<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

เริ่มแล้ว “ยื่นภาษีปี 2566” ไขข้อสงสัยวิธีคิดภาษีคริปโตฉบับเข้าใจง่าย

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อปีที่แล้วเราได้ทราบกันไปแล้วว่า ทางรัฐบาลชุดใหม่นั้นได้มีการปรับเปลี่ยนการตีความกฎหมายภาษีใหม่เล็กน้อย โดยจะมีผลบังคับใช้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และวันนี้เราจะพานักเทรดคริปโตทุกคนไปดูกันว่าเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง

จากเอกสารที่รัฐบาลชุดใหม่ได้ประกาศออกมานั้นเราจะได้เห็นการตีความใหม่ของกรมสรรพากร ในเรื่องของเงินได้ ในเอกสารคำสั่งฉบับที่ ป.161/2566 โดยสามารถแปลความหมายได้ว่า 

บุคคลใดที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันนั้น หากมีเงินได้พึงประเมินเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตามให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวนเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร

หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ หากเพื่อน ๆ พำนักอยู่ในไทยเกิน 180 วัน และมีเงินได้จากต่างประเทศ หลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อน ๆ จะต้องนำเงินได้เหล่านั้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย

เงินได้ที่เกิดขึ้นก่อนการปรับใช้นั้นจะไม่ถูกคำนวณเพื่อเสียภาษี หมายความว่า หากเพื่อน ๆ มีเงินได้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อน ๆ สามารถนำเงินเข้ามาได้โดยไม่เสียภาษี และหากเพื่อน ๆ ไม่ได้พำนักอยู่ในไทยเกิน 180 วัน การนำเงินได้เข้ามานั้นจะไม่ถูกคิดภาษีด้วยเช่นกัน

ในกรณีของกำไรในหุ้นและการลงทุน สมมติว่าเรานำเงินออกไปลงทุนจำนวน 10,000 บาท และนำกลับเข้ามา 10,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากไม่ถือเป็นเงินได้ แต่หากมีกำไรและนำเงินเข้ามามากกว่าเงินต้น จะถือว่าเป็นเงินได้และต้องเสียภาษีหากอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน

กิจกรรมคริปโตรูปแบบไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี ?

กิจกรรมคริปโตที่จะต้องทำการเสียภาษีมีดังนี้ :

1.ได้รับ Airdrop 

หากเพื่อน ๆ ได้รับ Airdrop เหรียญ A มูลค่า 10,000 บาท จะต้องนำมูลค่าเหรียญที่ได้รับ ณ วันนั้นจำนวน 10,000 บาท ไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40( 8 )

2.ทำการขายคริปโตออกมาเป็นเงินเฟียต

หากเราขาย  Bitcoin ได้กำไรมา 30,000 บาท (หักต้นทุนแล้ว) จะต้องเอากำไรที่ได้มานำมาเสียภาษีตามมาตรา 40(4)(ฌ) ซึ่งแม้จะอยู่ในกระดานเทรดก็ต้องเอามาคำนวณภาษี

3.การขาย  NFT

การขาย NFT จะมีวิธีคิดอยู่ 2 รูปแบบ หากเป็นการเทรด-ขาย NFT ตามปกติจะเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4) ที่ต้องนำกำไรจากการขายไปเสียภาษีเหมือนการขายคริปโต

ขณะที่หากเป็นเจ้าของที่สร้างผลงาน NFT (Creator) ที่มีรายรับจากการขาย NFT จะเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(8)

4.การขุดเหมือง

หากนำเหรียญที่ขุดมาไปขาย จะต้องนำรายได้ไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(8) **หากยังไม่ขายยังไม่ต้องเสียภาษี**

5.การ Staking หรือ Yield Farming บน Defi

หากได้รับผลประโยชน์จากการ Stake คริปโตต้องนำรางวัลทั้งหมดที่ได้รับไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(8) ส่วนรางวัลที่ได้จากการ Stake เหรียญอื่น ๆ ที่ไม่ใช่  คริปโต

จะต้องนำรางวัลทั้งหมดมาเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ)

6.การแลกเปลี่ยนเหรียญหนึ่งเป็นอีกเหรียญหนึ่ง

พูดง่าย ๆ คือเราซื้อเหรียญหนึ่งมาในราคาที่ต่ำ และถือไว้จนราคาสูงจากนั้นนำเหรียญที่มีไปแลกเป็นเหรียญอื่นในราคาที่สูง หมายความว่าเราได้กำไรจากการแลกเปลี่ยนนี้ ต้องนำเอากำไรส่วนนี้ไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ)

7.ผลประโยชน์จากการถือคริปโต

หากถือ Crypto แล้วได้รับ Rewards เงินปันผล หรือส่วนแบ่งกำไรต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ)

8.การใช้คริปโตซื้อสินค้า

หากมีกำไรจากคริปโตแล้วนำไปซื้อสินค้าจะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) 

เช่น เราซื้อเหรียญด้วยเงินต้น 1,000 บาท แต่ราคาพุ่งเป็น 10,000 บาท และเราเอา 10,000 บาทนั้นไปแลกเป็นสินค้ามูลค่า 10,000 บาทจะถือว่าเรามีกำไรเกิดขึ้น 9,000 บาท และต้องเสียภาษี 

9.การใช้ Crypto ซื้อบริการต่าง ๆ 

หากนำกำไรที่ได้จากคริปโตแล้วนำไปซื้อบริการ จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) เช่น ซื้อเหรียญมาในราคา 10,000 แต่ราคาขึ้นเป็น 100,000 แล้วเราเอาไปซื้อทัวร์ท่องเที่ยวในมูลค่า 100,000 จะถือว่าเราได้กำไรเช่นเดียวกับการซื้อสินค้า และต้องเสียภาษี

10.ชำระสินค้า หรือ บริการด้วย Crypto

การเสียภาษีจะแตกต่างกันไปตามลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

-พนักงานประจำรับเงินเดือนเป็นคริปโต เสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(1)

-ฟรีแลนซ์รับค่าจ้างเป็นคริปโต เสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(2)

-เจ้าของคอนโดรับค่าเช่าเป็นคริปโต เสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(5)

-สถาปนิกออกแบบรับชำระด้วยคริปโต เสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(6)

-ผู้รับเหมาก่อสร้างรับชำระด้วยคริปโต เสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(7)

-ร้านกาแฟรับชำระด้วยคริปโต ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40( 8 )

11.ผลประโยชน์จาก GameFi

หากเล่น GameFi แล้วได้รับ Rewards เงินปันผล หรือส่วนแบ่งกำไรต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ)

12.ได้ Crypto มาฟรีจากเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก

หากได้รับเกิน 10 ล้านบาทในปีภาษี จะต้องนำส่วนเกิน 10 ล้านบาทไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40( 8 ) ในอัตรา 5%

13.ได้ Crypto มาฟรีจากพ่อแม่ คู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน

หากได้รับเกิน 20 ล้านบาทในปีภาษี จะต้องนำส่วนเกิน 20 ล้านบาทไปเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40( 8 ) ในอัตรา 5%

ปล.

1.หากเทรดใน Exchange ไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. สามารถนำ “ผลขาดทุน” มาหักลบกับ “กำไร” ในปีเดียวกัน และต่างธุรกรรมกันได้

2.สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก.ล.ต.ได้มีการผ่อนปรนให้ หากมีการเทรดผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยที่เราไม่ทราบว่า “ผู้รับเงิน” เป็นใคร และไม่ทราบจำนวน “เงินได้หรือกำไร” ของผู้รับเงินคือเท่าไร (เนื่องจาก Exchange มีระบบจับคู่อัตโนมัติ) ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย เราจึง “ไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย”

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในมุมมองของกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรมสรรพากรตีความหมายเหรียญคริปโตเป็น “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์”เนื่องจากครอบคลุมถึงสินทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งในลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ 

ดังนั้น โดยหลักทั่วไป หากขายเหรียญคริปโตระหว่างปีเกิน 1.8 ล้านบาท จะถูกบังคับให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ข้อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล

กรณีขายคริปโทผ่าน Exchange ในกำกับ ก.ล.ต. (หมดอายุ 31 ธ.ค. 2566)

การขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน Exchange (ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) ที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล จะได้รับยกเว้นไม่คำนวณเป็นฐานสำหรับเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 744) พ.ศ. 2565

กรณีขาย security token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน)

การขาย security token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) จะมีภาระภาษีเช่นเดียวกับการโอนหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนทั่วไป จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 779) พ.ศ. 2566

อย่างไรก็ตามข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอไปข้างต้นนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต ทั้งนี้นักลงทุนควรตรวจสอบข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ 

ที่มา : TAXBugnoms , Stocker day , Itax
ภาพ : Coingeek