<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

แอพ Streaming ของตลาดหลักทรัพย์ไทย เตรียมเพิ่มช่องทางเชื่อมต่อไปยังตลาด Crypto

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ดูเหมือนว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเริ่มตื่นตัวในเรื่องของคริปโตแล้วในขณะนี้ โดยล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้เผยแผนที่จะยกระดับ “Settrade” ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มศูนย์กลางเชื่อมโยงทุกสินทรัพย์ตั้งแต่ “หุ้น- คริปโต-ดิจิทัลแอสเสท ฯลฯ “เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่  

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในโลกสมัยใหม่นักลงทุนหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 สะท้อนจากยอดเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสัดส่วนมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบแอพ Settrade Streaming เพื่อให้นักเทรดสามารถส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบที่มีการเชื่อมโยงเข้ากับระบบของสมาชิกที่ให้บริการด้านสินทรัพย์การลงทุนได้ทุกประเภท ทั้งหุ้น, สินทรัพย์ลงทุนรูปแบบดิจิทัล (Digital Asset),สกุลเงินดิจิทัล ( คริปโตเคอเรนซี), กองทุน, ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ (DR) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ฯลฯ ในที่เดียว

“นักลงทุนไม่ควรต้องเปิดบัญชีซ้ำซ้อน หรือซื้อขายสินทรัพย์ลงทุนผ่านตลาดหลายแห่ง เราจึงมุ่งพัฒนาระบบ Settrade เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขาย เพื่อรองรับการลงทุนทั้งสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบเดิม (Traditional) ,Digital Asset รวมถึงคริปโตเคอเรนซี แม้ในอนาคตอันใกล้ตลท. จะยังไม่ถึงขั้นเปิดให้ซื้อขายคริปโตเคอเรนซีโดยตรง แต่เราจะมีช่องทางเชื่อมต่อให้ซื้อขายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างแน่นอน” นายภากร กล่าว

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเข้าถึงได้ง่าย ซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เงินลงทุนไม่สูง 

นายภากร กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าร่วมงาน Maybank Kim Eng’s Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อเสวนา The ASEAN investor: Where are the next opportunities? ร่วมกับผู้บริหารตลาดหุ้นอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ตลาดหุ้นมาเลเซีย ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และตลาดหุ้นสิงคโปร์ ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้น โดยตลาดหุ้นไทยพบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มียอดเปิดบัญชีใหม่สูงถึง 1.03 ล้านบัญชี ทำให้จำนวนบัญชีรวมเพิ่มเป็น 4.54 ล้านบัญชี สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดังนั้นการพัฒนาตลาดทุนในระยะถัดไปจะมุ่งเน้นอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้ามาซื้อขายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ผ่านการพัฒนาระบบเปิดบัญชีออนไลน์ที่สามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดทุนได้อย่างยั่งยืน โดยมองว่าหากนักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างยั่งยืนแล้ว จะส่งผลให้ตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน และสุดท้ายคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ในส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดหลักสูตรให้ความรู้ (Education) แก่ผู้ประกอบการรายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นของไทยมีแนวคิดทางธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ยังขาดความรู้ทางการเงินที่จะเข้ามาหนุนการเติบโต ตลอดจนการจับคู่ให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนและผู้ลงทุนมาเจอกัน (Glooming) และสุดท้ายอยู่ระหว่างสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็ก จากปัจจุบันที่มีแหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด เช่น ครอบครัว หรือสถาบันการเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน (ESG) โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้ บจ.รายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมในรายงานที่ต้องส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)