<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

“หรือการประกาศฟรีค่าธรรมเนียมของธนาคารในไทยเป็นสัญญาณการแข่งขันกับ Cryptocurrency?”

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ค่าธรรมเนียมฟรีเว่อร์

ช่วงที่ผ่านต้องยอมรับว่ากระแสฟรีค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเริ่มมาแรงแซงทุกสิ่งทุกอย่างไปเลย เพราะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมของแบงก์ไทยเป็นอย่างมาก แม้ก่อนหน้านี้ TMB จะเคยประกาศฟรีค่าธรรมเนียมมาแล้ว แต่เป็นแบงก์ขนาดกลางจึงไม่ได้มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากมายนัก

และก็เช่นกัน ปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain ที่ทำให้การทำธุรกรรมข้ามประเทศนั้นมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการใช้บริการธนาคารทั่วไปมาก แต่ในขณะเดียวกันการทำธุรกรรมในระยะใกล้ ๆ อย่างเช่นภายในประเทศสำหรับบางเหรียญอย่างเช่น Bitcoin นั้นยังคงมีความแพงอยู่มาก แม้ว่าในปัจจุบันจะลดลงมาเยอะแล้วก็ตาม แต่ปัญหาด้านการ scaling ของ Bitcoin ที่ใช้เวลานานในการโอนแถมยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (แบบไม่ฟรี) นั้น ทำให้มันยังไม่เป็นที่นิยมในการนำไปใช้จ่ายจริงในขณะนี้

ทั้งนี้จากการประกาศฟรีค่าธรรมเนียมในช่วงที่ผ่านมา เราสรุปได้ว่า 3 วันติดมีแบงก์ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ดังนี้

  • 26 มีนาคม 2561 SCB ประกาศฟรีค่าธรรมเนียม
  • วันที่ 27 มีนาคม 2561 KBANK ก็ประกาศฟรีค่าธรรมเนียม
  • วันที่ 28 มีนาคม 2561 KTB ที่ก็ประกาศให้ โอน เติม จ่าย ฟรี
  • ขณะที่ BBL ประกาศฟรีค่าธรรมเนียม โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป

บางทีนี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และเป็นที่น่าเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายๆ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยทยอยประกาศฟรีค่าธรรมเนียมในลักษณะนี้ออกมา เพราะถ้าเลือกได้ในฐานะผู้บริโภคอย่างเราก็คงไม่อยากจะเสียค่าธรรมเนียมโดยใช่เหตุ

ธนาคารกำลังแข่งขันกับแพลตฟอร์มในอนาคตอย่าง Blockchain

เป็นที่ทราบกันดีว่ารายได้ของแบงก์ ส่วนหนึ่งมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ ของธนาคาร แต่คำถามที่เกิดขึ้นกับกระแสค่าธรรมเนียมฟรีในวันนี้ คือ แล้วรายได้ของแบงก์จะไม่หายไปหรือ

เราได้คำตอบจากหัวเรือใหญ่ของแบงก์สีม่วง หรือธนาคารไทยพาณิชย์ โดยพวกเขาเผยให้เห็นถึงความจริงจังในการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการเงินในปัจจุบัน และเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่ยกเลิกค่าธรรมเนียมเมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน SCB EASY โดยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้ทำธุรกรรมแบบฟรีค่าธรรมเนียมของพวกเขานั้นประกอบไปด้วย

  1. โอนข้ามเขต
  2. โอนต่างธนาคาร
  3. เติมเงินต่างๆ  
  4. จ่ายบิล
  5. กดเงินโดยไม่ใช้บัตรข้ามเขต ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม

โดย คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์  กล่าวว่า ในส่วนของค่าธรรมเนียมตรงนี้ไม่ได้เยอะสำหรับแบงก์เมื่อเทียบกับกำไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ค่าธรรมเนียมที่เป็นรายได้หลักๆ อยู่ที่ ATM หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ลด แต่สาเหตุที่ลดค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมทั้ง 5 เพราะว่านี่เป็นแพลตฟอร์มอนาคต จากยอดการเติบโตของแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“มันเป็นการชะลอหรือสกัดพวกแพลตฟอร์มระดับโลก เพราะคู่ต่อสู้ของเราจริงๆ ไม่ใช่แบงก์ แต่เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกที่ถ้าเขามา เขาไม่ได้ค่อยๆ กิน แต่เขาเข้ามาแล้วเขาพลิกเลย ดังนั้นเราต้องเป็นแพลตฟอร์มขนาดกลาง ผมคิดว่าเป็นการลงทุนที่ถูกมาก เพื่อสร้างแพลตฟอร์มอนาคต เพื่อต่อสู้ เพราะถ้าไม่ทำอะไรเราเสียเป็นหลายหมื่นล้านแน่นอน”

นอกจากนี้ยังระบุว่าค่าเสียหายที่เกิดจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมยอดฮิตคนยุคดิจิทัลเสียหายเพียงแค่หลักไม่กี่ร้อยล้าน ถือว่าคุ้มมากเมื่อเทียบกับอนาคตที่จะต้องสร้าง

หรือนี่จะเป็นสัญญาณของแบงก์ไทย ต่อ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

แน่นอนว่าถ้าคุณศึกษาและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Blockchain พอตัวคุณจะสัมผัสได้ถึงการ Disrupt ที่เทคโนโลยีนี้มีต่อโลกการเงิน ซึ่งการลดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในไทย นับว่าเป็นสัญญาณที่ตื่นตัวกับเทคโนโลยีพอสมควร เสมือนว่าการลดค่าธรรมเนียมจะช่วยให้แบงก์ดึงลูกค้าให้อยู่กับแบงก์ต่อ เพราะโลกอนาคตธนาคารจะไม่ได้แข่งขันกับธนาคารด้วยกันเอง แต่จะมีแพลตฟอร์มระดับโลกที่เข้ามาแย่งชิงลูกค้าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไม่มีใครคาดคิด

เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของเหล่า Cryptocurrency อาจเป็นตัวการทำลายระบบทางการเงินของไทย อย่างที่อินเทอร์เน็ตได้ทำลายล้างระบบการสื่อสารมาแล้วในอดีต….

ธนาคารไทยปรับตัวใช้ Blockchain

Blockchain เริ่มแสดงผล ต่อแบงก์ไทย เพราะหลายๆ แบงก์กำลังใช้ Blockchain จริง อาทิ ธนาคารกสิกรไทยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้สร้างมาตรฐานใหม่ในการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนเวลา ต้นทุน เพิ่มความปลอดภัยสูงสุด  เพื่อให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนเร็วขึ้น เช่นเดียวกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เพิ่มสกุลเงินยูโรและปอนด์อังกฤษไปบนแพลตฟอร์มการโอนเงินข้ามพรมแดนอย่าง Ripple เพื่อส่งเงินขาเข้าสำหรับลูกค้ารายย่อย ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้พยายามบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยเข้าร่วมกับ RippleNet ที่จะขจัดปัญหาในการชำระเงินข้ามพรมแดน

แล้วการโอนเงินข้ามประเทศล่ะ?

การลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทางเงินภายในประเทศจะกำลังเป็นสิ่งที่ตื่นตา ตื่นใจให้กับผู้บริโภคในยุคดิจิทัล  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคอินเทอร์เนต 4.0 นี้การโอนเงินระหว่างประเทศถือเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และน่าจะดีกว่า หากมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บริการโอนเงินเร็วขึ้นและยังปลอดภัย ซึ่งอนาคตแพลตฟอร์มนี้อาจจะมีบทบาทมากขึ้น

คุณท็อป จิรายุส เคยเล่าว่า เขาต้องโอนเงินให้กับน้องสาวที่อยู่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเขาเลือกใช้การโอนเงินผ่าน Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลสกุลหนึ่ง ซึ่งมีเทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลัง ซึ่งการโอนผ่านช่องทางนี้สามารถทำให้เขาโอนเงินถึงน้องสาวได้ภายใน 30 นาที แถมยังมีเงินเพิ่มจากเงินต้นที่ส่งไปอีกด้วย

ปัจจุบันเทคโนโลยีการโอนเงินระหว่างประเทศอย่าง SWIFT ที่ทำหน้าเป็นตัวช่วยส่งข้อความระหว่างธนาคารนั้นถือเป็นอะไรที่ค่อนข้างล้าสมัย เนื่องจากค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างประเทศ

สรุป

เทคโนโลยีเดิมๆ อาจจะถูกทำลายไปด้วยกลไกการทำงานของเทคโนโลยีตัวใหม่ แม้วันนี้ภาคธนาคารในประเทศไทยจะพยายามปรับตัวเพื่อดึงลูกค้าให้อยู่คู่ธนาคาร เพราะกลัวว่าเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Blockchain จะมาทำลายล้างระบบการเงินจนธนาคารอาจถูก Disrupt แบบไม่รู้ตัว แต่นั้นอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยยังไม่สู้กับการทำงานของ  Blockchain หรือพอจะเป็นไปได้ไหม หากธนาคารศึกษาและทำความเข้าใจ แล้วดึงเอาความสามารถของเทคโนโลยีตัวนี้เข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของธนาคาร

ภาพจาก Shutterstock

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น