เมื่อไม่นานมานี้ทุกสิ่งที่อย่างที่เกี่ยวข้องกับ decentralized finance ( DeFi) ในวงการคริปโตกำลังถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ต่างจากเหมืองทองคำ ในขณะที่ DeFi นั้นกำลังนำพามาซึ่งโปรเจ็คที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากมาสู่วงการ ดูเหมือนว่าล่าสุดนั้นเราจะได้เห็นกระแสใหม่ที่กำลังมาแรงอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นของกินตั้งแต่แยมไปจนถึงเบอเกอร์ แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงแค่เหรียญคริปโต แต่ชื่อของมันนั้นฟังดูเหมือนกับเทศกาลอาหารอันโอชะเลยทีเดียว และดูเหมือนว่านักลงทุนนั้นจะไม่สามารถหยุด ‘กิน’ มันได้อย่างง่ายดายเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้เริ่มมีคนบางกลุ่มที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตในระยะยาวของเหรียญ DeFi เหล่านี้ โดยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นการมาของโปรเจค Hotdog ที่มูลค่าเหรียญของมันนั้นหายไปถึง 99% ในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้มีผู้ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจเป็นจำนวนมาก
เป็นที่ล่ำลือกันว่าในขณะนี้ยังมีโครงการด้าน DeFi อีกเป็นจำนวนมากที่กำลังถูก ‘เตรียมอยู่ในห้องครัว’ ของนักพัฒนาทั่วโลก แต่เราจะยังไม่กล่าวถึงโครงการเหล่านั้นเนื่องจากว่ามันยังไม่ถูกเปิดตัวออกมา ในตอนนี้เราจะมาดู 8 ผลิตภัณฑ์ DeFi อันโอชะที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดอยู่ในขณะนี้
SushiSwap/SUSHI
SushiSwap นั้นถือเป็นแพลทฟอร์มด้าน pool สภาพคล่องที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นานนัก ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ และนักลงทุนก็สามารถที่จะนำเอาเหรียญโทเค็นใส่เข้าไปใน pool เพื่อกินดอกเบี้ย ก่อนหน้านี้แพลทฟอร์มดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากว่ามันถูกเปิดตัวด้วยแนวคิดที่จะสร้างตัวเองให้เหมือนกับ Uniswap แต่ว่าดีกว่า และจ่ายผลตอบแทนให้สูงกว่า
เหรียญประจำแพลทฟอร์มของมันนั้นมีชื่อว่า SUSHI และค่อนข้างที่จะน่าสนใจอย่างมาก โดยมันจะมีเพียง 10% ของเหรียญเท่านั้นที่ถูกโอนไปให้กับนักพัฒนา เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการสร้างแพลทฟอร์มดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ความนิยมของมันนั้นอยู่ได้ไม่นาน เมื่อผู้ก่อตั้งที่ใช้นามแฝงว่า Chef Nomi ได้เทขายเหรียญ SUSHI ของเขาทั้งหมด โดยมีมูลค่ารวมถึง 13 ล้านดอลลาร์ในขณะนั้น ส่งผลทำให้ราคาของมันนั้นร่วงลงอย่างรุนแรง และมีผู้ที่ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างมาก ก่อนที่เขานั้นจะแยกตัวออกไป และส่งเงินที่เทขายกลับคืนมาให้กับระบบ ก่อนที่จะยื่น SushiSwap ไปให้กับ Chef Maki ไปดูแลต่อ
สิ่งที่ทำให้ SushiSwap แตกต่างจากเว็บกระดานเทรดคริปโตแบบดั้งเดิมก็คือการที่มันมีระบบการจัดการและดูแลส่วนใหญ่อยู่ในมือของชุมชนนักลงทุน โดยนักลงทุนเหล่านั้นสามารถมาเข้าร่วมระบบด้วยการเป็นผู้แจกจ่ายสภาพคล่อง และได้รับดอกเบี้ยกลับไป
ด้วยการมาของ SushiSwap นี้ทำให้ผู้ใช้งานสามารถตั้งตัวเองเป็น market maker ได้ นอกจากนี้แพลทฟอร์มดังกล่าวยังคิดค่าธรรมเนียมต่อการเทรดที่ 0.3% และให้รางวัลแก่ผู้ให้สภาพคล่องที่ 0.25% ส่วน 0.05% นั้นจะถูกนำไปแปลงเป็นเหรียญ SUSHI และนำไปแจกให้กับผู้ถือเหรียญ SUSHI
ปัจจุบันมันเป็นเรื่องยากที่จะค้นหามูลค่าที่แท้จริงของโปรโตคอลดังกล่าว แต่ก็สามารถใช้โมเดลการแจกจ่ายรายได้มาใช้เพื่อคาดการณ์ได้
BurgerSwap/BURGER
Uniswap นั้นมาพามาซึ่งการปฏิวัติในวงการ DeFi และการมาของมันได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาโปรเจคใหม่ ๆ มากมาย อย่างเช่น SushiSwap แต่ในขณะที่แพลทฟอร์มดังกล่าวนั้นมีจุดขายหลัก ๆ คือการจ่ายรางวัลให้กับผู้ให้สภาพคล่อง แต่อำนาจในการควบคุมระบบนั้นไม่ได้ตกอยู่กับผู้ใช้งานแบบ 100% เนื่องจากว่าตัวโปรโตคอลดังกล่าวนั้นไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้ หลัก ๆ ก็คือผู้ใช้งานไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราการจ่ายรางวัลด้วยตัวเองได้ ดังนั้น SUSHI จึงถูกมองว่าเป็นเหมือนกับ ‘อาหาร’ สำหรับนักลงทุนชั้นสูง ในขณะที่ BURGER นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารสำหรับนักลงทุนทุก ๆ คน
โปรโตคอล BurgerSwap นั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยมีคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมานำ ดังนั้นพารามิเตอร์ต่าง ๆ บนแพลทฟอร์มจึงสามารถถูกกำหนดได้ด้วยผู้ใช้งาน และผู้ใช้งานเหล่านั้นสามารถที่จะลงคะแนนเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้ในโปรโตคอล และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลเมื่อไรก็ตามที่เข้าไปร่วมลงคะแนนอีกด้วย
BurgerSwap นั้นถือเป็นโปรโตคอลตัวแรกที่คำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตย และถูกเปิดตัวขึ้นบน Binance Smart Chain โดยโครงการดังกล่าวนั้นมักจะถูกมองว่าคัดลอกมาจาก SushiSwap และเหรียญของมันนั้นถูกเปิดให้เทรดคู่กับเหรียญ Binance Coin ( BNB) อยู่ในขณะนี้ ด้วยการมาของ BurgerSwap นั้นดูเหมือนว่าจะทำให้ราคาของเหรียญ BNB พุ่งขึ้นไปถึง 33% ภายในระยะเวลาที่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง และทำให้วงการคริปโตนั้นต้องสั่นสะเทือน จนภายหลังนั้นทำให้ผู้คนออกมาตั้งคำถามว่านาย Changpeng Zhao (CZ) นั้นมีมาตรฐานในการลิสต์เหรียญ DeFi บนแพลทฟอร์มของเขาอย่างจริงจังหรือไม่
หลังจากที่เหรียญดังกล่าวนั้นมีผลกำไรที่ดีอย่างมาก ส่งผลทำให้โพสต์บน Medium ของทาง BurgerSwap ได้ออกมากล่าวชื่นชม Binance Smart Chain สำหรับการให้การสนับสนุน นอกจากนี้พวกเขายังเผยอีกด้วยว่าทีมนักพัฒนาของ BURGER นั้นดูเหมือนว่าจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก อาทิเช่นจากประเทศสหรัฐฯ, อังกฤษ, จีน และตุรกี
Yam Finance/YAM
Yam Finance นั้นถือเป็นตัวโปรโตคอลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำการทดสอบนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นที่สุด โดยมันเกี่ยวกับระบบการจัดการการเงินและบริหารระบบเศรษฐกิจ โดยแก่นหลัก ๆ ของแพลทฟอร์มดังกล่าวก็คือระบบ supply ของเหรียญ YAM ที่มีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่มและลดลงได้ความสภาพของตลาด
ราคาของเหรียญ YAM เวอร์ชันแรกนั้นร่วงลงไปเหลือ 0 ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที หลังจากที่เกิดบั๊กขึ้น หลังจากนั้นไม่นานโปรเจคเหรียญดังกล่าวก็ถูกนาย Eric Voorhees หรือ CEO ของกระเป๋าเก็บเหรียญ ShapeShifter ออกมากล่าวหาว่าเป็นของหลอกลวง แต่มาอ้างว่าแพลทฟอร์มเกิดบั๊ก เพื่อหวังทุบราคา โดยในตอนนั้นนักพัฒนา YAM ได้ออกมาโพสต์อธิบายว่า
“เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม เวลาประมาณ 6 โมง UTC พวกเราได้ค้นพบบั๊กที่เกิดขึ้นในระบบ rebase ของ YAM ที่ระบบจะทำการออกเหรียญ YAM มากกว่าที่คาดหวังไว้ เพื่อนำไปขายบน pool YAM/yCRV ของ Uniswap ก่อนที่จะทำการส่งเหรียญ YAM ที่มากเกินไปไปสู่ตัวเก็บเหรียญบนโปรโตคอล และด้วยโมดูลการจัดการเหรียญ YAM ดังกล่าวนั้น บั๊กตัวนี้ทำให้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ระบบสามารถหาข้อยุติได้ นั่นหมายความว่าระบบจะไม่สามารถทำการจัดการใด ๆ ได้เลย และเงินในระบบคลังก็จะถูกล็อคไปโดยปริยาย”
ภายหลังจากที่ราคาของเหรียญดังกล่าวร่วงลงเหลือ 0 ส่งผลทำให้ทีมนักพัฒนา YAM ออกมาขอร้องให้นักลงทุนใจเย็น และได้มีการเผยว่าพวกเขาได้มีการทำการออดิตโค้ดของระบบเพื่อหาข้อบกพร่องก่อนที่จะทำการแก้ไข โดยมันจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ ก่อนที่จะคลอดเหรียญ Yam V3 ออกมา
BakerySwap/BAKE
BakerySwap นั้นถือเป็นแพลทฟอร์มอีกตังหนึ่งที่ไม่คล้ายแต่ก็ไม่ต่างไปจาก Uniswap ไปเสียทีเดียว แต่พวกเขาอ้างว่ามีความเร็วที่มากกว่า และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า นอกจากนี้ทางนักพัฒนายังกล่าวว่าโปรโตคอล BakerySwap นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าอีกด้วย และผู้ให้สภาพคล่องทุกคนจะได้รับเหรียญ BAKE เป็นรางวัลตอบแทน โดยเหรียญดังกล่าวสามารถนำไปใช้เพื่อรับสิทธิ์ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการเทรดของแพลทฟอร์ม และรวมถึงสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกทิศทางของโปรโตคอลได้อีกด้วย เหรียญ BAKE นั้นจะค่อย ๆ ถูกปล่อยเข้าไปใน pool สภาพคล่องอย่างช้า ๆ
นักฟาร์ม yield ในช่วงแรกนั้นจะได้รับรางวัลเป็นเหรียญ BAKE ต่อการเกิด block ใหม่ด้วยจำนวนที่มาก ในขณะเดียวกันกลุ่มนักพัฒนานั้นจะได้รับรางวัลเป็นสัดส่วนที่น้อยในช่วงการฟาร์มเหรียญ BAKE โดยรางวัลของพวกเขาก็คือ 1 BAKE ต่อเหรียญ 100 BAKE ที่ถูกฟาร์มมาได้ แต่อย่างไรก็ตามนาย Changpeng Zhao แห่ง Binance เคยถูก CEO ของ OkeX นาย Jay Hao ออกมาต่อว่าว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการ DeFi ที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าอย่าง BakerySwap ตามทวิตเตอร์ด้านล่างนี้
Pizza/PIZZA
Pizza นั้นถือเป็นเครือข่าย DeFi ที่ทำงานอยู่บน EOS และทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำเอาเหรียญโทเคน EOS เข้าไปใส่บนระบบเพื่อใช้เป็นตัวค้ำประกันในการสร้างเหรียญ stablecoin ที่มีชื่อว่า USDE โดยเหรียญดังกล่าวนั้นจะมีเงินดอลลาร์มาค้ำไว้แบบ 1:1 โดยแพลทฟอร์ม Pizza ดังกล่าวนั้นจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานบริการด้านการเงินที่ถูกสร้างไว้เรียบร้อยแล้วบนระบบได้อย่างง่ายดาย
สำหรับบริการด้านการเงินนั้นประกอบไปด้วย orderbook แบบ Decentralized ที่ผู้คนเข้ามาตั้งออเดอร์ซื้อขายผ่าน Pizza DEX, แพลทฟอร์มที่ให้นักลงทุนเข้าถึงเงินหยวนได้ผ่าน Morecoin, ระบบแลกเปลี่ยนคริปโต Pzaswap, ระบบ liquidate สินทรัพย์, และรวมถึงโปรแกรมด้านการลงทุนเหรียญ USDE แบบพิเศษ โดยผู้ใช้งานนั้นจะสามารถสร้างเหรียญ PIZZA ผ่านการขุดได้ โดยปัจจุบันนั้นมีเหรียญ PIZZA มากกว่า 10 ล้านเหรียญที่อยู่ในระบบ supply และมีมากกว่า 1 ล้านเหรียญที่ถูกนำมาหมุนเวียนอยู่ในตลาดในขณะนี้
Hotdog.Swap/HOTDOG
Hotdog.Swap นั้นถือเป็นแพลทฟอร์มที่คัดลอก Uniswap มาอีกครั้งหนึ่ง โดยมันเปิดตัวเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากนี้เหรียญโทเคน HOTDOG นั้นมีสภาพคล่องที่ต่ำมาก โดยก่อนหน้านี้ราคาของมันได้พุ่งไปแตะ 5,000 ดอลลาร์ ก่อนที่จะร่วงลงมาจาก 4,000 ดอลลาร์ลงมาเหลือแค่ 1 ดอลลาร์ในเวลาเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น เหรียญดังกล่าวดูเหมือนว่าจะมีความใกล้เคียงกับ SUSHI โดยที่ผู้ให้บริการด้านสภาพคล่องนั้นจะทำการฝากเหรียญสภาพคล่องของ Uniswap เข้าไปในระบบเพื่อรับเหรียญ HOTDOG แบบฟรี ๆ
ผู้ที่ถือเหรียญ HOTDOG ทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมของโปรโตคอล โดยแนวคิดดังกล่าวนี้ก็คือผู้ให้บริการด้านสภาพคล่องทุกคนนั้นจะได้รับรางวัลเป็นเหรียญโทเคนที่กลุ่มชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน 100% อย่างไรก็ตามแนวคิดดั้งเดิมนั้นถูกริเริ่มโดย Yam Finance ที่ภายหลังมีโปรเจคใหม่เป็นจำนวนมากเข้ามาคัดลอกมันไป และหนึ่งในนั้นก็คือ Hotdog
Kimchi Finance/KIMCHI
Kimchi Finance นั้นถือเป็นหนึ่งในไม่กี่เหรียญ DeFi ที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้ ตั้งแต่มี Uniswap เกิดขึ้นมา โดยชื่อของมันนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาหารพื้นเมืองของชาวเกาหลี นอกจากนี้ความนิยมของเหรียญ KIMCHI นั้นดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก เมื่อมีข่าวว่านักพัฒนาสามารถที่จะระดมทุนได้ถึง 500 ล้านดอลลาร์ในเวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น โดยราคาเหรียญดังกล่าวได้พุ่งไปที่ 6 ดอลลาร์ในเวลาไม่นานอีกด้วยเช่นกัน
Kimchi นั้นดูเหมือนว่าจะเดินตามรอยเท้าของ SushiSwap โดยใช้ระบบโปรโตคอลแบบการฟาร์ม yield ที่มีการสัญญาผลตอบแทนเป็นจำนวนมากให้กับผู้ที่ต้องการจะลงทุน อย่างไรก็ตามหลังจากที่เว็บเทรดคริปโตเบอร์หนึ่งในเกาหลีใต้ Bithumb ถูกตำรวจเข้าบุกเพื่อตรวจค้นนั้น ส่งผลทำให้ราคาของเหรียญ KIMCHI ร่วงลงไป 67% จาก 6 ดอลลาร์เหลือแค่ 1.9 ดอลลาร์ในทันที
Meme/MEME
แม้ว่าเหรียญดังกล่าวจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับอาหาร แต่เหรียญ MEME นั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งเหรียญที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง เนื่องจากว่ามันสามารถนำพามาซึ่งเสียงหัวเราจากมีมได้ โดยโครงการดังกล่าวนั้นมีขึ้นหลังจากที่ทางนักพัฒนาได้ทำการแจกเหรียญดังกล่าวให้กับผู้ใช้งานบน Telegram ผ่านการ Airdrop
มันเริ่มขึ้นเมื่อนาย Jordan Lyall ได้ทำการสร้างโฆษณาล้อเลียนขำขัน “The Degenerator” ผ่านทางทวิตเตอร์ของเขา โดยภายหลังโพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากชุมชนคริปโตบน Twitter โดยไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นนาย Lyall ก็ได้เผยแพร่ลิงค์ที่แสดงให้เห็นว่ามีใครบางคนได้สร้างเหรียญโทเคนดังกล่าวออกมาแล้ว และทำการลิสต์มันบน CoinGecko ภายใต้ชื่อว่า MEME โดยเหรียญทั้งหมดนั้นมีอยู่เพียงแค่ 28,000 เหรียญ และมันถูกแจกจ่ายให้กับกลุ่มคนที่สนใจบน Telegram และในตอนนี้มูลค่าตลาดของมันได้พุ่งไปแตะ 3 ล้านดอลลาร์แล้ว
Meme นั้นกำลังพยายามที่จะทดสอบเหรียญประเภท nonfungible token ( NFT) บนโปรโตคอลสำหรับการฟาร์ม โครงการดังกล่าวได้กลายมาเป็นการทดสอบเพื่อฟาร์มมีมแห่งแรกบนโลก แต่อย่างไรก็ตามก็ได้มีคนดังบนโลกคริปโตอย่างนาย Alex Saunders ที่ออกมาเผยว่ามีเพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่ออกมาปั่นกระแสเหรียญดังกล่าว
อนาคตของเหรียญอาหารเหล่านี้
มันเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหรียญอาหารเหล่านี้ได้สร้างกระแสความนิยมอย่างมากในวงการคริปโต หลัก ๆ เป็นเพราะว่าความสำเร็จของโปรเจคตัวแรก ๆ ที่ทำให้มีการคัดลอกตามกระแสกันมาอย่างต่อเนื่อง หากเราลองมองที่เทรนด์ระยะยาวของเหรียญเหล่านี้จะพบว่ามันมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายกับกระแสความบ้าคลั่งของ ICO ที่เคยมีขึ้นเมื่อปี 2017
มีเม็ดเงินจำนวนมากที่ถูกนำมาเทใส่เจ้าโครงการเหรียญเหล่านี้เพื่อล่อนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาในตลาด ทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อจริงและประวัติที่มาของผู้ก่อตั้งและนักพัฒนาเลยด้วยซ้ำ แต่โครงการเหล่านี้ก็สามารถดูดเม็ดเงินไปได้เป็นจำนวนมากก่อนที่ใครหลาย ๆ คนจะรู้ตัวเสียอีก
นาย Ryan Selkis หรือผู้ก่อตั้งบริษัท Messari ได้ออกมาทวีตแสดงความเห็นเกี่ยวกับกระแส DeFi โดยชี้ว่า “ฟองสบู่ของมันนั้นจะต้องแตกในเร็ว ๆ นี้ เร็วกว่าที่ใครหลายคนจะคาดหวังไว้ พวกเรากำลังเกือบอยู่ในจุดสูงสุดของระบบเศรษฐกิจแชร์ลูกโซ่นี้แล้ว, เมื่อพรมถูกดึง, และ yield เกิดการเขย่ง และค่าธรรมเนียมของ ETH ก็จะกัดกินคนที่ไม่ใช่เจ้ามืออย่างรุนแรง” แต่ก็มีเพียงแค่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า DeFi นั้นจะอยู่ในตลาดได้นานขนาดไหน และกระแสนี้จะไปได้ไกลเท่าไร ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ควรประมาท และลงทุนอย่างมีสติทุกครั้ง
ที่มา cointelegraph