เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา “ดร.เอ็ม” จากเพจ ติดเล่า เรื่องลงทุน ได้ออกมาแชร์ถึงกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงสำหรับนักเทรดฟิวเจอร์ส ที่เรียกว่า “Protective Put” ด้วยการใช้สัญญา Options ซึ่งถึงแม้ราคาของ Ethereum จะร่วงลงอย่างมาก แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะได้รับการจำกัดด้วยกลยุทธ์นี้ โดย ดร.เอ็ม เองก็เปรียบกลยุทธ์ดังกล่าวเหมือนกับการซื้อประกัน
แต่ Protective Put คืออะไร ? ใช้งานยัง ? ในบทความนี้ทางสยามบล็อกเชนจะพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักเครื่องมือนี้ได้ด้วยกัน
ก่อนที่จะไปรู้จักกับ Protective Put เราขอย้อนกลับมาสักเล็กน้อยว่าตัวสัญญา Options นั้นทำงานอย่างไร อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ สัญญาดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ให้นักเทรดสามารถซื้อสัญญาซื้อ-ขาย ล่วงหน้าในราคาที่กำหนด แต่สัญญาดังกล่าวไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องทำเช่นนั้น ในทางกลับกัน ผู้ถือสัญญาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมซึ่งเรียกว่า พรีเมียมให้กับผู้เขียนสัญญาออปชัน ซึ่งถ้าหากไม่อยากทำตามสัญญาผู้ที่ลงทุนก็แค่เสียค่าพรีเมียมเท่านั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่น้อยกว่า
ทั้งนี้สัญญาที่เราจะพบได้บ่อยที่สุดคือ Call options ซึ่งเป็นสัญญาซื้อ ในขณะที่ Put options จะเป็นสัญญาขาย
กลยุทธ์ protective put ทำงานอย่างไร ?
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น กลยุทธ์ protective put เปรียบเสมือนการซื้อประกันให้กับสินทรัพย์ในช่วงตลาดขาลงที่สัญญายังคงดำเนินอยู่
สมมติว่า มีนักเทรดรายหนึ่งซื้อ 1 ETH ที่ราคา 1,500 USDT แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยงเขาจึงตัดสินใจที่จะเปิดสัญญา put option เป็นเวลา 1 เดือน โดยมี strike price ที่ 1,200 USDT และมีค่าพรีเมี่ยมที่ 12 USDT ทว่าต่อมาราคาของ ETH ร่วงลงไปถึง 1,000 USDT ตามแนวโน้มขาลง ทว่าแทนที่เขาจะขาดทุน 500 USDT สัญญาจะให้สิทธิการขายที่ราคา 1,200 USDT แทน โดยเมื่อรวมกับค่าพรีเมี่ยมแล้วนักเทรดรายนี้จะขาดทุนไปแค่ 312 USDT เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากราคา ETH ยังคงอยู่ที่ 1,500 USDT เมื่อสัญญาหมดอายุ นักเทรดก็เสียเงินค่าพรีเมี่ยมแค่ 12 USDT เท่านั้น ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากกับการประกันความเสี่ยงตลอดระยะเวลา 1 เดือนเต็มในกรณีนี้
กลับกันถ้าราคาของ ETH พุ่งขึ้นสวนมามากกว่า 1,512 USDT (ราคาซื้อ+พรีเมี่ยม) นักเทรดก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตามสัญญาดังกล่าว โดยหาก ETH พุ่งขึ้นมาเป็น 2,000 USDT ในวันที่สัญญาหมดอายุ นักเทรดจะสามารถทำกำไรได้กว่า 488 USDT
ข้อดีของการ hedging ด้วย put options
-ป้องกันความเสี่ยงจากขาลง เพราะนักเทรดสามารถขายสินทรัพย์ตามราคาที่ระบุในสัญญาได้
– ไม่ปิดโอกาสการทำกำไรหากตลาดพลิกกลับไปเป็นขาขึ้น
ความเสี่ยงของการ hedging ด้วย put options
–ค่าพรีเมี่ยม อาจมีมูลค่าที่สูงและทำให้กำไรที่ควรจะได้ลดลง
-หากมีการ Over hedge มากเกินไป (ซื้อสัญญาเกินความจำเป็น) อาจทำให้นักเทรดสูญเงินโดยใช่เหตุ
สรุป
แม้ว่านักเทรดหลายคนอาจชื่นชอบวิธี stop-loss มากกว่า แต่การใช้ protective put ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นักเทรดไม่ควรมองข้าม และใช้งานมันเพื่อทำให้ตนเองรอดพ้นจากตลาดขาลง เพราะสัญญาเหล่านี้จะไม่ถูกกระทบโดยราคาที่ผันผวนของสินทรัพย์ มีเพียงเวลาเท่านั้นที่ส่งผล
ที่มา : Binance