ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารที่เป็นพาร์ทเนอร์กับผู้สร้างเหรียญอันดับ 4 ของโลก XRP ได้ออกมาเตือนลูกค้าของพวกเขาให้ระวังมิจฉาชีพที่ใช้แอพ LINE เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวกับบัญชีธนาคารเพื่อขโมยเงินในภายหลัง
โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์หลักของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ได้มีการออกมาเตือนให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่จะมีการปลอมแปลงเป็นบัญชีผู้ใช้งานของธนาคารปลอมเพื่อทำการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ อาทิเช่นชื่อ นามสกุล เลขบัญชีของธนาคาร และวันเดือนปีเกิด รวมถึงเลขบัตรประชาชนอีกด้วย
มิจฉาชีพใน LINE
ทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้แนะนำถึงข้อควรระวังที่ผู้ใช้งานนั้นจะต้องระวังเมื่อจู่ ๆ มีผู้ที่ใช้บัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ส่งข้อความส่วนตัวมาหา โดยหลัก ๆ นั้นประกอบไปด้วย
- LINE ของปลอม จะทักเข้าไปหาลูกค้าก่อน โดยผู้ใช้จะเห็นคำว่า เพิ่มเพื่อน อยู่ด้านบน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้กับแอคเคาท์นี้ยังไม่ได้เป็นเพื่อนกัน ส่วน LINE จริง ผู้ใช้จะต้องเป็นคนเพิ่มเพื่อนเอง ซึ่ง LINE จริงนี้จะไม่สามารถทักเข้าไปหาลูกค้าก่อนได้เลย
- LINE ของปลอม จะไม่มีเครื่องหมาย โล่สีเขียว หน้าชื่อแอคเคาท์ ในขณะที่ LINE ของจริง จะมี โล่สีเขียว หรือสีน้ำเงิน วางอยู่หน้าชื่อแอคเคาท์โดดเด่นชัดเจน เพื่อแสดงว่าเป็นบัญชีทางการ หรือบัญชีที่ได้รับการรับรองจาก LINE ประเทศไทยแล้ว สามารถเชื่อถือได้
- LINE ของปลอม จะพูดคุยโต้ตอบแบบคนจริงๆ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่จะ ไม่มีการให้เจ้าหน้าที่ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ก็จะพบว่า มีการสะกดคำแบบผิดๆ ใช้คำห้วนๆ ไม่เหมือนภาษาที่เจ้าหน้าที่ธนาคารใช้กับลูกค้าจริงๆ
- LINE ของปลอม จะมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า รวมถึงข้อมูลของธนาคารอื่นๆ ที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ เช่น มีบัญชีของธนาคารอะไรบ้าง มีเงินในแต่ละบัญชีจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น จากนั้นจะหลอกให้ลูกค้าโอนเงินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อที่จะได้โอนเข้าบัญชีของมิจฉาชีพทั้งหมดในครั้งเดียว
ปัจจุบัน ระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นมีความแข็งแกร่งและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลทำให้กลุ่มมิจฉาชีพนั้นไม่สามารถใช้วิธีการด้าน brute force แบบเดิม ๆ เพื่อเจาะรหัสเข้าระบบของธนาคารได้อีกต่อไป แต่ทว่าพวกเขาเริ่มหันมาใช้เทคนิคการหลอกล่อเจ้าของบัญชีที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น
โดยหนึ่งในวิธีการที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มมิจฉาชีพคริปโตนั้นก็คือการทำการ phishing หรือการหลอกล่อให้ผู้ใช้งานคลิกลิงค์แปลก ๆ ที่จะมีการดาวน์โหลดไฟล์ malware เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ รวมถึงการปลอมแปลงเว็บไซต์ปลายทางเพื่อดักเอารหัสผ่าน และอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้หนึ่งในวิธีการที่นิยมไม่แพ้กันเลยก็คือการทำ SIM swap โดยมิจฉาชีพจะทำการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่ออย่างเช่นวันเดือนปีเกิด, เลขบัตรประชาชน เพื่อนำเอาไปใช้หลอกลวง operator ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อให้ส่ง SIM ใหม่ไปให้มิจฉาชีพ และมิจฉาชีพเหล่านั้นก็จะนำเอา SIM ดังของเหยื่อไปใช้รับ SMS otp เพื่อขโมยเงินหรือเหรียญคริปโตจากบัญชีการเงินที่ถูกผูกไว้กับ SIM นั้น ๆ
โดยเคสที่เพิ่งเกิดขึ้นจนกลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกล่าสุดก็คือกรณีของเด็กชาย Ellis Pinsky ที่เคยขโมย Bitcoin มูลค่ากว่า 700 ล้านบาทจากมหาเศรษฐีผ่านการทำ SIM swap มาได้
ตัวอย่างดังกล่าวนี้ถือเป็นตัวอย่างที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าคุณนั้นไม่ควรที่จะไว้ใจใครง่าย ๆ และอย่าพยายามให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครไปหากไม่แน่ใจว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องจริง ๆ หรือไม่
สำหรับไทยพาณิชย์นั้นเป็นธนาคารที่ร่วมมือกับทาง Ripple เมื่อไม่นานมานี้ โดยพวกเขาได้นำเอาเทคโนโลยี Blockchain ของทาง Ripple มาใช้ช่วยประมวลผลการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ และเงินนั้นสามารถไปถึงปลายทางได้ในแบบ real-time อีกด้วย