เหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ที่เล่นงานสเปนและโปรตุเกสไปเมื่อไม่นานมานี้ (28 เม.ย.) ได้สร้างความปั่นป่วนในชีวิตประจำวันของผู้คนมากมาย และแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่น่ากังวลของสกุลเงินดิจิทัลจากธนาคารกลางยุโรปที่กำลังจะมาถึง หรือที่หลายคนเรียกกันว่าสกุลเงิน “ดิจิทัลยูโร”
ในช่วงเวลาที่กระแสไฟฟ้าดับลง ระบบการสื่อสารอย่างโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตก็พลอยใช้งานไม่ได้ไปด้วย หลายพื้นที่ถูกตัดขาดจากการเชื่อมต่อ ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวหรือคนใกล้ชิดได้ แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ระบบการชำระเงินที่เราคุ้นเคย ทั้งบัตรเครดิต/เดบิต และตู้ ATM ต่างก็หยุดทำงานเช่นเดียวกัน
ใครที่มีเงินสดติดตัวอยู่บ้างก็ยังพอใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่สำหรับผู้ที่พึ่งพาการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก พวกเขากลับต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก
เหตุการณ์ดังกล่าว ตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากยุโรปหันมาใช้ ‘ยูโรดิจิทัล’ อย่างเต็มรูปแบบ ในวันที่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเช่นนี้ ประชาชนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่มากมายเพียงใด
และที่น่าสนใจคือ สเปนกลับเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังลดบทบาทของเงินสดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจำกัดการรับเงินสดของธุรกิจไม่เกิน 1,000 ยูโรต่อการทำธุรกรรม ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากธนาคารกลางยุโรปเองก็ระบุว่า ชาวสเปนยังคงใช้เงินสดในการชำระเงินมากถึง 57%
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสวีเดนเคยออกมาเตือนประชาชนให้สำรองเงินสดไว้ที่บ้านอย่างน้อยพอใช้ในชีวิตประจำวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เผื่อกรณีที่ระบบการชำระเงินล่ม เหตุการณ์ไฟฟ้าดับในสเปนและโปรตุเกสครั้งนี้จึงยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของเงินสดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ปัจจุบัน ‘ยูโรดิจิทัล’ ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 45% เท่านั้นที่แสดงความยินดีที่จะใช้งาน ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้สึกว่าระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น บัตรแบบไร้สัมผัส หรือ Apple Pay ก็สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ดีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความเสี่ยงที่ ‘ยูโรดิจิทัล’ อาจถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการใช้จ่ายของประชาชน เหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่นี้ จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แผนการผลักดัน ‘ยูโรดิจิทัล’ ของธนาคารกลางยุโรปเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
แม้แต่สกุลเงินดิจิทัลตัวอื่น ๆ อย่าง Stablecoin เองก็อาจเผชิญกับปัญหาเดียวกันหากเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ในขณะที่ Bitcoin ซึ่งมีความผันผวนของราคาสูงกว่า อาจไม่เหมาะสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าได้เช่นเดียวกับทองคำ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติ เช่น สงครามหรือภัยพิบัติที่ระบบธนาคารล่ม ไฟฟ้าดับ หรือข้อมูลการเงินสูญหายไป
การที่ Bitcoin ทำงานอยู่บนระบบ Blockchain แบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ซึ่งมีเครือข่าย Node รองรับอยู่ทั่วโลก จึงทำให้ข้อมูลธุรกรรมและสินทรัพย์ยังคงปลอดภัย แม้จะไม่สามารถเข้าถึงได้ในทันที แต่ตราบใดที่เรายังถือครอง Private Key อยู่ ในวันที่ระบบไฟฟ้ากลับมาเป็นปกติ Bitcoin ของเราก็จะยังคงอยู่ครบไม่เปลี่ยนแปลง
แม้ปัจจุบันไฟฟ้าที่สเปนและโปรตุเกสจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความรู้สึกที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับความสำคัญของเงินสดในหมู่ผู้บริโภค และอาจส่งผลให้อนาคตของ ‘ยูโรดิจิทัล’ ดูไม่สดใสนัก เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงจุดอ่อนสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฉุกเฉินที่ระบบดิจิทัลไม่สามารถทำงานได้
ประเด็นนี้จึงกลายเป็นคำเตือนสำคัญว่า ความหลากหลายในรูปแบบของการถือครองสินทรัพย์ ทั้งในรูปแบบเงินสด ทองคำ หรือแม้แต่คริปโทเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin อาจเป็นแนวทางที่สมดุลกว่าในการปกป้องมูลค่าในโลกที่เกิดวิกฤต