<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ICO เมื่อกฎหมายวิ่งตามไม่ทันเทคโนโลยี

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ตั้งแต่เทคโนโลยี Blockchain ได้เปิดตัวขึ้นในรูปแบบของ Bitcoin เมื่อปี 2009 เทคโนโลยีนี้ได้ทำการปฏิวัติทางการเงินและเศรษฐศาสตร์อย่างมหาศาล เมื่อเราสามารถส่งเงินหรือมูลค่าใดๆข้ามโลกได้ในระดับหลักนาที ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะโอนเงินจำนวน 10 ล้านบาทจากไทย ไปสหรัฐอเมริกา ไปญี่ปุ่น หรือไปเกาหลี โดยกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในเวลาที่น้อยมาก ทำให้เงินดิจิตอลกลายเป็นสิ่งที่ทำลายข้อจำกัดเดิมๆทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ เพราะในปัจจุบันไม่มีอะไรที่จะสามารถส่งมูลค่าข้ามโลกได้เร็วเท่าสิ่งนี้อีกแล้ว เงินดิจิตอลจึงได้กลายเป็นสื่อกลางในการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า ICO

ICO หรือ Initial Coin Offering เป็นรูปแบบการระดมทุนแบบใหม่ที่ใช้เงินดิจิตอลเป็นตัวช่วย มีลักษณะคล้ายกับ IPO แต่แทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้น ผู้ลงทุนจะได้เป็น Token แทน ซึ่งเปรียบเสมือนกับเงินดิจิตอลอีกสกุลหนึ่ง Token นี้มีรูปแบบและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป และจะถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทหรือองค์กรที่พัฒนาโปรเจกต์นั้นๆด้วยเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency สำหรับโปรเจกต์แรกๆที่ใช้วิธีนี้คือ Mastercoin ในปี 2013 และ Ethereum ในปี 2014 แน่นอนว่า ICO ได้สร้างมิติใหม่ให้กับการระดมทุนแบบเดิมๆ

 

การปฏิวัติของการลงทุน

        ในปัจจุบัน ยอดการระดมทุนของ ICO อยู่ที่ 4,000 ล้านดอลลาร์ และใน Q2 ของ ปี 2017 ยอดการระดมทุน ICO นั้นอยู่ที่  797 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การระดมทุนผ่าน Venture Capital มีเพียงแค่ 232 ล้านดอลลาร์เท่านั้น นั่นแปลว่า ICO ได้ฉีกกฎการระดมทุนแบบเดิมๆไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็นการเติบโตของการระดมทุนรูปแบบนี้อีกในปีหน้า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของ ICO คือการที่ผู้ทำการระดมทุนมักจะเก็บ Token ไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะทำ Product ออกมาเพื่อให้ Token ที่ทุกคนถืออยู่นั้นมีมูลค่ามากขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างของผู้ระดมทุนที่ได้เงินมหาศาล นั่นก็คือ OmiseGo หรือ OMG ที่ระดมทุนได้ 25 ล้านดอลลาร์ หากนั่นคือ 70% ที่ขายไปเท่ากับว่าทีมนักพัฒนากำลังครอบครอง Token อีก 30% ที่มีมูลค่าประมาณ 10.7 ล้านดอลลาร์ ประกอบกับในปัจจุบัน OmiseGo มีราคาตลาดอยู่ที่ 570 บาทจากราคา ICO ที่ประมาณ 17 บาท เท่ากับว่าเงินที่เคยมีอยู่ 10.7 ล้านนั้นเพิ่มมากขึ้นถึง 33 เท่ากลายเป็น 350 ล้านดอลลาร์

สถิติที่น่าสนใจของ ICO ยิ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความโดดเด่นกว่าการระดมทุนแบบไหนๆ ยกตัวอย่างเช่น ICO ที่ระดมทุนได้เงินมากที่สุดตกเป็นของ Filecoin ที่ระดมทุนได้กว่า 257 ล้านดอลลาร์ สำหรับโปรเจกต์นี้ เป็นการใช้ Blockchain มาช่วยในการจัดเก็บไฟล์

สถิติของการระดมทุนที่ได้ตามเป้าหมายรวดเร็วที่สุดตกเป็นของ BAT หรือ Basic Attention Token ระดมทุนโดย Brendan Eich ผู้คิดค้น Javascript โปรเจกต์นี้มีแนวคิดที่จะสร้าง Web Browser ที่สามารถทำให้ระบบโฆษณาเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานและผู้ลงโฆษณา ซึ่งสามารถทำสถิติระดมทุนได้กว่า 35 ล้านดอลลาห์ในเวลาไม่ถึง 1 นาที

และสุดท้าย คือ สถิติของ ICO ที่มีการเติบโตในด้านราคามากที่สุด ตกเป็นของ Stratis ที่คิดจะสร้างบริการ Blockchain-as-a-Service ที่จะทำให้การสร้าง Blockchain ง่ายขึ้น โดยยอดการเติบโตจากราคา ICO ที่ 0.007 ดอลลาร์จนถึงปัจจุบันที่มีราคา 12.393 ดอลลาร์นั้นมันเติบโตขึ้นกว่า 1,700 เท่าอ้างอิงจาก https://www.tokendata.io/

 

ความง่ายในการเข้าถึงการระดมทุน

ICO ต่างจาก IPO ตรงที่หากคุณคิดจะลงทุน IPO นั้นคุณจะต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนมากมาย และมันเป็นเรื่องยากมากหากเราต้องการจะลงทุน IPO ในบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศ แต่ด้วยความที่ Cryptocurrency เป็นเงินไร้พรมแดน เงินดิจิตอลจึงสามารถลดขั้นตอนในการลงทุน ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้อย่างง่ายดาย และอาจจะไม่ต้องกรอกแม้กระทั่งข้อมูลส่วนตัวในการลงทุน แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นมีการเก็บข้อมูล KYC ทั้งหมดแล้ว

สภาพคล่องที่เหนือกว่า

การระดมทุนแบบ IPO นั้นเมื่อเราซื้อหุ้นในบริษัทหนึ่งได้สำเร็จ เราจะได้เงินลงทุนส่วนนั้นคืนในรูปแบบส่วนแบ่งผลประกอบการ โดยหุ้นที่ได้ลงทุนไว้ จะสามารถถูกขายได้ ก็ต่อเมื่อบริษัทถูกขาย หรือ บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ เราขายหุ้นให้กับคนอื่นแบบส่วนตัว กระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่รวดเร็ว และถือว่าขาดสภาพคล่อง ต้องมีขั้นตอนทางเอกสารมากมาย แต่ด้วยการระดมทุนแบบ ICO ผู้ที่ลงทุนสามารถขาย Token ที่ได้มาจากการลงทุนนั้นได้ทันที่ที่มันขึ้นกระดานเทรดซึ่งมักจะใช้เวลาไม่นาน ทำให้ผู้ที่ลงทุน ICO มีสิทธิ์ที่จะได้กำไรรวดเร็วกว่า และยังเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนในกรณีที่ต้องการเงินที่ลงทุนกลับมาในเวลาอันรวดเร็ว แต่นั้นก็หมายความว่านักลงทุนก็สามารถขาดทุนได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

กระบวนการสร้าง ICO

กระบวนการ ICO นั้นทำได้ไม่ยากถ้าเทียบกับกระบวนการขั้นตอนของการทำ IPO และทุนที่ใช้ก็น้อยกว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ

  1. เจ้าของโปรเจกต์จะต้องสร้างแนวคิดทางธุรกิจที่สามารถใช้ Cryptocurrency เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การใช้บริการจากธุรกิจของเรานี้จำเป็นต้องใช้ Token ของเราแทนการจ่ายเงินเท่านั้น
  2. สร้าง Token ที่สามารถให้นักลงทุนนำเงินดิจิตอลสกุลอื่นๆ เช่น Bitcoin หรือ Ether มาแลก ทั้งนี้ผู้ทำการระดมทุนอาจจะมีเพียงแค่ร่างความคิดหรืออาจจะมี Product ที่ใช้งานได้แล้ว
  3. เมื่อการระดมทุนเสร็จเรียบร้อย Token จะถูกแจกจ่ายให้กับผู้ลงทุน
  4. หลังจากนั้นพยายามหา Exchange หรือเว็บเทรดที่สามารถรองรับการซื้อขายเหรียญ token ของเรา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดของเหรียญให้มากขึ้น

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือแม้มันจะใช้ทุนน้อยกว่าแต่มันก็ไม่ได้ถึงกับราคาถูกเลยทีเดียว เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ใหม่มาก Cost ของการจ้าง Consult และการจ้าง Developer ก็ยังสูงอยู่มากทีเดียว แต่ในอนาคตหาก Cost มีราคาที่ถูกลงเราน่าจะได้เห็นการระดมด้วยวิธีนี้ไปทั่วแน่นอน

Token มีมูลค่าจากอะไรและทำอะไรได้บ้าง

การนำไปซื้อบริการในระบบ

ปกติแล้ว Token จะมีมูลค่าจากรูปแบบธุรกิจของระบบที่สร้าง โปรเจกต์นั้นอาจจะทำการรับประกันว่า Token ที่ถูกแจกจ่ายออกมาจะถูกนำไปใช้กับระบบที่โปรเจกต์นี้จะสร้างขึ้นมาได้ เช่น การซื้อบริการในระบบ การได้รับสิทธิพิเศษในการใช้บริการจากการเป็นผู้ลงทุน หรือ การได้รับส่วนแบ่งปันผลตามที่กำหนดไว้

การนำไปซื้อสินค้าและบริการ

Token มีคุณสมบัติที่คล้ายกับ Cryptocurrency อื่นๆ ทำให้ Token สามารถถูกนำไปใช้เป็นเงินดิจิตอลสำหรับการแลกเปลี่ยนทั่วไปได้เช่นกัน แต่ทว่า มี Token จำนวนไม่มากนักที่จะใช้กลยุทธ์นี้เป็นหลัก เนื่องจาก Token เหล่านั้นจำเป็นจะต้องต่อสู้แย่งชิงกับ Cryptocurrency ที่มีมาก่อนและถูกสร้างมาให้ใช้สำหรับเป็นเงินดิจิตอลอย่างแท้จริง เช่น Bitcoin, Monero, Zcoin, Zcash, Dash หรือ Litecoin

การนำไปยืนยันธุรกรรมแบบ Proof of Stake

การระดมทุน ICO ส่วนใหญ่มักจะใช้ Protocol ที่ชื่อว่า ERC-20 ของ Ethereum ในการสร้าง ทำให้การโอนและการทำธุรกรรมด้วย Token นั้นจะเกิดขึ้นและถูกยืนยันผ่าน Blockchain ของ Ethereum และจาก Roadmap ของ Ethereum ที่ชัดเจนแล้วว่าจะมุ่งหน้าเข้าสู่การใช้ Proof of Stake แทน Proof of Work หรือ การขุด ที่มีต้นทุนสูงและสิ้นเปลืองทรัพยากร ทำให้ Token และเหรียญหน้าใหม่ๆพยายามจะใช้วิธีการเดียวกันนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีผู้ซื้อ Token หรือเหรียญนั้นๆเพิ่มมากขึ้น เพราะการใช้ Proof of Stake จะเป็นการมอบผลประโยชน์จากค่าธรรมเนียมกลับคืนให้กับผู้ที่ครอบครอง Cryptocurrency นั้นๆไว้ด้วยและต้องการจะเป็นผู้ยืนยันธรกรรม

การทำ Masternode

Masternode นั้นคือคอมพิวเตอร์เครื่องนึงที่ลงซอฟต์แวร์ของ Cryptocurrency นั้นๆ ซึ่งหมายความว่ามันจะเป็นส่วนนึงของระบบที่เก็บข้อมูลและรับส่งธุรกรรม ซึ่งใน Cryptocurrency อย่าง Dash หรือ Zcoin การทำ Masternode ต้องใช้เงินค้ำประกันถึง 1000 Dash ซึ่ง Masternode จะได้ค่าตอบแทนจากการยืนยันธุรกรรม 45% ของระบบโดยในระบบของ Dash นั้นเจ้าของ Masternode ยังมีสิทธิที่จะโหวตว่าจะนำเงินกองกลางไปพัฒนาอะไรอีกด้วย

และนี้เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ว่า Token เอาไปทำอะไรได้บ้างซึ่งจริง ๆ มันยังมีรูปแบบอีกมากมายที่เราไม่ได้กล่าวไว้ซึ่งที่ต้องอธิบายยืดยาวขนาดนี้เพราะว่าในทางกฎหมายแล้ว Cryptocurrency เป็นอะไรที่สามารถให้คำจำกัดความคุณสมบัติทางกฎหมายยากมาก

ประเด็นที่น่าสนใจทางกฎหมาย

ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีประเทศใด ๆ เลยที่มีกฎหมายเกี่ยวกับ ICO โดยประเทศที่ค่อนเปิดต่อการระดมทุนมากที่สุดในปัจจุบันน่าจะเป็นสิงคโปร์ ในจีนนั้นการระดมทุน ICO ถูกแบนซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการแบนเพื่อร่างข้อกำกับดูแล ส่วนในอเมริกานั้นมีหน่วยงานที่ไล่ตรวจสอบ ICO ที่ระดมทุนในอเมริกา แม้แต่ในไทยเงินดิจิตอลก็ยังอยู่ในสถานะไม่ถูกฎหมายและทาง กลต ก็ได้เข้ามาดูแลเรื่อง ICO รวมถึงการจัด Hearing เมื่อไม่นานมานี้และดูเหมือนว่าทิศทางนั้นจะเป็นไปทางด้านที่ดีทีเดียว

และยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกในการกำกับดูแลเช่นจริง ๆ แล้ว ICO ที่สามารถระดมทุนได้จำเป็นต้องมี Product ทีเสร็จแค่ไหนถึงจะเปิด ICO ได้ มีการทำ KYC (Know your customer) AML (anti-money laundering ) CFT (combating the financing of terrorism) เรียบร้อยหรือไม่เพื่อให้แน่ใจว่าเงินทุนจะไม่ถูกใช้ในทางที่ผิด

 แล้วยังจะมีเรื่องภาษี จะจ่ายภาษียังไงในเมื่อมันยังไม่ใช่ทรัพย์สินตามกฎหมาย รวมถึงเรื่องการทำ Marketing ที่บางครั้งก็ดูเข้าข่ายชี้ชวนหรือการเสนอผลตอบแทนที่ดูสูงจนดูน่าสงสัยว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้หลายประเทศประสบอยู่กับปัญหาในกำกับดูแล

ความเสี่ยง

        เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลการอ่าน White paper หรือตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโปรเจกต์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก หากเราศึกษาดี ๆ บาง ICO นั้นเราจะพบว่ามันไม่ใช่โปรเจกต์ที่สร้างอะไรใหม่รวมถึง Use case ของมันนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ Blockchain เลย เพียงแต่เจ้าของโปรเจกต์ต้องการระดมทุนเท่านั้น

รวมถึงความผิดพลาดอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่น Coindash เคยถูก Hack โดยการเปลี่ยน Address ทำให้เงินถูกส่งไปยัง Address ของผู้ที่ไม่ประสงค์ดี หรือในกรณี Airswap เคยมีผู้ใช้คนนึงใส่ค่า gas ในการโอนน้อยเกินไปและสูญเสียค่าโอนไปกว่า 70,000 ดอลลาร์

การผิดพลาดของ Smart contract ของ Etheream ในปี 2014 ที่มีช่องโหว่ใหห้มีผู้ขโมยเงินไปกว่า 60 ล้านดอลลาห์ ก่อให้เกิดการแยกเป็น ETH และ ETC

และยังไม่รวมปัญหาเรื่องทีมพัฒนาเช่น Cofindo นักพัฒนาได้ละทิ้งโปรเจกต์ไปส่งผลให้ราคาเหรียญดิ่งลงจุดต่ำสุด

หรือปัญหาความขัดแย้งกับในทีมของ Tezos ทำให้เกิดกรณีฟ้องร้องภายใน

การแก้ไขปัญหา

        ในเมื่อกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ไม่สามารถวิ่งตามเทคโนโลยีได้ทันจึงได้เกิดวิธีการตรวจสอบรูปแบบต่าง ๆ มากมายเช่น SEC ของอเมริกานั้นได้ทำแบบทกสอบที่ชื่อว่า Howey test ซึ่งเป็นแบบทดสอบเพื่อประเมินโปรเจกต์ ICO ว่ามีความเสี่ยงแค่ไหนเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจได้ว่าควรลงทุนหรือไม่

        มีการสร้างโปรเจกต์ที่ใช้ตรวจสอบมากมายเช่น Quanstamp ที่เป็นโปรเจกต์ที่ถูกสร้างมาตรวจสอบ Smart contract ของ ICO รวมถึง Consult มากมายที่รับ Audit รวมถึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย หรือการเปิดให้คนทั่งไปลงความเห็นเช่นเว็บไซต์ https://tokentops.com/ico/scam/ มาช่วยกันตรวจสอบ

มูลค่าที่แท้จริงๆของ ICO

ด้วยการที่มันไม่มีกฎหมายมารองรับผู้ระดมทุนส่วนใหญ่จึงพากันดึงบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาเข้าร่วมเพื่อเป็นการค้ำประกันความสำเร็จ อย่าง เช่น Vitalik บิดาของ Ethereum นักลงทุนชื่อดังอย่าง Rogjer Vver จนไปถึงบรรดาดารานักแสดงอย่าง Paris Hilton ทำให้การมีมูลค่าของมันนั้นขึ้นกับความเชื่อเป็นส่วนใหญ่

เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะการระดมทุน ICO นั้นเพิ่งได้เป็นกระแสมากมายในปีนี้ทำให้ ICO ส่วนใหญ่เป็น Under development มากมายไม่ต่างกับ Startup ทำให้ ICO ส่วนใหญ่นั้นยังไม่ได้ไปถึงจุดที่ Product ทำเงินได้จริง ๆ แม้จะมีบางส่วนที่มี Product ที่โดดเด่นบ้างอย่าง Debit card ของ TenX แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ICO

ที่โดดเด่นมีโปรดัคและประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลส่วนใหญ่จะเป็น ICO ที่ถูกสร้างมาสำหรับการสร้าง Infrastructure ของ Blockchain  หรือช่วยในการระดมทุน ICO ไม่ว่าจะ Ethereum Lisk Strtris NEO ICObox wave เท่ากลับว่ามันเป็นเพียงการประสบความสำเร็จในขึ้นต้นของเทคโนโลยีเท่านั้น

ซึ่งใน Q1 2018 จะเป็นช่วงที่ ICO มากมายจะพากันเปิดตัว Product กันซึ่งเราน่าจะได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วการระดมทุนรูปแบบนี้จะมี โปรเจกต์ที่สำเร็จซักกี่เปอร์เซ็นต์

สรุป

การระดมทุนในรูปแบบ ICO นั้นได้ Disrupt รูปแบบการระดมทุนแบบเดิม ๆ ลงไปแต่มันก็ยังเป็นอะไรที่ใหม่เอามาก ๆ ICO มากมายที่ยังไม่มี Product รวมถึงกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนจะทำให้มันอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างสีเทา มันทำให้เราได้เห็นถึงว่าการที่กฎหมายตามไม่ทันเทคโนโลยีนั้นเป็นอย่างไร การกำกับและพยายามดูแลนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่อย่างไรเนื้อแท้ของเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่ต้องการหลุดออกจากระบบเดิม ๆ ซึ่งหากเราเข้มงวดกับ ICO มากไปอาจจะทำให้เป็นการเบรกการเติบโตของทั้งเทคโนโลยีและการเงินแทน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีกองทุนและธนาคารมากมายกระโดดเข้ามาในวงการ ICO และ Bitcoin นั้นเท่ากับว่ามันมีเงินทุนมหาศาลไหลเวียนเข้าซึ่งในปีหน้าเราน่าจะได้เห็นการเติบโตอีกมากของการระดมทุนรูปแบบนี้

เขียนโดย: หาญ
ร่วมค้นคว้าและหาข้อมูลโดย: เอิธ

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น