<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

P2P Lending Platform คืออะไร และเอา Blockchain มาประยุกต์ได้อย่างไร

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

หลายคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับธุรกิจ P2P Lending  ในประเทศไทย แม้มันจะพึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ล่าสุดช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมาหลายคนก็คงได้เห็นประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เกี่ยวกับประเด็น Road Map การขอประกอบธุรกิจ P2P Lending

แม้ในประเทศไทยจะมีผู้ประกิบธุรกิจในลักษณะ P2P Lending อยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่หลังจากที่ ธปท.ประกาศ Road Map ออกมา เชื่อว่าน่าจะมีผู้ประกอบการที่สนใจในธุรกิจดังกล่าวอยู่อีกมาก

P2P Lending คืออะไร

Peer-to-peer หากแปลตรงตัวนั้นก็คือบุคคลต่อบุคคล ส่วน Lending ก็คือการให้กู้ยืม ซึ่งหากรวมกันนั้นก็คือการกู้ยืมกันระหว่างบุคคล

เป็นเวลามากว่าหลายพันปีแล้วที่มนุษย์เราได้รู้จักการแบ่งปันที่เรียกว่า “ยืม” ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสิทธิมาตรฐานที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งของหรือเงิน แต่ไม่มีเงินที่ว่านี้อยู่ในมือ เมื่อไม่มีก็ต้องไปหาจากที่อื่นมา แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ใครจะเป็นฝ่ายให้ฟรี ๆ

เมื่อไม่มีการให้ฟรี ๆ ก็ต้องมีการทำสัญญากู้ยืมกันเกิดขึ้น ซึ่งข้อตกลงนั้นก็เป็นไปตามแต่ที่ผู้ให้ยืมจะพิจารณา ผู้ให้ยืมหลาย ๆ คนหวังที่จะขอค่าเสียเวลาและค่าให้ยืมโดยสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ดอกเบี้ย’ ขึ้นมา ซึ่งจำนวนอัตราดอกเบี้ยนั้นจะตกลงกับผู้ยืมอย่างไรก็อยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่าย

หากลองดูตั้งแต่ในอดีตนั้นจะพบว่ามีการนำเอาใบสัญญามาเพื่อกำกับการกู้ยืมกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าผู้ที่ให้กู้ยืมนั้นก็ต้องการเงินของพวกเขาคืน แต่อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีสัญญาที่ถูกเขียนขึ้นบนกระดาษ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผู้คนก็ไม่เคารพสัญญาที่พวกเขาลงชื่อเซ็น พวกเขาเบี้ยว หนี และไม่จ่าย จนส่งผลทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ให้ยืมกับผู้ยืม และนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องกัน หรือแย่ที่สุดก็คือการหลบหนีของผู้ยืมที่ไม่สามารถเอาผิดได้

นั่นส่งผลทำให้การยืมเงินระหว่างบุคคลในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องรู้สึก ‘ขยาด’ เนื่องมาจากปัญหาที่ได้อธิบายมาในข้างต้น และเหลือเพียงธนาคารที่ได้รับความนิยมแทน เนื่องจากว่าเป็นเพียงที่พึ่งสุดท้ายที่เมื่อผู้ยืมอยากจะยืมจากบุคคลด้วยกัน แต่เขาไม่มีให้ จึงต้องไปพึ่งธนาคารแทน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือผู้ให้ยืมนั้นไม่มีทรัพยากรในการที่จะจัดการผู้กู้ยืม ในกรณีที่พวกเขาผิดนัด หรือไม่จ่าย ซึ่งแตกต่างจากธนาคารที่มีระบบเหล่านี้พร้อม

คำถามที่ตามมาคือ ถ้าหากมีแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้ยืมกับผู้กู้ยืมล่ะ โลกในอุดมคติที่ไร้ตัวกลางอย่างธนาคาร ที่ P2P lending สามารถเกิดขึ้นมาได้โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีความสุข และไร้ซึ่งปัญหาจะสามารถมีขึ้นได้หรือไม่

P2P Lending Platform

Peer-to-Peer Lending Platform คือระบบที่ให้บริการด้านการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคล-ต่อ-บุคคล โดยผ่านออนไลน์ที่ไม่มีตัวกลางอย่างธนาคาร สำหรับขั้นตอนการทำงานของ P2P Lending Platform คือ แน่นอนว่าผู้กู้ทุกคนจะต้องถูกเช็คประวัติทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นหลักค้ำว่าในอนาคตเมื่อกู้เงินไปแล้วจะสามารถหาเงินมาคืนกับผู้ให้กู้ได้อย่างแน่นอน

หลังจากนั้นก็จะมีขั้นตอนตามระบบที่เริ่มจากการยื่นใบคำขอ ระบุจำนวนเงินที่ต้องการกู้ บอกวัตถุประสงค์การใช้เงิน รวมถึงระยะเวลาในการกู้ยืมเงิน ก่อนที่ระบบจะทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ เครดิตของผู้กู้ และความสามารถในการชำระหนี้จากข้อมูลที่ให้มาตอนลงทะเบียน ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าธนาคาร

ขณะที่การไปทำเรื่องขอกู้ที่ธนาคาร เฉพาะแค่การทำเรื่องยื่นใบคำขอก็อาจจะถูกกินระยะเวลาไปแล้ว 1 วันเต็มๆ ยังไม่รวมการตรวจสอบเอกสาร วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ และเครดิตของผู้กู้ ซึ่งมีข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ Pwc ระบุว่า การใช้ P2P Lending กรณีของยุโรปใช้เวลาในการสืบและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้เพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้ปล่อยกู้พิจารณา บนฟังก์ชั่นการทำงานของ P2P lending

นอกจากนี้ P2P Lending ยังถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นทางการเงินและประสบความสำเร็จในระดับโลกโดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยมีแพลตฟอร์มดังกล่าวเกิดขึ้นบ้างแล้วเช่นกัน

P2P Lending ในไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ประกาศกรอบการกำกับดูแลระบบธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ Peer-to-Peer Lending Platform ของกระทรวงการคลัง โดยให้ธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างผู้ให้กู้ และผู้ขอกู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และต้องมีทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจ

โดย Platfrm ดังกล่าวต้องมีแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค และมาตรการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งในระยะแรกผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ สามารถติดต่อเพื่อขอเข้าร่วมทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. และเมื่อพร้อมให้บริการในวงกว้างแล้ว ทางธปท. จะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาตต่อไป

สำหรับในประเทศไทยมีบริษัทที่ทำธุรกิจ P2P Lending เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดจากโมเดลธุรกิจของ Jifin coin ที่เรารู้จักกันดีในฐานะ ICO เจ้าแรก ๆ ของประเทศ ซึ่งJFin Coin นั้นเกิดขึ้นจากบริษัทในกลุ่ม Jaymart ที่ต้องการระดมทุนผ่าน ICO เพื่อนำไปพัฒนา Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) หรือการให้คนกู้เงินผ่านมือถือ ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นหลังบ้าน

หรือแม้แต่สตาร์ทอัพของคนไทยอย่าง PeerPower ผู้ให้บริการตลาดสินเชื่อออนไลน์ ที่ต้องการลดช่องว่างทางการเงิน เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมโดยมุ่งเน้นช่วยเหลือ SME ในหลากหลายอุตสาหกรรม  

นอกจากนี้ยังมี บริษัท ได้เงินดอทคอม จำกัด แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เชื่อมต่อผู้กู้และผู้ให้กู้ ในลักษณะ P2P Lending ที่ปลอดภัยโดยนำเสนอผลตอบแทนที่คุ้มค่า ต่อการให้กู้ และอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการกู้ ซึ่งผู้ให้กู้ได้ผลตอบแทนที่งอกเงยในขณะที่ผู้กู้ก็ได้ต่อยอดสร้างอนาคต

เปรียบเทียบ P2P Lending กับสถาบันการเงิน

แน่นอนว่าการกู้ยืมเงินนั้นส่วนมากแล้ว ภาพจำของทุกคนจะเป็นลักษณะของขอกู้ผ่านธนาคารต่างๆ ในประเทศไทย แต่สำหรับแพลตฟอร์ม P2P Lending ที่เกิดขึ้นนั้น จะมีความต่างจากสถาบันการเงินอย่างเห็นได้ชัด โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดนั้นก็คือเรื่องของต้นทุน ซึ่งแน่นอนว่าการขอกู้ยืมแบบออนไลน์จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งเรื่องของเวลา การเดินทาง และเอกสารต่างๆ ในขณะที่การเดินเทางไปขอกู้ยืมเงินที่ธนาคารจะต้องมีต้นทุนของเวลา ค่าเดินทาง และค่าธรรมเนียมต่างๆ

ให้คิดภาพสมมติว่าเราต้องการกู้ยืมเงิน สิ่งแรกที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้นการเดินไปธนาคาร เพื่อขอทำเรื่องกู้เงิน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีเอกสารต่างๆ มากมายที่ต้องใช้ ขั้นตอนที่มากมาย ไหนจะต้องนั่งรอเพื่อที่จะได้ยื่นเรื่อง ซึ่งเมื่อยื่นเรื่องจบแล้วก็ต้องรอการพิจารณาจากธนาคารที่ใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะทราบว่าการกู้ยืมเงินในครั้งนี้ผ่านหรือไม่ผ่าน

แต่ในขณะที่มี P2P Lending เราสามารถยื่นขอคำกู้ที่ไหนก็ได้เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต สามารถกรอกขอคำกู้ผ่านแพลตฟอร์ม ผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ต้องเดินทาง โดยการสืบและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้ อาจเสร็จสิ้นในเวลาเพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้ปล่อยกู้พิจารณา

นอกจากนี้กระบวนการพิจารณาขอกู้บนแพลตฟอร์ม P2P Lending นั้น จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคำขอ และอนุมัติประมาณ 5 วัน ซึ่งต่างกับธนาคารที่อาจจะใช้เวลาเป็นใช้เวลามากกว่า

แล้ว P2P Lending บน Blockchain ล่ะ?

เรามักรู้กันดีอยู่แล้วว่าคุณสมบัติที่โดนเด่นของเทคโนโลยี Blockchain คืออะไร มันสามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างถาวร ไม่มีใครสามารถแก้ไขมันได้ เพราะบนระบบการทำงานของ Blockchain นั้นหากผู้ใดเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ที่อยู่ในระบบจะช่วยกันตรวจและยืนยันว่ามันถูกต้องหรือไม่ ซึ่งถ้าเราพูดถึง P2P Lending นั้นมันมีข้อดีในตัวของมันเองอยู่แล้ว คือ การแลกเปลี่ยนกันกับผู้ขอกู้และผู้ปล่อยกู้โดยตรง แต่ถ้า P2P Lending อยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่วงทางที่ช่วยให้ทั้งผู้ขอกู้ และ ผู้ปล่อยกู้ สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมา ต่างกับการทำบนแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ทั่วไป ที่อาจจะถูกการโจรกรรมได้

นอกจากต้นทุนที่ต่ำและการใช้ระยะเวลาที่น้อยกว่า ในส่วนของขั้นตอนการทำสัญญาและโอนเงินจากผู้ให้กู้ไปยังผู้กู้ รวมถึงการทำสัญญาและติดตามการชำระหนี้ระหว่างทั้งสองฝ่าย  ซึ่งหากใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบ ได้ง่ายมากขึ้น

จะได้ประโยชน์อะไรหากมี P2P Lending Platform

นับว่าเป็นอีกจุดที่น่าสนใจสำหรับ P2P Lending ที่อาจจะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงินในส่วนของการขอกู้ยืมเงิน เพราะมันจะสามารถช่วยให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงการกู้เงินแบบง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสร้างประสิทธิภาพการทำงาน อย่างเรื่อง การล่นระยะเวลาการทำงานต่างๆ ทั้งเรื่องของการเดินทาง เอกสาร การพิจารณา และรวมไปถึงขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ ที่เดิมใช้เวลานาน แต่บน P2P Lending จะจัดการเรื่องต้นทุน มีต้นทุนที่น้อยลง ใช้เวลาที่น้อยลง เป็นต้น

ซึ่งหากถามว่าผู้ขอกู้จะได้ประโยชน์อะไร สิ่งที่ผู้ขอกู้จะได้คือ การเข้าถึงที่ง่ายขึ้น เนื่องจากมีช่องทางในการทำธุรกรรมอยู่บนอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ผู้ปล่อยกู้สามารถประหยัดต้นทุนได้ ทั้งเรื่องของเอกสาร ต้นทุนพนักงาน การจัดตั้งบริษัท เป็นต้น

สรุป

P2P Lending เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นใหม่และในประเทศไทยเองกำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินงาน หากผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจในธุรกิจ P2P Lending ก็สามารถเข้าร่วมทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท.ได้ ซึ่งเมื่อพร้อมให้บริการในวงกว้างแล้ว ทางธปท.จะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาตต่อไป และ P2P Lending ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงิน ที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้ที่ต้องการกู้ยืมเงินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น

ด้วยรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่ P2P lending จะสามารถดึงดูดกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารได้ ซึ่งแน่นอนว่าในประเทศไทยผู้ประกอบการธุรกิในลักษณะดังกล่าว อาจจะอาจจะหันมาใช้เทคโนโลยี Blockchian เป็นเบื้องหลังของการทำธุรกรรมก็เป็นได้

ซึ่งยังคงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า อนาคตของ P2P lending ในประเทศไทยจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น