หน่วยงานวิจัย Chainanalysis คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีเหรียญ Bitcoin ที่สูญหายอย่างไม่สามารถกู้คืนมาได้กว่า 20% หรือประมาณ 3.8 ล้านเหรียญ BTC โดยบทความนี้จะกล่าวถึงสิ่งที่เราต้องระวังไม่ให้สูญเสียเหรียญอันมีค่าไปกับช่องทางเหล่านี้
นักจารกรรมข้อมูลคริปโต
ปริมาณเหรียญ Bitcoin ที่สูญหายโดยส่วนใหญ่นั้นมาจากนักจารกรรมข้อมูล (แฮกเกอร์) ซึ่งครั้งที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม Mt.gox ในปี 2018 และล่าสุดกับทางแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตสัญชาตินิวซีแลนด์ Cryptopia ที่สูญเสียเหรียญในการครอบครองไปถึง 9.4% ฉะนั้นแล้วนักลงทุนจึงควรศึกษาหาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนที่มีความปลอดภัยก่อนเข้าทำการลงทุน
อีเมลปลอม (Phishing Scam)
รูปแบบการต้มตุ๋นดั้งเดิมตั้งแต่ยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งโด่งดัง โดยนักต้มตุ๋นจะสร้างอีเมลปลอมที่อ้างอิงจากบุคคลหรือองค์กรเพื่อหลอกเอาไอดี และพาสเวิร์ด ผ่านเว็บไซต์เก็บข้อมูลปลอม ๆ ขึ้นมา โดยปัจจุบันนั้นจะพบเห็นการปลอมเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนหรือธนาคารอยู่เป็นประจำ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการตรวจสอบชื่อผู้ส่งอีเมล และ ID Address ของเว็บไซต์ว่าถูกต้องหรือไม่
Ponzi Schemes
รูปแบบนี้เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปกับการหลอกลวงแบบขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ โดยจะสังเกตได้ง่าย ๆ จากการให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง อาทิเช่น ฝากเหรียญแล้วจะได้ผลตอบแทนสูงถึง 2% ต่อวัน หรือ 14% ต่อสัปดาห์ เป็นต้น
แอปฯ กระเป๋าเงินดิจิทัลปลอม
รูปแบบการต้มตุ๋นนี้จะพบเห็นได้บ่อยบน App Store ซึ่งนักต้มตุ๋นจะทำการสร้างแอปฯ ที่คล้ายคลึงแอปฯ ดั้งเดิมขึ้นมา และจะทำการขโมยเงินของผู้ใช้งานไป โดยอาจจะทำให้เงินที่เราฝากเข้าไปไม่ถึงบัญชี หรือทำการขโมยข้อมูลบัญชีตั้งแต่การลงชื่อเข้าใช้งานเลยก็เป็นได้ ผู้ลงทุนจึงควรตรวจสอบแอปฯ ก่อนทำการติดตั้งเพื่อใช้งานเสมอ
ปลอมเป็นคนดัง (Catfishing)
เป็นรูปแบบของการปลอมตัวเป็นคนดังหรือผู้ที่มีชื่อเสียง ดังตัวอย่างการปลอมตัวเป็น “คุณตัน อิชิตัน” ที่เคยถูกนักต้มตุ๋นแอบอ้างชื่อ โดยการต้มตุ๋นนี้เราจะพบเห็นได้บนสื่อ Social Media ทั่วไป โดยจะปลอม Social Media เป็นคนดังแล้วแจ้งว่าหากเราฝากเหรียญเข้าบัญชีเขา เขาจะโอนกลับคืนมาสองเท่าในภายหลัง ผู้ลงทุนจึงไม่ควรโอนเงินให้บุคคลอื่นโดยไม่มีความจำเป็น
Malware
โปรแกรมที่มักจะแฝงมากับโปรแกรมแปลก ๆ ใน App store หรือเว็บโหลด Bittorrent ทั่วไป อาจสามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้งานได้ ผู้ลงทุนจึงไม่ควรเข้าเว็บไซต์ที่สุ่มเสี่ยงหรือติดตั้งโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่ไม่รู้จักซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาไวรัส หรือ Malware ได้ อีกทั้งยังควรสแกนหาไวรัสอย่างสม่ำเสมอด้วย
ICO ปลอม
เป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับ Catfishing และ Phishing Scam ซึ่งจะแนบเนียนกว่า โดยจะทำการเปิดตัวเป็นโปรเจคใหม่ ๆ ที่จะให้ผลตอบแทนอย่างอย่างต่อเนื่องหากเราได้ทำการฝากเหรียญเข้าไป แต่สุดท้ายโปรเจคกลับถูกพับหรือหายไปเฉย ๆ อาทิเช่น Centra ที่เคยถูกแนะนำโดยคนดัง Floyd Mayweather ซึ่งการหลอกลวงประเภทนี้สามารถป้องกันได้โดยที่นักลงทุนจะต้องทำการศึกษาระบบการลงทุนและการทำกำไร เพื่อจะได้เข้าใจว่าเม็ดเงินที่เป็นผลตอบแทนมาให้เรานั้นมาจากที่ใดกันแน่
การปั่นและทุบราคาก่อนสลายตัวเหรียญ
เป็นรูปแบบของเหรียญคริปโตที่เกิดขึ้นใหม่และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะสิ้นราคาลงในระยะเวลาสั้น ๆ โดยนักต้มตุ๋นมักจะเป็นเจ้าของโปรเจคเหรียญนั้น ๆ ซึ่งจะทำการขายเหรียญทั้งหมดที่ตนเองถืออยู่เพื่อเอากำไร ส่งผลให้โปรเจคนั้น ๆ ล่มไปและเหรียญเหล่านั้นสูญเสียมูลค่าไปอย่างสิ้นเชิง
ความประมาท
การส่งเหรียญคริปโตผิด Address นั้น ไม่สามารถกู้คืนได้ง่ายแบบเดียวกับธนาคาร ผู้ลงทุนจึงควรตรวจสอบข้อมูลก่อนจะทำการโอนเหรียญไปมาอยู่เสมอ
แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้ามคืน
แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนที่ไม่มีใครรู้จักโผล่ขึ้นมาและหายไปในระยะเวลาอันสั้นพร้อมกับเงินของผู้พลั้งเผลอไปลงทุนด้วย ผู้ลงทุนจึงควรระวังและลงทุนกับแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่าแพลตฟอร์มที่ไม่มีคนรู้จักและไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้
การโจรกรรม Sim มือถือ
การที่ถูกขโมยหมายเลขโทรศัพท์ไปอาจทำให้นักต้มตุ๋นเข้าถึงบัญชีที่ผูกกับเบอร์โทรศัพท์ไว้ได้ ซึ่งล่าสุดได้มีข่าวว่านาย Xzavyer Narvaez แอบสลับ Sim มือถือของผู้เสียหายและขโมย Bitcoin ไปได้สูงถึง 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ
โฆษณาขายของหลอกลวง
นักต้มตุ๋นมักจะทำการเสนอขายสินค้าที่เคลื่อนย้ายได้ลำบากเช่น รถยนต์ หรือห้องใน Apartment โดยจะรับค่าใช้จ่ายเป็นสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ ซึ่งหลังจากผู้เสียหายได้โอนเงินไปแล้วจะไม่สามารถติดตามตัวได้เลย ผู้ลงทุนจึงควรระวังว่าการซื้อขายสินค้าหลาย ๆ ชนิดจะต้องมีการทำการเอกสารซื้อขายแลกเปลี่ยน และควรซื้อขายผ่านเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้
รหัสความปลอดภัยที่สูญหาย
CEO และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน QuadrigaCX ได้เสียชีวิตลง ทำให้เหรียญมูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูญหาย เนื่องจากเขาไม่ได้ส่งมอบรหัสความปลอดภัยของเขาให้กับใครเลย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ผู้ลงทุนอาจต้องมีการบันทึกข้อมูลเพื่อที่จะส่งต่อให้กับคนใกล้ชิดด้วยหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น
อุปกรณ์เก็บข้อมูลที่ชำรุดหรือสูญหาย
ผู้ลงทุนที่เก็บข้อมูลไวใน Hardware Wallet หรือเก็บ Seed ไว้ภายในเครื่องหรืออุปกรณ์ Flash Drive แล้วเกิดตกหล่น ชำรุดหรือสูญหาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเหรียญที่เก็บไว้ได้
Ransomware
เช่นเดียวกับปัญหาอุปกรณ์เสียหาย เพราะ Ransomware จะนำไฟล์ของเราไปเข้ารหัสทำให้ ไฟล์นั้นไม่สามารถเปิดอ่านได้อย่างปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ Hardware Wallet หรือ Seed ของผู้ใช้งานเสียหายหรือสูญหายได้
ที่มา: coininsider