<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

Forbes เผยแพร่บทความ “การอนุมัติ Bitcoin ETF ของ SEC ได้พลิกโฉมโลกการเงินไปตลอดกาล”

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในพาดหัวข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2024 Forbes หนึ่งในนิตยสารด้านธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ได้กล่าวถึงการมาของ  Bitcoin ETF ว่าเป็นการปฏิวัติระบบการเงินของโลก โดยกล่าวว่า มันเป็นมากกว่าแค่การเพิ่มราคาของ Bitcoin ซึ่งนั่นเป็นแค่เป้าหมายระยะสั้น แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการเสริมพลังให้กับ Bitcoin ในการเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถถูกจัดการได้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมระบบการเงินของโลก การที่ Bitcoin สามารถลงรากในสหรัฐฯได้นั้นจึงเป็นการตอกย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงซึ่งจะผลิกโฉมโลกการเงินไปตลอดกาล

เมื่อเงินเฟียตเป็นปัญหา คริปโตจึงถือกำเนิดขึ้น

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว  Satoshi Nakamoto ได้เผยแพร่ white paper ของ Bitcoin ออกมา เขาได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเก่าแก่ของระบบเศรษฐกิจการเมืองของเงิน อันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมืองของรัฐบาล ที่มักต้องการใช้จ่ายเงินมากกว่าที่เก็บภาษีได้ เหตุเพราะการเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐมักได้รับความนิยม ในขณะที่การขึ้นภาษีกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลจึงมักใช้กลยุทธ์ในการกู้ยืมเงินมาชดเชยส่วนต่าง แต่เมื่อการกู้ยืมไม่เพียงพอ รัฐบาลก็เลือกที่จะพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และลดค่าของเงินตราประจำชาติ

ในระยะสั้น การพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมักถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง เพราะการใช้จ่ายงบประมาณตอบแทนกลุ่มผู้สนับสนุน ช่วยให้นักการเมืองมีโอกาสชนะการเลือกตั้งซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การมีเงินหมุนเวียนมากเกินไป ส่งผลให้ค่าของเงินแต่ละหน่วยลดลง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “ภาวะเงินเฟ้อ”

Nakamoto และ ผองเพื่อนของเขา จึงแก้ไขปัญหานี้ด้วยการกำหนดปริมาณของ Bitcoin ไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งไม่เหมือนกับสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์ ยูโร เยน หรือสกุลเงินเหรินมินบีของจีน ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามเวลา จำนวน Bitcoin ทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ง่ายดาย ด้วยคุณสมบัติข้อนี้ ในทางทฤษฎี Bitcoin จึงเป็นแหล่งเก็บมูลค่าที่น่าเชื่อถือกว่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับสกุลเงิน fiat ของยุคปัจจุบัน

Bitcoin มีโอกาสถูกแบนโดยรัฐบาลสหรัฐฯไหม?

ถ้าหาก Bitcoin กลายเป็นสินทรัพย์ที่เก็บมูลค่าได้ดีกว่าธนบัตรขึ้นมา อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพ่งเล็งและทำการแบนคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่ง Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associate เห็นด้วยกับความเป็นไปได้นี้ โดยในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2021 เขาชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นช่วงสงครามที่รัฐบาลเกิดความกลัวที่คนจะหันไปเก็บทองแทนที่เงินดอลลาร์ จึงสั่งห้ามไม่ให้มีการครอบครองทองคำเป็นการส่วนตัว พร้อมกับจัดตั้งหน่วยงานควบคุมเงินตราต่างประเทศเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินจะไม่ออกไปไหน

แต่ในกรณีของ Bitcoin นั้น รัฐบาลสหรัฐฯไม่สามารถทำการแบนได้เหมือนกับอินเทอร์เน็ต เพราะ Bitcoin นั้นทำงานด้วยระบบเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ (decentralize networks) ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของรัฐ  ตัวอย่างของการแบนคริปโตก็มีให้เห็นกันอย่างเช่น จีนที่ทำสั่งแบนการขุดคริปโตในปี 2021 แต่ทาง Cambridge Centre for Alternative Finance กลับรายงานว่า 1 ใน 5 พลังงานที่ใช้ในการขุดมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงต้นปี 2022 ขณะที่ประชาชนก็ได้หาวิธีเล็ดลอดต่าง ๆ เช่นการใช้ VPN หรือ การนัดพบปะกันในที่สาธารณะเพื่อแอบทำแลกเปลี่ยนคริปโต โดยไม่ให้หน่วยงานรัฐรู้

แม้ว่าการแบนของจีนอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะไม่สามารถทำอะไรได้ โดยรัฐบาลสามารถสั่งห้ามให้เหล่ากระดานเทรดชื่อดังใช้เงินดอลลาร์ในการแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารต่าง ๆ ไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกับ exchange เหล่านี้ได้ นอกเหนือจากนี้รัฐบาลยังสามารถสั่งห้ามให้บริษัทต่าง ๆ ถือ Bitcoin ไว้ในมือเช่น Microstartegy ผ่านคำสั่งของ ก.ล.ต. ซึ่งจะเกิดเป็นอุปสรรคให้ภาคค้าปลีกไม่สามาถรับ Bitcoin ในการชำระเงินได้

พูดง่าย ๆ ก็คือถึงภาครัฐจะไม่สามารถหยุด Bitcoin ได้แต่ก็ยังสามารถสร้างความลำบากให้กับประชาชนในการใช้งานมันภายในประเทศ 

การมาของ ETFs จะช่วยให้ Bitcoin ไม่โดนแบน

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจากที่ได้กล่าวมาด้านบนนั้นอาจจะเป็นโมฆะไปโดยปริยาย ด้วยการมาของ Bitcoin ETF เพราะในขณะนี้ Bitcoin ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อ ยักษ์ใหญ่ด้านการเงินระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น BlackRock , Fidelity , Invesco เป็นต้น

ทำให้ในขณะนี้มีนักลงทุนจำนวนมากสามารถเข้าถึง Bitcoin ได้โดยไม่ต้องมานั่งเทรดบน Exchange หรือถือเหรียญไว้กับตัว ช่วยส่งเสริมให้ตัว Bitcoin นั้นเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งหากคุณเป็นนักการเมืองหรือหน่วยงานที่มีการต่อต้าน Bitcoin ในขณะนี้จะไม่ใช่แค่ผู้ถือเหรียญเท่านั้นที่จะมาออกมาเรียกร้อง หรือ ร้องเรียน แต่จะเป็นเหล่าสถาบันการเงินอีกด้วย ซึ่งเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำให้เหล่านักร่างกฎหมายต้องคิดทบทวนถึงการกระทำของตน

The SEC รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่

ก.ล.ต. สหรัฐฯ เข้าใจเรื่องทั้งหมดนี้ ว่าการอนุมัติ Bitcoin ETFs จะส่งผลอย่างไร ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไมการอนุมัติ Bitcoin ETF จึงเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือด ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่จะมาตัดสินใจว่า Bitcoin เป็นการลงทุนที่ดีหรือไม่ นั่นเป็นหน้าที่ของนักลงทุนและตลาดในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก.ล.ต. ยืนกรานต่อต้านการให้นักลงทุนเข้าถึง Bitcoin นี่เป็นเพราะว่า ก.ล.ต. ทราบดีว่าความไม่แน่นอนดังกล่าวสามารถเพิ่มความสนใจของนักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมาก

จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Bitcoin เอาชนะดอลลาร์ได้

แม้ว่าตอนนี้จะหายห่วงได้ว่า Bitcoin จะรอดจากเงื้อมมื้อของเหล่ารัฐบาล แต่ถ้าหากในอนาคต Bitcoin โตขึ้นอย่างมากจนสามารถเอาชนะเงินดอลลาร์ได้ รัฐบาลสหรัฐจะกลับลำมาโจมตีหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ “ใช่” แต่ในเวลานั้นมันคงจะสายเกินไปแล้ว เห็นได้จากกรณีศึกษาของ อาร์เจนตินา ที่ห้ามไม่ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนเงินมากกว่า 200 อาร์เจนตินาเปโซ ไปเป็นเงินดอลลาร์ต่อปี แม้ว่าจะมีการลิมิตแต่ธนาคารกลางอาร์เจนตินา กลับรายงานว่ามีชาวอาร์เจนตินาถือเงินดอลลาร์มากกว่า 10% ของอุปทานทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมร่วม 200,000 ล้านดอลลาร์

ดังนั้นหากใช้ตรรกะเดียวกันในการคิด มูลค่าตลาดที่ Bitcoin จะมีได้จากการยอมรับการใช้งานกันทั่วโลกจะอยู่ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าหากมีการโจมตี หรือ สั่งห้ามใด ๆ เกี่ยวกับ Bitcoin จะเกิดการตีกลับอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นการยืนยันว่าทางรัฐบาลสหรัฐฯไม่มั่นใจในมูลค่าของสกุลเงินของตน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการอนุมัติ Bitcoin spot ETF เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นการปฏิวัติทางการเงินของคริปโตเคอร์เรนซี ที่จะมาแก้ปัญหาเงินเฟียตที่นับวันจะยิ่งถูกลดทอนมูลค่าลง

ที่มา : Forbes