เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในทุก ๆ วันนี้ วิถีชีวิตในการจับจ่ายใช้สอยของเรานั้นได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงมาก หากเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน โดยเฉพาะในด้านของพฤติกรรมการใช้ตัวเลือกในการจ่ายเงิน ที่มีการนิยมทำผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น หากเทียบกับแต่ก่อนที่เงินสดและการทำธุรกรรมผ่านอิเล็คทรอนิคส์นั้นยังคงครองบ้านเมือง
กระแสนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ ในทุก ๆ ปี เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตถูกพัฒนาให้มีความเร็วมากขึ้น และราคาที่ถูกลง ส่งผลทำให้การพัฒนาในด้านซอฟต์แวร์สำหรับอีคอมเมิร์ซที่ถูกลง จึงทำให้การใช้เงินสดเริ่มลดลงสวนทางกับการทำธุรกรรมผ่านอิเล็คทรอนิคส์
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เราได้เห็นการถือกำเนิดขึ้นของ Bitcoin ที่ได้เปลี่ยนวิถีการใช้เงินของมนุษย์ไปตลอดกาล โดยเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องง้อตัวกลางอย่าง SWIFT หรือ Western Union อีกต่อไป สกุลเงินดิจิทัลนั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับ Bitcoin ในร้านกาแฟ, อาหาร หรือแม้แต่การหันมาใช้ระบบของเหรียญ XRP ของธนาคารใรการช่วยประมวลผลระหว่างประเทศ
แต่กระนั้น การอัตราการปรับตัวใช้เหรียญดิจิทัลหรือ adoption rate นั้นยังคงคลานไปอย่างช้า ๆ หากเทียบกับตอนที่อินเทอร์เน็ตและอีเมล์ออกมาใหม่ ๆ นั้น มันคงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็ยังมีบริษัทหลายแห่งได้มีแนวคิดในการนำเอาบัตรเดบิต มาผนวกกับเงินดิจิทัล เพื่อเป็นกุศโลบายในการทำให้ผู้คนปรับตัวใช้เงินดิจิทัลเร็วขึ้น
ผู้ใช้งานจะต้องทำการ “โหลด” เหรียญคริปโตเข้าไปในบัญชีผู้ใช้งานที่ทางผู้ให้บริการบัตรกำหนดไว้ และภายหลังจากนั้นผู้ใช้งานก็จะสามารถนำมันไปรูดเพื่อจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าได้ตามห้างร้านทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถนำมันไปกดเงินสดที่ตู้ ATM ทั่วไปได้อีกด้วย โดยจะมีการเดบิตออกจาก Bitcoin ในบัญชีของผู้ใช้งานตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน รวมถึงค่าธรรมเนียม
แม้ว่าจะมีการถกเถียงว่า จะไปเพิ่มขั้นตอนระหว่างกลางในการออกบัตรที่มาจากธนาคารให้ยุ่งยากมากขึ้นทำไม เพราะ Bitcoin นั้นก็สามารถส่งหากันได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีบัตรเดบิตคริปโตเหล่านี้ แต่ก็เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันมีร้านค้าที่รับสัญลักษณ์ Visa หรือ Mastercard มากกว่าสัญลักษณ์วงกลมสีส้ม ๆ ที่มีรูปตัว ₿ อยู่ตรงกลางเสียอีก
โดยหนึ่งในบริษัทนั้นก็คือ TenX หรือบริษัทที่คนคริปโตคงจะคุ้นหูกันดี ซึ่งพวกเขานั้นเป็นผู้ให้บริการบัตรเดบิตคริปโตที่ว่านี้ และในตอนนี้ทางทีมงานสยามบล็อกเชนนั้นก็ได้ทดสอบบัตรดังกล่าวแล้ว และก็ได้นำมันมารีวิวให้กับผู้อ่านที่สนใจกัน
บัตรนี้เหมาะกับใคร?
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุน หรือนักเทรด Bitcoin มือเก๋า หรือมือใหม่ที่กำลังเข้ามาในโลกแห่ง cryptocurrency บัตรนี้เหมาะสมกับทุกคนตราบใดที่มันยังมีสัญลักษณ์ Visa อยู่บนบัตร
ลองนึกภาพดูว่าคุณฝาก Bitcoin เข้าไปในบัญชีบัตร 5,000 บาท ทว่าในอีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง ราคาของ BTC ที่มีความผันผวนสูงนั้นได้เพิ่มขึ้นมาถึง 10% คุณจะมีวงเงินในบัตรเพิ่มขึ้นมาอีก 500 บาท
แต่ในทางกลับกัน หากราคาลดลงไป 10% ภายในระยะเวลาแค่วันเดียว คุณก็จะมีวงเงินที่ลดลงไป 500 บาทเช่นกัน
เมื่อคุณรับรู้ถึงจุด ๆ นี้แล้ว คุณจะมองมันเป็นความสวยงามของคริปโต หรือความเสี่ยง ก็สุดแล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคน ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าบัตรนี้เหมาะสำหรับทุกคนหากคิดในแง่มุมนี้
ทว่าหากคุณเป็นนักเทรดตัวยงที่ชอบเทรดทั้งบนตลาดมาร์จิน และตลาด spot และชอบถอนเอากำไรที่เทรดได้ออกมาใช้รายวัน บัตรดังกล่าวก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากว่าคุณไม่จำเป็นต้องแลกกลับเป็นเงิน fiat และรอการอนุมัติถอนเข้าธนาคารให้ยุ่งยากและเสียเวลา แต่สามารถโอนเหรียญไปเข้าในบัตร เพื่อจับจ่ายใช้สอยได้ทันที
รูปลักษณ์ Design
บัตรเดบิต Bitcoin ของ TenX นั้นใช้รูปลักษณ์สีดำที่ดูสะดุดตา ให้อารมณ์ความ prestige ที่หรูหรา ภายใต้สีดำนั้นมีการเล่นลวดลายทรงข้าวหลามตัดที่เป็นเส้นซ้อนกันหลาย ๆ เส้น และมีโลโก้ของบัตรแปะอยู่ตรงกลาง
ชื่อของผู้ถือบัตรนั้นจะอยู่ด้านล่างซ้าย ข้างใต้ชื่อจะมีสโลกแกนที่อ่านว่า “Join the revolution” หรือเข้าร่วมการปฏิวัติ (ปฏิวัติอะไรทางเราไม่ทราบ แต่คาดว่าน่าจะเป็นระบบการเงินแบบเก่า) ด้านล่างขวาโชว์สัญลักษณ์เจ้าแห่งการโอนเงินระดับโลก Visa อยู่หลา มุมซ้ายบนบ่งบอกชื่อแบรนด์ของ TenX บัตรดังกล่าวรองรับเทคโนโลยี paywave ของ Visa หรือ NFC ที่สามารถนำไปแตะที่เครื่อง PoS ที่รองรับ NFC ได้
ที่น่าสนใจคือบัตรดังกล่าวนิยมความเป็น minimalist ที่คงความสวยงามของบัตรแบบเรียบง่ายไว้ เนื่องจากว่าหมายเลขของบัตรนั้นถูกนำไปซ่อนไว้ข้างหลังบัตร นั่นหมายความว่าหากคุณต้องนำบัตรดังกล่าวไปสแกนเพื่อยืนยันตัวตนอะไรก็แล้วแต่ ให้ทำการปิดหมายเลข CV ไว้ด้วย มิฉะนั้นเงินของคุณอาจหายได้
รูปลักษณ์ package
เป็นที่คาดการณ์ว่า TenX นั้นถูกส่งมาจากทางฝั่งเยอรมัน เมื่อคุณได้รับจดหมายแล้วจ่าหน้าซองของผู้ส่งนั้นเผยให้เห็นชื่อของไปรษณีย์เยอรมัน ที่มีค่าธรรมเนียมที่ 3.7 ยูโร
เมื่อแกะซองออกมาแล้ว TenX จะต้อนรับคุณด้วยกล่องที่มีความหนาไม่มากนักสีดำ เป็น theme เดียวกับบัตร ตรงกลางสลักโลโก้ TenX
ต้องขออภัย ที่ทางเรารับจดหมายดังกล่าวในหน้าฝน กล่องจึงมีการเปียกเล็กน้อย
ด้านล่างของกล่องนั้นมีที่ให้ดึงเพื่อให้กลไกของบัตรในการโผล่ขึ้นมาทำงาน โดยเมื่อคุณดึงลงมานั้น บัตรจะค่อย ๆ เลื่อนโผล่ขึ้นมาด้านบน
ข้างล่างมีประโยคที่เขียนว่า
“สิ่งที่คุณกำลังเป็นเจ้าของอยู่ตรงหน้านี้คือสิ่งเล็ก ๆ สิ่งหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตแห่งความเป็น decentralized บัตรใบนี้แสดงถึงความหวัง และความฝันของสมาชิกในทีม TenX ทุก ๆ คน พวกเราได้ทำงานกันอย่างหนักด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาทุกหยดเพื่อให้ได้มาซึ่งจังหวะและเวลานี้ ด้วยบัตรใบนี้ คุณสามารถที่จะใช้จ่าย cryptocurrency ในชีวิตประจำวันของคุณได้ ทางเราหวังว่าคุณจะรู้สึกตื่นเต้นเหมือนที่เรารู้สึก!”
หากพลิกด้านหลังดูจะมีประโยคที่เขียนว่า “การปฏิวัตินั้นเริ่มต้นจากคุณ” และด้านล่างจะมีประโยคที่เขียนว่า “จากพวกเราทุกคนที่ TenX พวกเราขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากคุณ!”
เมื่อหยิบบัตรออกมา จะมีข้อความเขียนว่า “เปิดใช้งานบัตร TenX ตอนนี้ด้วยแอพของคุณ” และโลโก้ Google Play ของแอนดรอยด์และ App Store ของ iOS
แพคเกจดังกล่าวนั้นถือเป็นการต้อนรับที่ค่อนข้างอบอุ่น และทำให้รู้สึกตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดเนื้อที่ซองจดหมายได้อย่างดี อีกทั้งยังมีความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องของการต้อนรับผู้ใช้งานด้วยระบบการแสดงบัตรอีกด้วย
ขั้นตอนการสมัครเพื่อรับบัตร
TenX นั้นได้สร้างระบบ ecosystem สำหรับการสมัคร และออกบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่ต้องการจะเป็นเจ้าของบัตรดังกล่าวนี้จะต้องทำการดาวน์โหลดแอพ TenX มาบนโทรศัพท์มือถือก่อน โดยจะรองรับทั้ง Android และ iOS
ในบทความนี้ เราจะทำการทดสอบแอพของ TenX บนระบบแอนดรอยด์ด้วยโทรศัพท์แอนดรอยด์ที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือ Google Pixel 3 XL
เมื่อดาวน์โหลดแอพมาแล้ว พอกดเข้าแอพไปก็จะถูกต้อนรับด้วยโลโก้ของ TenX และปุ่ม login และสมัครสมาชิก ในที่นี้เราจะรีวิวด้วยการสมัครสมาชิกใหม่ ดังนั้นเราจะกดปุ่ม ‘Signup with email’
เมื่อกดไปแล้วก็จะมีให้เราเลือกประเทศที่อยู่อาศัย โดยเลือกประเทศไทย และติ๊กช่องว่าสัญชาติของเรานั้นเป็นสัญชาติเดียวกับประเทศที่อยู่อาศัย หากไม่ใช่ คุณก็สามารถเลือกตามสภาพความเป็นจริงของคุณในขณะนี้ เมื่อเลือกเสร็จแล้ว ก็ให้กดติ๊กช่อง confirm และกด Next
หลังจากนั้นก็ให้เราเลือกวันเดือนปีเกิด และก็ให้กดช่อง confirm และช่อง agree หลังจากที่ทำการอ่านข้อตกลงในการใช้งานที่เป็นภาษาอังกฤษหมดแล้ว จากนั้นก็กด Next
ในหน้านี้ คุณจะต้องทำการใส่ชื่อจริงและนามสกุลลงไปให้เป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นก็กด Next
เสร็จแล้วก็ให้เราใส่ email ของเราลงไป จากนั้นก็กด Next
จากนั้นเราก็จะต้องทำการตั้งค่ารหัสผ่าน เมื่อตั้งเสร็จแล้วก็กด Next
หลังจากนั้นระบบจะทำการส่งอีเมล์ไปหาเราเพื่อให้เรากดยืนยันความถูกต้อง
โดยให้เราเข้าไปในอีเมล์ของเราเพื่อดูว่า TenX ส่งมาหรือยัง เมื่อส่งมาแล้วก็ให้กดคำว่า Verify your email
หลังจากนั้นระบบก็จะบอกว่าอีเมล์ของเราได้ถูกยืนยันแล้ว
กลับมาที่แอพบนโทรศัพท์ ระบบจะเรียกร้องให้คุณใส่รหัส 2factor ซึ่งหากมือใหม่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร สามารถกดอ่านได้ที่นี่
เมื่อคุณได้ทำการติดตั้ง 2factor บนแอพเรียบร้อยแล้ว ระบบก็จะยืนยัน หลังจากนั้นก็ให้กด Okay
จากนั้นระบบก็จะให้คุณตั้งรหัสหมายเลขสี่ตัวเพื่อเอาไว้ใช้ในการล็อกอินเข้าแอพ นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกให้ใช้ลายนิ้วมือในการล็อกอินได้ด้วย หากโทรศัพท์ของคุณรองรับฟังค์ชันนี้
เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วระบบก็จะบอกว่าเราได้ทำการติดตั้ง passcode เสร็จแล้ว ให้กด Okay
หลังจากนั้นระบบก็จะให้เราเลือกสกุลเงินหลักของบัญชี ซึ่งคุณสามารถเลือกสกุลไหนก็ได้ตามความต้องการ ในที่นี้เราเลือกสกุล THB หรือเงินบาท
พอเลือกแล้ว เราจะเข้ามาที่หน้าหลักของแอพ
หน้าหลักของแอพนั้นจะมีฟังค์ชันที่สำคัญ ๆ อยู่ไม่กี่อย่าง ซึ่งประกอบด้วย
- Receive ใช้สำหรับรับเหรียญ Bitcoin มาเข้ากระเป๋า wallet ของ TenX
- Send ใช้สำหรับส่ง Bitcoin ออกจากกระเป๋า wallet ของ TenX
- Card ใช้สำหรับสั่งบัตรเดบิต Bitcoin จาก TenX
แต่ก่อนที่เราจะกดสั่งบัตรได้นั่น เราจะต้องทำการโหลดเหรียญ BTC เข้ามาในบัญชีของเราเสียก่อน โดย TenX นั้นจะมีค่าธรรมเนียมในการออกบัตรใหม่สำหรับชาวไทยอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ (ประมาณ 467.86 บาท) ซึ่งจะรวมค่าจัดส่งแล้ว นั่นหมายความว่าคุณจะต้องโอน Bitcoin เข้ามาให้พอดีกับจำนวนค่าออกบัตรใหม่นี้ ซึ่งหากอ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันนี้ 1 BTC จะมีราคาอยู่ที่ 253,405 บาท ดังนั้นคุณจะต้องโอนเข้ามาห้ามต่ำกว่า 0.0018 BTC
เมื่อกด Receive แล้ว ระบบก็จะแสดง QR code และที่อยู่ wallet Bitcoin ของคุณ ให้คุณทำการโอน BTC เข้ามาใน address ดังกล่าว
ทางเราได้ทดสอบโอนเข้ามาประมาณ 0.00761611 BTC หรือประมาณ 1,880 บาท โดยเมื่อ BTC เข้ามาในแอพแล้ว ก็จะมีการแสดงจำนวน Funds Receive ด้านล่าง
และหากกดเข้าไปดู ก็จะมีการบอก timestamp วันเวลาที่โอนเข้ามา พร้อมทั้ง tx ID ที่ถูกบันทึกไว้บน blockchain ของ Bitcoin อีกด้วย
หลังจากนั้นเราจะทำการทดสอบสั่งบัตรเดบิต โดยให้กดคำว่า Card เมื่อกดไปแล้ว ระบบจะบังคับให้เราทำการ KYC หรือยืนยันตัวตนและที่อยู่ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งเราจะต้องถ่ายบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและหลัง รวมถึงใบสลิปแจ้งหนี้ที่มีชื่อเราและที่อยู่ของเราอยู่บนใบ, จากนั้นให้ใส่ชื่อ ที่อยู่ และทำการถ่ายรูปเซลฟี่ตามที่แอพเรียกร้อง
หลังจากกดยืนยันตัวตนไปแล้ว เราจะต้องรอให้มีการอนุมัติการยืนยันตัวตนก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน
ภายหลังจากที่ได้รับการยืนยันตัวตนแล้ว คุณก็จะสามารถกดสั่งบัตรได้ โดยหากอยู่ที่หน้าหลักนั้น ตรงมุมขวาบนของแอพก็จะมีเขียนว่า “Get your card now!” ให้เรากดเข้าไป หลังจากนั้นก็จะมีหน้าต่างมาต้อนรับเรา พร้อมทั้งบอกถึงสรรพคุณของบัตร ให้กด Get a card now
หลังจากนั้นแอพก็จะบอกให้เรายืนยันข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชื่อและที่อยู่ หากไม่ถูกต้องก็ให้กด Edit my info แต่หากถูกต้องครบถ้วนก็ให้กด Confirm
สำหรับบัตรใบนี้เป็นบัตรที่ทางเราใช้เพื่อการรีวิว ดังนั้นบริษัท TenX จึงได้ส่งโค้ด voucher พิเศษมาให้บริษัทสยามบล็อกเชนเพื่อสามารถออกบัตรได้โดยไม่ต้องเสีย 15 ดอลลาร์ แต่สำหรับผู้ใช้งานที่ไม่มีโค้ดนั้นจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการออกบัตรใหม่ที่ 15 ดอลลาร์
หลังจากนั้นก็ให้กด Pay with voucher (หรือ BTC ในกรณีที่ใช้ Bitcoin)
ระบบก็จะให้เราทำการยืนยันข้อมูลทั้งหมด ซึ่งเป็นครั้งรองสุดท้ายก่อนทำการกดสั่ง หากไม่มีอะไรผิดพลาดก็กด Place order
และครั้งสุดท้าย เพื่อให้คุณยืนยันในการกดสั่งบัตร ก็ให้กด Confirm
เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการกดสั่งบัตร หลังจากนั้นแอพก็จะแสดงหน้าต่างสถานะของการออกบัตรของคุณ ซึ่งในที่นี้ทางเราได้กดสั่งบัตรไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา
ข้อเสียอย่างหนึ่งของ TenX ก็คือระยะเวลาในการออกบัตรที่ค่อนข้างนานเป็นเดือนกว่าผู้ใช้งานจะได้รับบัตร ซึ่งจากภาพด้านล่างนี้เราจะเห็นได้ว่าทาง TenX จะใช้เวลาถึง 14 วันเพื่อคอนเฟิร์มออเดอร์หลังจากที่กดสั่งไปแล้ว และใช้เวลาอีก 9 วันกว่าจะเริ่มส่งบัตร และบัตรดังกล่าวก็มาถึงทีมงานสยามบล็อกเชนในวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งรวมแล้วก็เกือบหนึ่งเดือนพอดี
เมื่อคุณรับได้บัตรมาแล้ว (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเวลาหนึ่งเดือนพอดี) ก็ให้เข้าไปในแอพและกดช่อง Card จากนั้นก็ให้กดคำว่า Activate ด้านล่าง จากนั้นแอพก็จะให้คุณใส่รหัส 4 ตัวหลังสุดของบัตร ให้คุณหันไปดูด้านหลังของบัตร และนำเอาเลขสี่ตัวท้ายไปกรอกในแอพ
จากนั้นคุณก็จะทำการเปิดใช้งานบัตรอย่างเสร็จสมบูรณ์
ซึ่งเมื่อเข้ามาในหน้าต่าง Card อีกครั้ง ระบบจะถามให้คุณทำการใส่ pin หรือสแกนลายนิ้วมือก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย โดยในตอนนี้หน้าต่าง card ได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยคุณจะได้เห็นบัตรของคุณที่มีชื่อแปะอยู่ และปุ่ม Show pin เพื่อแสดงพิน (ห้ามให้ใครรู้เด็ดขาด) รวมถึงปุ่มอายัดบัตร และยกเลิกบัตรด้านล่าง
การนำไปใช้กดเงินสดที่ตู้ ATM
บัตรเดบิต Bitcoin ดังกล่าวนั้นยังสามารถนำไปใช้กดเงินสดได้ที่ตู้ ATM ทั่วไปได้อีกด้วย โดยขั้นตอนในการกดนั้นก็ไม่ต่างจากบัตรเดบิตหรือเครดิตทั่ว ๆ ไปนัก ทว่าการนำบัตรดังกล่าวเพื่อไปกดเงินสดนั้น ทางเราไม่แนะนำอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมสองต่อ ซึ่งก็คือให้กับทางธนาคารและทาง TenX และมันแพงมาก ๆ ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น (เว้นแต่ว่าคุณจะรู้สึกใจดี)
สำหรับวิธีการกดเงินนั้น ขั้นแรกให้คุณเดินหาตู้ ATM ใกล้ตัวที่มีสัญลักษณ์ Visa อยู่ (ส่วนใหญ่มักจะได้ทุกธนาคาร) เมื่อหาเจอแล้วก็ให้ทำการสอดบัตรเข้าไป
เมื่อทำการสอดบัตรเข้าไปแล้ว ก็ให้คุณใส่รหัส pin สี่หลัก ซึ่งสามารถกดดูได้จากในแอพตรงที่ระบุไว้แล้วด้านบน เมื่อใส่เสร็จแล้วก็เลือกจำนวนเงินที่จะถอน ในที่นี้ทางเราได้ทดสอบถอน 500 บาท แต่ก่อนที่จะถอน ตู้จะเตือนเราเรื่องค่าธรรมเนียม ซึ่งในที่นี้จะสูงถึง 220 บาท หากต้องการทำรายการต่อก็ให้กด ยืนยัน
เมื่อกดยืนยันแล้ว เงินก็จะถูกถอนออกมาจากบัญชี Bitcoin ของคุณ
และนี่ก็คือการกดเงินสดด้วยบัตร TenX
หากคุณลองเข้าไปดูในแอพ ตรงช่อง Recent transactions ด้านล่างจะพบว่ามีรายการกดเงินออกจากตู้ ATM ที่จะเกิดขึ้นแบบ real-time โดยจำนวนเงินที่ถูกหักออกไปนั้นอยู่ที่ 720 บาท ซึ่งมาจากจำนวนที่ถอน 500 บาทกับค่าธรรมเนียม 220 บาท
จุดที่น่าสนใจคือ หากกดเข้าไปดูข้างในจะสามารถดูรายละเอียดของการทำธุรกรรมดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลา, อัตราแลกเปลี่ยน และที่สำคัญ ค่าธรรมเนียมในการกดเงินที่เผยให้เห็นว่าเราจ่ายให้ TenX ไปถึง 101.39 บาท นั่นแปละว่าอีกประมาณเกือบ 120 บาทนั้น เราจ่ายให้ธนาคารไป ซึ่งถือว่าแพงมาก
นอกจากนี้ทาง TenX จะทำการส่งอีเมล์เพื่อมายืนยันการทำธุรกรรมบนบัตรของคุณอีกด้วย
หากคุณไปเที่ยวต่างประเทศ ทางสยามบล็อกเชนแนะนำให้คุณเปลี่ยนสกุลเงินเป็นของประเทศนั้น ๆ เพื่อความสะดวกและง่ายในการติดตามการทำธุรกรรม
การนำไปใช้จ่ายจริง
สำหรับการนำไปใช้เพื่อจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้านั้น ทางทีมงานสยามบล็อกเชนได้ลองไปทดสอบซื้อโกโก้เย็นแบบง่าย ๆ ที่ร้านกาแฟชื่อดัง Starbucks
โดยตอนเข้าร้านนั้นก็บอกพนักงานว่าขอเลือกที่จะจ่ายด้วยบัตรเดบิตตามปกติ
โดยปกติแล้วร้านส่วนใหญ่จะมีเครื่อง PoS ที่สามารถอ่านชิพตรงบัตรเดบิตได้ทันที ทว่าในบางร้านที่ไม่มีนั้นก็จะต้องใช้วิธีรูดเอาตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม บัตรของ TenX นั้นยังไม่รองรับการใช้ระบบใส่ Pin เวลาซื้อสินค้า ดังนั้นเราจึงต้องเซ็นต์บนใบสลิปเอา
เมื่อชำระเสร็จแล้วลองสังเกตที่ใบสลิปดูจะพบว่าเราถูกชาร์จแบบเป็นเงินบาท ตามจำนวนของสินค้าแบบพอดี
และหากเข้าไปดูในแอพนั้นก็จะพบว่าจำนวนเงินที่จ่ายไปตรงกับราคาสินค้าที่ถูกนำไปรูดซื้อสินค้านั้น ๆ
นอกจากนี้หากกดเข้าไปดูรายละเอียดข้างในจะพบว่าค่าธรรมเนียมในการรูดซื้อสินค้าเขียนว่า “No transaction fee” หรือไม่มีค่าธรรมเนียมในการซื้อสินค้านั่นเอง
และนี่ก็คือการซื้อสินค้าด้วยบัตรเดบิตคริปโต TenX
นั่นแปลว่าหากคุณนำมันไปใช้ช็อปซื้อสินค้าออนไลน์อย่างเช่นตั๋วเครื่องบิน, เครื่องสำอางค์ หรือรูดซื้อสินค้าที่ต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนก็จะยังคงเป็นระหว่างเงินบาทกับ BTC เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ค่าเงินกำลังลดลง
ค่าธรรมเนียม
- ออกบัตรใหม่: ประมาณ 470 บาท
- กดเงินสด: 220 บาท
- รูดซื้อสินค้า: 0 บาท
- บำรุงรักษารายปี: ประมาณ 312 บาท (ประมาณเดือนละ 26 บาท)
- ค่า Spread หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ TenX คิดเพิ่ม: ประมาณ 2.4%
ค่า Spread ของอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบัตรดังกล่าวจะไม่มีค่าธรรมเนียมในการรูดซื้อสินค้า แต่ทาง TenX นั้นก็ยังคงเลือกที่จะสร้างรายได้ผ่านการขึ้นค่าอัตราแลกเปลี่ยนหรือ spread นั่นเอง โดยทางเราได้ทำการตรวจสอบและเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนของบน TenX กับบนเว็บกระดานซื้อขาย Bx จะพบว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสองเว็บนั้นห่างกันดังนี้
หากลองดูภาพด้านบนที่ถูกแคปเจอร์มาในเวลาเดียวกันจะพบว่าราคาซื้อขายล่าสุดบน Bx นั้นจะอยู่ที่ 287,239.88 บาท ในขณะที่ทาง TenX จะรับแลก BTC ไปเป็นเงินบาทเพื่อรูดซื้อสินค้าที่ราคาแค่ 280,700.25 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนต่างที่สูงถึง 6539.63 บาท หรือประมาณ 2.4% โดยหากคุณคิดจะโอนเหรียญเข้ามาใช้ที่ 1 BTC ทางเราไม่แนะนำอย่างยิ่ง
จำนวนเหรียญคริปโตที่รองรับ
บัตรของ TenX นั้นรองรับเหรียญ Bitcoin, Ethereum และ Litecoin เพียงแค่ 3 เหรียญเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังเป็นจุดอ่อนที่ทางบริษัทควรพิจารณาเพิ่มเหรียญอื่น ๆ อย่างเช่น stablecoin เข้ามาในอนาคต สาเหตุหลัก ๆ นั้นเป็นเพราะว่าราคาของ Bitcoin มีความผันผวนมาก และทั้งสองเหรียญนี้ก็ยังมีราคาเกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของ BTC หากขาลงเกิดขึ้นก็จะทำให้ผู้ใช้งานนั้นไม่กล้าโหลดเหรียญเข้าไปในบัตรทีละเยอะ ๆ หรือบางรายอาจต้องโอนออกจากบัตรเลย เพื่อป้องกันการสูญเสียมูลค่า ซึ่งนั่นก็คงจะส่งผลทำให้มีผู้ใช้งานบัตรน้อยลง
โดยหากผู้ใช้งานต้องการที่จะเพิ่มตัวเลือกเหรียญอื่น ๆ นั้นก็สามารถที่จะกดที่ปุ่มเมนูมุมซ้ายบนได้ หลังจากนั้นก็จะมีเมนูยื่นออกมา และให้คุณเลือกคำว่า My wallet
จากนั้นก็จะมีเหรียญให้เลือกตามลิสต์ที่เห็นด้างล่างนี้ โดยหากกดเพิ่มเหรียญเข้าไปในบัญชีแล้ว ก็จะไม่สามารถเอาออกได้อีกต่อไป
หาก TenX พิจารณาเพิ่มเหรียญอื่น ๆ เข้ามาในบัตร โดยเป็นเหรียญที่มีความเกี่ยวข้องกับราคาของ Bitcoin น้อย อย่างเช่น XRP หรือแม้แต่ stablecoin อย่างเช่น USDT, PAX, USDC และอื่น ๆ ก็จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถสลับแลกเป็นเหรียญอื่นเพื่อหนีความผันผวนของราคาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกนอก ecosystem ของ TenX
ลิมิทในการใช้จ่ายและกดเงิน
บัตรเดบิตคริปโตของ TenX นั้นจะมีลิมิทหรือวงเงินที่ทางบัตรอนุญาตให้ใช้จ่ายซื้อสินค้าอยู่ ซึ่งข้อมูลจะเป็นไปตามนี้
- จำกัดวงเงินรายวัน: 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 228,515 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 50 ครั้งต่อวัน
- จำกัดวงเงินรายสัปดาห์: 15,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 342,772 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 350 ครั้งต่อสัปดาห์
- จำกัดวงเงินรายเดือน: 25,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 571,287 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 1,500 ครั้งต่อเดือน
- จำกัดวงเงินรายปี: 150,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,427,836 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 18,000 ครั้งต่อปี
ส่วนลิมิทในการกดเงินนั้นจะอยู่ที่
- จำกัดวงเงินรายวัน: 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 34,284 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน
- จำกัดวงเงินรายสัปดาห์: 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 34,284 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 10 ครั้งต่อสัปดาห์
- จำกัดวงเงินรายเดือน: 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 34,284 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 10 ครั้งต่อเดือน
- จำกัดวงเงินรายปี: 18,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 411,377 บาท) ทำธุรกรรมได้ไม่เกิน 100 ครั้งต่อปี
ดูสรุปและคะแนนด้านล่าง
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น