าเวลาที่ร้านนั้นจะทำการยื่นแบบเสียภาษี ก็จะต้องมีการยื่นการค้าขายรถมอเตอร์ไซค์ดังกล่าวไปที่ 10,000 บาทตามปกตินั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของมันไม่จบอยู่แค่นั้น เนื่องด้วยการที่ร้านดังกล่าวรับรายได้เป็น BTC โดยเฉพาะ นั่นหมายความว่าทางร้านจะต้องนำ Bitcoin ไปขายออกมาเป็นเงินบาท และถ้าหากในกรณีที่ราคาของ Bitcoin ในขณะนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 1 BTC = 20,000 บาท ทางร้านจะต้องอธิบายที่มาของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 10,000 บาทให้ได้ว่าเกิดจากการขายรถมอเตอร์ไซค์ที่เสียภาษีไปก่อนหน้านี้แล้ว (เช่นหลักฐานการทำธุรกรรมทั้งจาก blockchain หรือใบเสร็จที่ออกให้ลูกค้า) จึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษีอีกรอบหนึ่งจากรายได้ตรงนี้ มิเช่นนั้นรายได้ดังกล่าวก็จะต้องนำมาเสียภาษีอีกรอบหนึ่ง

แต่ถ้าหากว่าราคาของ BTC ลดลงและคุณขาดทุน นั่นก็จะถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แล้วถ้าผมหรือฉันขาดทุนล่ะ?

ข่าวดีคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีกล่าวว่า สำหรับผู้ที่ทำการซื้อขายเก็งกำไร Bitcoin หรือ cryptocurrency ตัวอื่นๆเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือแม้แต่มือสมัครเล่นก็ตาม ถ้าหากโชคไม่เข้าข้างเขาเหล่านี้จนเกิดอาการขาดทุน หรือที่เรามักเรียกมันว่า “ดอย” สำหรับผู้ที่ใช้เงินเย็นก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะพวกเขาสามารถที่จะถือครองเหรียญหรือ “HODL” มันต่อไปได้อย่างไร้ความกังวล แต่สำหรับผู้ที่นำเงินร้อนมาใช้เทรดล่ะ?

การคิดอัตราภาษีของการซื้อขาย Bitcoin ของกรมสรรพากรแห่งประเทศไทยนั้นหลักๆจะมีสองวิธี ซึ่งก็คือ

  1. ภาษีที่คำนวณจากเงินได้สุทธิ – ให้คำนวณตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา
  2. ภาษีที่คำนวณจากเงินได้พึงประเมิน

ซึ่งกฎเกณฑ์ก็คือ เมื่อมีการนำเงินได้มาทำการคำนวณทั้งสองแบบและเปรียบเทียบกันแล้ว หากข้อใดที่มีการเสียภาษีมากกว่า ก็ให้เลือกข้อนั้นเป็นเกณฑ์ในการเสียภาษี

ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น นายซาโตชิทำการโอนเงินทุนเข้าไปบนเว็บเทรด TDAX เป็นจำนวน 100,000 บาทเพื่อหวังที่จะเทรด Bitcoin และให้เกิดเหตุการณ์ “ตลาดกระทิงดุ” ที่ราคาจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง แต่โชคไม่เข้าข้างเขา ในเดือนนั้นราคาของ Bitcoin ร่วงลงอย่างรุนแรงจน 1 BTC ที่เขาซื้อมาในราคาหนึ่งแสนบาทเกิดขาดทุน ร่วงลงมาอยู่ที่แปดหมื่นบาท เขารู้สึกเศร้ามาก จึงได้ทำการขายแลกออกเป็นเงินบาทเป็นจำนวนทั้งหมด 80,000 บาท และโอนกลับเข้าบัญชีธนาคารของเขา

เงินอะไรก็แล้วแต่ที่ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารมาจะถูกมองเป็นรายได้หมด ดังนั้นผู้ที่เทรดจะต้องหาหลักฐานมายืนยันหักล้างในภายหลัง

หากลองมาดูกรณีของนายซาโตชิกับวิธีการคิดคำนวณภาษีแล้วนั้น เมื่อนำข้อแรกมาคิดคำนวณจะพบว่านายจะต้องเอายอดที่ได้มาปรับปรุงหักต้นทุน จะทำให้เหนว่าเขานั้นขาดทุนแน่นอน หากดูจากวิธีแรก นายซาโตชิไม่จำเป็นต้องเสียภาษี

แต่เดี๋ยวก่อน นายซาโตชิจะต้องนำยอดดังกล่าวมาคำนวณกับข้อสองด้วย ซึ่งทางกฎหมายระบุไว้ว่าเงินได้พึงประเมินนั้นจะต้องถูกนำมาคูณกับตัวเลข 0.005 และถ้าหากว่ามันน้อยกว่า 5,000 บาท นายซาโตชินั้นไม่จำเป็นต้องเสียภาษี

อย่างไรก็ตามนายซาโตชิจะต้องเสียภาษีในกรณีที่เขาทำการโอนเงินทุนเข้าไปบนเว็บเทรดมากกว่า 1 ล้านบาท และแม้ว่าเขาจะขาดทุนหรือไม่ก็ตาม แต่หากเขาถอนเงินออกมาเข้าบัญชีธนาคารนั้น จะต้องถูกนำไปคูณกับ 0.005 และหากว่าค่าที่คำนวณออกมาได้มากกว่าหรือเท่ากับ 5,000 บาทขึ้นไป เขาจะต้องเสียภาษีให้เท่ากับจำนวนเงินที่คำนวณออกมาได้นั่นเอง

สาเหตุหลักๆนั้นก็เพราะว่า Bitcoin ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ ดังนั้นหากอ้างอิงตามกฎหมายภาษีแล้ว รายได้จากการซื้อขาย Bitcoin นั้นจะไปตกอยู่ที่มาตรา 40 วงเล็บ 8 ซึ่งยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของ capital gain มารองรับนั่นเอง

ทั้งนี้ผู้ซื้อขายควรจะพึงเข้าใจไว้ด้วยว่า การซื้อขายในทุกๆขั้นตอนธุรกรรมจะต้องมีหลักฐานอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะตั้งแต่การโอนเงินจากบัญชีเข้าธนาคารไปบนเว็บเทรด, การซื้อขาย ไปจนถึงการถอน เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันในกรณีที่เจ้าหน้าที่สรรพากรขอเรียกดูนั่นเอง

สุดท้ายนี้ทางเราขอฝากไว้ว่า หากคุณเป็นคนไทยที่ประกอบอาชีพอะไรก็แล้วแต่ นอกเหนือจากการเทรด cryptocurrency หรืออาชีพอื่นๆ (แม้ว่าอาชีพอื่นๆนั้นมันอาจจะไม่ถูกกฎหมายก็ตาม และทางเราก็ไม่สนับสนุน) ถ้าหากว่าคุณมีรายได้ คุณก็จะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย และการหลีกเลี่ยงภาษีนั้นอาจเป็นเรื่องที่ร้ายแรง และชวนปวดหัวยิ่งกว่าติด “ดอย” เสียอีก

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น