<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ดูเหมือนว่าการแข่งขันระหว่าง Segwit และ Bitcoin Cash กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

การถือกำเนิดขึ้นของทั้ง Segwit และ Bitcoin Cash (BCH) นั้นมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการ scaling เหรียญคริปโตอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Bitcoin แต่วิธีการของทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกัน เมื่อ SegWit หรือ Segregated Witness คือการลดขนาดของธุรกรรมต่อบล็อกลงด้วยวิธีการบีบอัด (compress) ในขณะที่ Bitcoin Cash หรือ BCH เลือกที่จะแยกเชนของตัวเองออกมา เพื่อที่จะเพิ่มขนาดของบล็อกเก็บธุรกรรม และดูเหมือนว่าการแยกตัวของพวกเขาจะเป็นไปได้ด้วยดี โดยรายงานล่าสุดได้มีการนำเอาโวลลุ่มหรือขนาดในการทำธุรกรรมของเครือข่ายของ Bitcoin ที่กำลังใช้ SegWit (ไม่นับที่ไม่ผ่าน SegWit) และของ BCH มาเปรียบเทียบกัน และดูเหมือนว่าทั้งสองนั้นสูสีกันมาก

คิดต่าง แต่จุดประสงค์เดียวกัน

การ scale หรือเพิ่มขนาด blockchain เพื่อรองรับการทำธุรกรรมบนเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพนั้นถือเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่หากจะทำให้จริงนั้นยากมาก โดยเฉพาะในเครือข่าย blockchain ที่มีการ decentralize หรือกระจายศูนย์ node ออกไป สาเหตุหลัก ๆ นั้นก็เพราะการ scale ในรูปแบบนี้จะต้องนำคิดถึงคนหมู่มากเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันภายในกลุ่มนักพัฒนาหลักของ Bitcoin หรือ Bitcoin Core โดยกลุ่มดังกล่าวคือการรวมกลุ่มของนักพัฒนาอิสระที่ต่างคนต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเหรียญคริปโตตัวนี้ให้ก้าวทันทั้งกระแสโลก และแซงหน้ากลุ่มสถาบันการเงินแบบเก่า

แต่เมื่อกลุ่มดังกล่าวขยายใหญ่มากขึ้น แน่นอนความเห็นภายในย่อมมีความแตกต่าง หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ภายในกลุ่มนักพัฒนาได้มีการถกเถียงและหยิบยกแนวคิดด้านการขยายขนาดเครือข่ายของตัวเองมานำเสนอ ไอเดียนั้นมีมากมายถึงขั้นปลิวว่อนในอากาศ แต่สิ่งที่สามารถแยกไอเดียเหล่านั้นออกมา และเก็บมันไว้ในหมวดหมู่จะมีอยู่สองทิศทาง อย่างแรกคือ “การบีบอัดขนาดของธุรกรรมในบล็อก” และ “การเพิ่มขนาดบล็อก” ภายหลังส่งผลทำให้นักพัฒนาหลักต้องแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ และต่างคนต่างก็ต่อสู้เพื่อแนวคิดของตนเองอย่างไม่ลดละ

กลุ่มนักพัฒนาที่สนับสนุนการลดขนาดธุรกรรมได้ริเริ่มแนวคิดที่เรียกว่า SegWit หรือ Segregated Witness บนแนวคิดที่ “ทำอย่างไรถึงจะกระทบคนหมู่มากน้อยที่สุด” โดยการติดตั้งระบบดังกล่าวจะต้องมีการทำ soft fork หรืออธิบายง่าย ๆ คือการเปลี่ยนแปลงระบบเครือข่ายใหม่ โดยที่ทางผู้ใช้งานไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตามมากนัก ซึ่งทำได้โดยให้ผู้ที่คอยช่วยตรวจสอบธุรกรรมหรือนักขุดส่งสัญญาณที่เรียกว่า BIP 141 เพื่อให้ทุกคนบนเครือข่ายรับรู้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะปรับจูนตัวเองให้รองรับ SegWit แล้ว (เนื่องจากว่า Bitcoin ทำงานแบบ decentralized จึงต้องการให้ทุก ๆ ฝ่ายเข้ามารวมตัวกันและมีความเห็นพ้องในการทำงานร่วมกัน สิ่งนี้เรียกว่า consensus)

ส่วนกลุ่มนักพัฒนาที่เห็นด้วยกับการเพิ่มขนาดบล็อกนั้นมองว่าเมื่อเปลี่ยนใจกลุ่มใหญ่ทั้งกลุ่มไม่ได้ ก็ทำการ hard fork (เปลี่ยนแปลงระบบเครือข่ายใหม่ โดยที่ทางผู้ใช้งานถูกบังคับให้เปลี่ยนตามหมด ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ใช้งาน Bitcoin ก็จะใช้ระบบดังกล่าวไม่ได้ ทำให้ต้องเปลี่ยนตาม เช่นกระเป๋าเก็บเหรียญ BCH เป็นต้น) แยกตัวเองออกมาจาก chain หลักของ Bitcoin ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาได้พยายาม fork เครือข่าย Bitcoin ออกเป็นเหรียญ altcoin อื่น ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin XT, Bitcoin Classic และ Bitcoin Unlimited แต่สามตัวนี้ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด หากวัดจากจำนวนโวลลุ่มในการทำธุรกรรมของผู้ที่ให้การสนับสนุน

ความพยายามของพวกเขาไม่ลดละ จนเมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว เมื่อทีมนักพัฒนาได้ประกาศ hard fork อีกรอบ โดยชื่อของมันในคราวนี้คือ Bitcoin Cash และยังคงแนวคิดเดิมก็คือต้องการจะแก้ปัญหาในการ scaling เครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการเพิ่มขนาด Block เก็บธุรกรรมให้เป็น 8 MB และภายหลังจากนั้นมาเหรียญดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาเพียงไม่นาน ทั้งในด้านโวลลุ่มการทำธุรกรรมและราคา

จนกระทั่งมาถึงในตอนนี้ โวลลุ่มการทำธุรกรรมของ BCH และ SegWit นั้นก็เริ่มจะใกล้เคียงกันแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโซลูชันทั้งสองนั้นใช้งานได้จริง และมีการรองรับจากกลุ่มผู้ใช้งานขาประจำของตัวมันเอง ข้อมูลจาก Bitmex Research เผยว่า “ตั้งแต่เปิดตัว Bitcoin Cash มานั้น มีธุรกรรมของ SegWit จำนวนกว่า 6.1 ล้านธุรกรรมอยู่บนเครือข่ายแล้ว ซึ่งมากกว่าของ Bitcoin Cash ประมาณ 20.1% ซึ่งหากเปรียบเทียบตอนที่เปิดตัวมาในเดือนแรกนั้น SegWit มีมากกว่า Bitcoin Cash ถึง 31.5% ซึ่งมากกว่า Bitcoin Cash”

SegWit เริ่มต้นช้ากว่า

การปรับตัวใช้งาน SegWit นั้นดูเหมือนว่าจะช้ามากในช่วง 2-3 เดือนแรก ๆ ทำให้ Bitcoin Cash นำหน้าไปอยู่พักหนึ่ง โดยหากดูของเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น จะพบว่าโวลลุ่มของ BCH และ SegWit นั้นสูสีกันมาก โดยมีประมาณ 4 ล้านธุรกรรมพอ ๆ กัน แต่จุดเปลี่ยนก็เริ่มขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อ Coinbase เริ่มเปิดตัว SegWit ส่งผลทำให้อัตราการปรับใช้งานโซลูชันดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ทาง Bitmex Research ยังกล่าวต่ออีกว่า

“แม้ว่าข้อมูลจะแสดงให้ถึงธุรกรรมของ SegWit ที่มีการปรับใช้มากกว่า Bitcoin Cash ในด้านโวลลุ่มการทำธุรกรรม แต่ Bitcoin Cash ก็แสดงให้เห็นว่าในระยะยาวนั้น การสเกลที่มีขนาดใหญ่มากกว่าจะต้องส่งผลดีในระยะยาว หากนำมาเทียบกับความเร็วในการเพิ่มของขนาดธุรกรรมที่มีขึ้นแค่ในระยะเวลาสั้น ดังนั้นผู้ที่สนับสนุน Bitcoin Cash ยังสามารถเคลมได้ว่าเหรียญดังกล่าวจะต้องเอาชนะ Bitcoin ในแง่ของโวลลุ่มการทำธุรกรรมในอนาคตได้แน่หากจำนวนเหรียญถูกขุดเพิ่มขึ้นมามากกว่านี้”

ขนาดบล็อกของ Bitcoin Core เล็กลงมากที่สุดในรอบสองปี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขนาดบล็อกโดยเฉลี่ยของ Bitcoin core (BCT) นั้นลดลงต่ำกว่า 0.5 MB เป็นครั้งแรกหากนับจากเดือนมกราคมปี 2016 โดยเนื้อที่ประมาณ 22% ของบล็อกเก็บธุรกรรมนั้นส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมของ SegWit ทั้งสิ้น โดยแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มมีการปรับใช้งานมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ปัจจุบันโวลลุ่มการทำธุรกรรมของ BTC และ BCH มีความต่างกันอย่างมาก โดยอยู่ที่อัตราส่วน 10:1 ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นในแง่ของราคาของทั้งสองเหรียญที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม อัตราค่าธรรมเนียมของการทำธุรกรรม Bitcoin ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมานั้นเยอะกว่าของ BCH ประมาณ 200 เท่าตัว (เนื่องจากราคาของเหรียญที่สูงกว่า)

ภาพจาก Shutterstock

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น