อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการบริหารของ Ethereum Foundation (EF) มาตั้งแต่ปี 2018 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคนใหม่ขององค์กร โดยเธอสัญญาว่า จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการเงิน และขยายการใช้งานของ Ethereum ไปสู่ระดับที่กว้างขึ้น
อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) เขียนข้อความกล่าวว่า “โอกาสใหม่นี้ จะทำให้ฉันสามารถสนับสนุนความสัมพันธ์ของ Ethereum Foundation (EF) กับสถาบันต่างๆ ได้ต่อไป และขยายวิสัยทัศน์ รวมถึงวัฒนธรรมของเราให้กว้างขึ้น”
ก่อนเข้าสู่วงการคริปโต อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) เคยเป็นครูสอนในระดับมัธยมปลาย เป็นเวลา 10 ปี จากนั้นเธอได้เข้าร่วมงานกับ Kraken ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บเทรดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของสาขาญี่ปุ่น ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของ Ethereum Foundation ในปี 2018 ในช่วงเวลาที่อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) ดูแล Ethereum Foundation (EF) นั้น เธอมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ Ethereum เปลี่ยนไปใช้ระบบ Proof-of-Stake (PoS) ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานลงกว่า 99% รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา Layer 2 เพื่อขยายขีดความสามารถของเครือข่าย
วิตาลิก บูเทอริน (Vitalik Buterin) ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า
“ผู้นำที่ดีควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้อื่นสามารถทำงานได้อย่างดีที่สุด ความสำเร็จของ Ethereum ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของฮาร์ดฟอร์ค การพัฒนา Devcon หรือการรักษาวัฒนธรรมและค่านิยมของชุมชน ล้วนมีส่วนมาจากการบริหารของ Aya”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนในชุมชน Ethereum ที่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งอายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) เป็นประธาน บางคนมองว่า อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) ไม่สามารถดึงดูดนักพัฒนารายใหม่เข้าสู่โปรเจกต์ได้ และทำให้ Ethereum เสียเปรียบคู่แข่งอย่าง Solana นอกจากนี้ ยังมีบางฝ่ายกล่าวว่า อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) มีส่วนทำให้ราคาของ ETH ตกต่ำ แม้ว่าการแต่งตั้งของเธอเพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นานก็ตาม
ความไม่พอใจของบางกลุ่มนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) ลาออก และเสนอชื่อ แดนนี่ ไรอัน (Danny Ryan) นักวิจัยและนักพัฒนาของ Ethereum ให้มารับตำแหน่งแทน แม้ว่าทักษะด้านเทคนิคของแดนนี่ ไรอัน (Danny Ryan)จะยอดเยี่ยม แต่หลายฝ่ายกังวลว่า แดนนี่ ไรอัน (Danny Ryan) อาจไม่มีความสามารถในการบริหารองค์กรได้เท่าอายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi)
ซึ่งปัญหานี้คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ โปรเจกต์ในวงการเทคโนโลยี ที่นักพัฒนาที่เก่งในเชิงเทคนิค อาจมองไม่เห็นภาพรวมของการขยายธุรกิจและการกำหนดทิศทางองค์กร
นอกจากนี้ การบริหารของ Ethereum Foundation เองก็มีเรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชุมชน เช่น กรณีของ Justin Drake และ Dankrad Feist นักวิจัยของ EF ที่รับตำแหน่งที่ปรึกษาที่ได้รับค่าตอบแทนจาก EigenLayer Foundation ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชุมชน เพราะถูกมองว่า เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งยังมีข้อกังขา เกี่ยวกับความโปร่งใสในการใช้เงินทุนขององค์กร
ในขณะที่ความขัดแย้งภายใน Ethereum Foundation ยังคงดำเนินต่อไป Vitalik Buterinได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแล EF ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และพยายามหาผู้ที่เหมาะสมเข้ามาดูแลด้านการเงินขององค์กร
ถึงแม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) ยังคงยืนยันว่า การขึ้นเป็นประธานครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ระยะยาวของ Ethereum Foundation ที่ต้องการให้โปรเจกต์เติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่เปลี่ยนไปเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยผลกำไรเหมือนบริษัททั่วไป “เป้าหมายของ EF ไม่ใช่เพื่อให้ตัวเอง ‘ชนะ’ แต่เพื่อให้ Ethereum เป็นฝ่ายชนะในระยะยาวโดยยังคงรักษาแก่นแท้ของตัวเองไว้”
อายะ มิยากุจิ (Aya Miyaguchi) เปรียบเทียบการเติบโตของ Ethereum ว่า ไม่ใช่เครื่องจักรที่ต้องเร่งผลิตผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง แต่เป็น “สวน” ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้เติบโตอย่างสมดุลและแข็งแกร่ง โดยเชื่อว่า คริปโตเคอร์เรนซีจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ความยากจน การเข้าถึงบริการทางการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ที่มา : zycrypto