ตามรายงานจากสื่อข่าวไทยรัฐเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่าขบวนการมิจฉาชีพ ปลอมเฟซบุ๊ก “กวาง อรการ” ผู้ประกาศสาวดัง หลอกจีบ อดีตผู้ว่าการการประปานครหลวง ออดอ้อนสารพัด แชตหวานเรียก “พี่” บางครั้งก็ “ที่รัก” ชักชวนลงทุนคริปโต เสียหายเกือบ 20 ล้าน ผบก.สอท.1 ไม่ยืนยันจะได้เงินคืนเท่าไร แต่ตำรวจจะทำให้ดีที่สุด
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. น.ส.อรการ จิวะเกียรติ หรือกวาง อายุ 38 ปี ผู้ประกาศข่าวสาวรายการข่าวเช้า “มอนิ่ง เนชั่น” ของช่องเนชั่นทีวี พร้อมด้วย น.ส.ชิดชนก ลำใย ทนายความ และ นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ อายุ 66 ปี อดีตผู้ว่าการการประปานครหลวง ผู้เสียหาย เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 เพื่อแจ้งความดำเนินคดี หลังถูกขบวนการมิจฉาชีพนำภาพของผู้ประกาศข่าวสาวไปเปิดเฟซบุ๊ก ใช้หลอกอดีตผู้ว่าการการประปานครหลวง โอนเงินลงทุนเหรียญคริปโต ความเสียหายกว่า 19.6 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายธนศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีเฟซบุ๊กของ น.ส.อรการ ผู้ประกาศข่าวสาว ทักแชตเข้ามาพูดคุยกับตนทำความรู้จักกัน เพื่อสร้างความสนิทสนม จนรู้สึกว่าคุยกันถูกคอ ก่อนจะเปิดประเด็นชักชวนให้ไปคุยต่อกันทางแอปพลิเคชันไลน์ ต่อมาได้มีการคุยต่อกันทางไลน์ ในการคุยก็เป็นลักษณะเชิงชู้สาว ทางคนร้ายพูดคุยในลักษณะออดอ้อนจีบตนก่อน ช่วงแรกๆ จะเรียกตนเองว่า “พี่” หรือบางครั้งก็พยายามจะเรียกตนว่า “ที่รัก” หลังจากนั้นคนร้ายเริ่มชักชวนให้ลงทุนเทรดคริปโต ซึ่งในครั้งแรกตนลงทุนเทรดไป 2 หมื่นบาท ได้ผลกำไรมา 4,000 บาท จึงหลงเชื่อ และเพิ่มยอดการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในระหว่างที่คุยผ่านทางไลน์ ทางเฟซบุ๊กของผู้ก่อเหตุที่ปลอมเป็นผู้ประกาศข่าวสาว ก็มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น มีการโพสต์ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับชีวิตประจำของคุณกวางจริงๆ ในช่วงเวลาที่คนร้ายทักมาคุยกับตน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับเวลาเลิกอ่านข่าวของคุณกวาง มีการวิดีโอคอลหากันก็จริง แต่ไม่ได้เป็นภาพเคลื่อนไหว เป็นภาพนิ่งของคุณกวาง ยิ่งทำให้หลงเชื่อ เพราะกล้าที่จะพูดคุยกัน ในระหว่างที่มีการลงทุนคนร้ายก็อ้างว่าเดี๋ยวจะร่วมลงทุนด้วยจำนวน 3.4 ล้านบาท
นายธนศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้พอถึงช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ก็จะบอกว่าเดี๋ยวเอาผลกำไรที่เทรดเหรียญได้ ไปเที่ยวต่างประเทศและทำบุญร่วมกัน อีกทั้งมีการนัดเจอกันด้วย แต่พอถึงเวลานัดคนร้ายก็อ้างว่าเพื่อนประสบอุบัติเหตุ กำลังไปรอเยี่ยม พร้อมนำรูปของคุณกวางส่งมาให้เพื่อเป็นการยืนยันด้วยว่าติดธุระจริงๆ แต่ในระยะหลังก็ตั้งข้อสังเกต พบความผิดปกติตรงที่เวลาตนเทรดเองจะขาดทุน แต่ถ้าเทรดตามที่เขาบอกมักจะได้กำไรมากกว่า ช่วงหลังๆ ที่ตนลงทุนไปเยอะ จึงให้คนร้ายถอนเงินออกมาบ้าง แต่กลับพบว่าไม่สามารถนำเงินออกจากระบบได้ จึงคิดได้ว่าตนเองอาจจะโดนหลอกก็ได้ ซึ่งจากพฤติการณ์ทั้งหมดนี้เพียงในระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ตนหลงเชื่อ ทำให้สูญเงินเกือบ 20 ล้านบาท
ด้าน น.ส.อรการ กล่าวว่า คดีนี้ถือว่าตนเป็นผู้เสียหาย เพราะถูกนำภาพและไลฟ์สไตล์ไปปลอมและหลอกผู้เสียหาย ก่อนหน้านี้ตนยังไม่ทราบเรื่อง จนกระทั่งเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ตนไปเที่ยวที่ประเทศอิตาลี ได้รับการประสานจากทางทีมงานว่า มีคนร้ายปลอมเฟซบุ๊ก นำไปหลอกผู้เสียหายให้โอนเงิน สูญเงินหลาย 10 ล้านบาท ตอนนั้นตกใจมาก จึงได้ประสานทีมงาน และร่วมหารือกัน สุดท้ายก็ลงความเห็นว่าจะแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ
อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าไม่ได้เปิดบัญชีใช้งานเฟซบุ๊กแล้ว หากมีเฟซบุ๊กที่แอบอ้างชื่อตนทักไปอย่าหลงเชื่อ และหากใครเสียหายให้ดำเนินการแจ้งความทันที ยอมรับว่าสงสารผู้เสียหายมาก เพราะเคยอ่านข่าวในลักษณะนี้มาหลายครั้ง ไม่คิดว่าวันนี้จะมีผู้เสียหายจากการที่เอาโปรไฟล์ของตนไปหลอก และตนก็ตกเป็นผู้เสียหายเองเสียด้วย ตนจึงอยากจะฝากไปถึงนักลงทุนที่คิดจะลงทุนทางด้านนี้ ตามคำที่เราเคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนการลงทุน” ซึ่งผู้ลงทุนต้องตรวจสอบก่อน ไม่ว่าจะเป็นใบจดทะเบียนของบริษัท และความน่าเชื่อถือในแวดวงที่ตนเองจะลงทุนด้วย และหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเงิน อยากให้ทุกคนอย่าหลงไว้ใจ หรือเชื่อใจใครง่ายๆ
ขณะที่ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ กล่าวว่า คดีนี้เข้าข่ายการหลอกลวงแบบไฮบริดสแกม (Hybrid Scam) คือการพูดคุยติดต่อผ่านทางช่องทางออนไลน์ จากนั้นจะหลอกให้รักและเชื่อใจ ก่อนจะหลอกให้ลงทุน ซึ่งในเคสผู้เสียหายรายนี้ มีการโอนเงินออกไปกว่า 24 บัญชี จำนวน 33 ครั้ง เป็นเงินเกือบ 20 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้ประสานงานไปยังธนาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการอายัดบัญชีที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบเส้นทางการเงินว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไร
ทั้งนี้ ไม่ยืนยันว่าจะได้เงินคืนเท่าไร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำให้ดีที่สุด และอยากฝากเตือนไปยังนักลงทุนให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารการจดทะเบียนบริษัท เอกสารจาก ก.ล.ต. ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน.
ที่มา: thairath