<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ราคา Bitcoin พุ่งทุก 4 ปี แล้วแบบนี้ใครจะเป็นคนเสียเงิน ถ้าทุกคนรวยกันหมด ?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปี 2024 นับเป็นอีกครั้งที่ Bitcoin ได้กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งหรือที่เรียกว่า “Bull Run” ซึ่งมันก็เป็นเช่นนี้มาทุก ๆ 4 ปีตามกลไกวัฏจักรของมัน ซึ่งคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วคงจะรู้ว่า หากอดทนถือ Bitcoin ยังไงก็ไม่มีทางที่จะขาดทุนแน่นอน แต่จำกำไรน้อยหรือมากก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน

และด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่าถ้า Bitcoin เป็นเกมที่ทุกคนชนะแล้วใครจะเป็นคนแพ้ ซึ่งจากการค้นคว้าข้อมูลและ ChatGPT ต่างให้ข้อสรุปได้ว่า

เวลาเราลงทุนใน Bitcoin แล้วขาดทุน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เราซื้อในช่วงที่ราคาสูงเกินจริง หรือลงทุนตามกระแสแบบไม่ทันได้คิดให้รอบคอบ (FOMO) ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถ้าเราถือยาว ๆ ไว้ก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ปัญหาคือไม่ใช่ทุกคนจะอดทนถือได้นานขนาดนั้น ทำให้เกิดสิ่งที่คนในวงการเรียกว่า “ขายหมู” ขึ้นมา คือการที่เราจำใจต้องขาย Bitcoin ในราคาที่เราไม่ได้อยากขาย จะเพราะกลัวจนขาย (panic sell) หรือโดนปัจจัยภายนอกบังคับให้ขายก็แล้วแต่ คนที่ขายออกมาแบบนี้มักจะถูกมองว่าอยู่ในฝั่งของ “ผู้แพ้” ในตลาดนี้

แต่มันก็มีอีกกรณีหนึ่งที่เงินลงทุนจะสูญเสียไปได้เช่นกัน นั่นก็คือ การเทรดในตลาดฟิวเจอร์ส หรือใช้ leverage ซึ่งมันก็เหมือนกับการเดิมพันว่า Bitcoin จะขยับไปทางไหนทางทายถูกก็ได้เงิน ถ้าทายผิดก็เสียเงิน เป็นหลักการง่าย ๆ จึงเป็นคำถามต่อไปอีกว่าแล้วเราจะไปเสี่ยงเล่นทำไมถ้ามีโอกาสเจ๊ง คำตอบก็คือ การลงทุนในรูปแบบนี้ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าแต่ได้ผลตอบแทนกลับมามาก เมื่อเทียบกับการเทรดแบบสปอต อีกทั้งยังไม่ต้องมานั่งรอให้ Bitcoin ทำราคากลับขึ้นมาทุก ๆ 4 ปี หมายความว่าไม่ว่าตลาดจะเป็นเช่นไร นักลงทุนกลุ่มนี้จะยังทำการซื้อขายอยู่เสมอ

อีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ กรณีที่ไม่คาดคิดเช่น กระเป๋าโดนแฮ็ก เว็บเทรดปิดตัว หรือ ลืมรหัสผ่านของตนเองจนทำให้ไม่สามารถเข้าถึง Bitcoin แต่ที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับ Bitcoin  ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยมากกว่า

จากที่กล่าวมาหากหลายท่านยังคงสงสัยว่า แล้วถ้าในกรณีที่เราซื้อมาแพงกว่าคนที่เข้ามาก่อนหน้าจะทำกำไรได้อยู่จริงหรือ และนี่ไม่ใช่เป็นเกมลุกช้าจ่ายรอบวง (Zero Sum Game) ใช่ไหม เราจะลองเทียบให้ดูคร่าว ๆ  

ลองสมมติว่า Bitcoin เป็นธุรกิจ ตราบใดที่ธุรกิจดังกล่าวยังคงมีความต้องการและมีลูกค้าเข้ามาธุรกิจนั้นก็จะยังเติบโตต่อไปได้ และแม้ว่าเราจะไม่ได้ซื้อมันมาในราคาที่ถูกเท่ากับเจ้าของคนแรกแต่ตราบใดที่มันยังคงอยู่มันก็จะสามารถทำกำไรได้ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งในกรณีของ Bitcoin ก็ไม่มีใครทราบได้ว่าจะเป็นตอนไหน

ทุกวันนี้ Bitcoin เติบโตมาจนถึงจุดที่ทั้งสถาบันการเงินและรัฐบาลเริ่มยอมรับ นี่อาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสินทรัพย์ที่อะไรแบบนี้เกิดขึ้น วัฏจักรของ Bitcoin ตลอด 12 ปีที่ผ่านมาอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มเชื่อแล้วว่า Bitcoin ไม่มีทาง “ไร้ค่า” แน่นอน และทุกวันนี้มันเข้าใกล้การเป็น “ทองคำดิจิทัล” มากขึ้นเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้น เราคงต้องมารอดูกันว่าถ้าตลาดเข้าสู่ช่วงขาลง (Bear market) Bitcoin จะเป็นยังไงต่อไป เพราะตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้กันแล้วว่าการถือยาว ๆ อาจจะไม่ต้องรีบขายทิ้ง เราอาจได้เห็นภาวะ supply shock เกิดขึ้นก็ได้ คือความต้องการมีมากกว่าอุปทานที่หมุนเวียนในตลาด เพราะใคร ๆ ก็อยากได้ของถูก ซึ่งนั่นอาจทำให้ราคาของ Bitcoin ไม่ดิ่งลงเหมือนเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีแรงซื้อจากผู้เล่นรายใหญ่อย่างสถาบันหรือรัฐบาล ราคาก็อาจจะไม่พุ่งสูงเหมือนเมื่อก่อนได้เช่นกัน

สรุปง่าย ๆ กำไรจากการลงทุนในหุ้นหรือ Bitcoin มาจากมูลค่าที่แท้จริงที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ได้มาจากการสูญเสียของผู้อื่น มันคือการที่เรามีส่วนร่วมในความสำเร็จและการเติบโตของธุรกิจหรือเทคโนโลยีที่เราเชื่อมั่น ดังนั้น ครั้งต่อไปที่มีคนถามว่า “ถ้าทุกคนกำไร แล้วใครเป็นคนเสีย?” เราสามารถตอบได้เต็มปากแล้วว่า “ไม่จำเป็นต้องมีใครเสีย กำไรเพราะของเรามาจากมูลค่าที่ถูกสร้างขึ้นจริง ๆ”