สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กำลังมีแนวคิดที่จะออกกฎเกณฑ์เพื่อมากำกับการระดมทุนผ่าน Initial Coin Offerings (ICO) ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะสามารถออกมาปรับใช้ได้ในช่วงไตรมาสที่สองของปีหน้านี้
อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับของวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคมนั้น นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักกทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าทางทีมงานกำลังจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการร่างกฎเกณฑ์ดังกล่าว โดยจะมีขึ้นภายในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ (อ้างอิงจากนางทิพยสุดาล่าสุด) และเมื่อผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกๆฝ่ายแล้วนั้น ก็จะออกมาประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ทันทีในปีหน้า ซึ่งทาง ก.ล.ต.จะกำหนดให้ไอซีโอที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์อีกประเภทตาม พ.ร.บ.กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ
นางทิพยสุดายังได้กล่าวอ้างอิงถึงการประกาศแบน ICO ของรัฐบาลจีนเนื่องจากว่าในช่วงนั้นมีบริษัทสตาร์ทอัพต้มตุ๋นหลอกลวงเกิดขึ้นมามากจึงทำให้รัฐบาลแดนมังกรต้องออกมาลงดาบ แต่สำหรับในไทยนั้นเธอมองว่ายังมีไม่มากนัก จึงต้องรีบทำการออกกฎเกณฑ์มาช่วยกำกับไว้ก่อน เพื่อเป็นเสมือนด่านผู้ตรวจสอบว่า ICO ตัวนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ และจะผ่านเกณฑ์หรือไม่
“จีนห้ามทำเลยเพราะช่วงที่ไม่ห้ามเกิดการหลอกลวงมาก จึงต้องเขียนเกณฑ์มากำกับใหม่ ส่วนไทยยังมีไม่มากจึงยังไม่ห้าม แต่ต้องรีบออกเกณฑ์ มองว่าการทำไอซีโอต้องผ่านหน่วยงานตัวกลาง (พอร์ทัล) ที่ ก.ล.ต.เห็นชอบ ช่วยคัดกรองได้ว่าข้อเสนอขอระดมทุนที่ออกมาสมเหตุสมผลหรือไม่ ตรวจสอบได้ว่าสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำตรงตามที่ประกาศระดมทุนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีทีมของ นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทค เสนอตัวหนึ่งทีม”
กล่าวโดยนางทิพยสุดา
ที่น่าสนใจคือ ถ้าหากทำสำเร็จนั้นประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการออกกฎมาควบคุมการระดมทุนแบบดังกล่าว ในขณะที่ประเทศอื่นๆในเอเชียอย่างเกาหลีใต้และจีนนั้นเคยประกาศแบนอย่างถาวรไปแล้ว
ส่วน ICO ที่ไม่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์นั้น ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่จะออกมาในปีหน้านี้
กำหนดเพดานเงินลงทุน
นางทิพยสุดาในช่วงแรกที่เปิดรับความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น จะมีการจำกัดวงเงินลงทุนสำหรับ ICO ที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งสำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลนั้นจะต้องไม่เกิน 3 แสนบาทต่อโครงการ โดยตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่าการระดมทุนแบบ crowdfunding ในปัจจุบัน ซึ่งจะอยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อโครงการ
ดูเหมือนว่าท่าทีของผู้ออกกฎหมาย (regulator) ในประเทศไทยนั้นค่อนข้างที่จะเป็นบวกกับการระดมทุนดังกล่าว โดยในรายงานนั้นยังมีการอ้างอิงถึง น.ส.อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายฟินเทค ก.ล.ต. ที่กล่าวว่าการระดมทุนแบบดังกล่าวนั้นตอบโจทย์บริษัทสตาร์ทอัพแบบฟินเทค แต่ทว่าก็ต้องมีการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้มีผู้ไม่หวังดีสามารถนำไปใช้หลอกลวงหรือฉ้อโกงได้ โดยเธอกล่าวว่า
“ไอซีโอเป็นกลไกที่มีศักยภาพใช้ระดมทุน ตอบโจทย์ผู้เริ่มต้นธุรกิจบนพื้นฐานเทคโนโลยี (สตาร์ทอัพ) ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อสร้างธุรกิจที่ทำจริงได้ จึงต้องดูแลไม่ให้ใครนำช่องทางนี้ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เพราะหากมีการหลอกลวงเกิดขึ้นมากแล้ว ก.ล.ต.ไม่เข้าไปทำอะไรจะนำความเสียหายมาให้ แต่หากดูแลดีๆ ไอซีโอจะเป็นประโยชน์ที่สุด”
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
การระดมทุนผ่าน ICO คือการที่บริษัทสตาร์ทอัพเปิดตัวโปรเจคใหม่และ ออกเหรียญ cryptocurrency ออกมาเพื่อขายให้กับผู้ที่สนใจในโปรเจ็คนั้นๆ ซึ่งเหรียญโทเค็นที่บริษัทออกมานั้นส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนเทคโนโลยี ERC 20 ของ Ethereum ผู้ที่ซื้อเหรียญนั้นๆมาสามารถนำไปขายทอดตลาดแลกเป็น Bitcoin หรือเหรียญอื่นๆ หรือแม้แต่เก็งกำไรก็ทำได้เช่นกัน
ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดของ ICO มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2,670 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 88 หมื่นล้านบาท อ้างอิงจาก CoinDesk
ภาพจากโพสต์ทูเดย์
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น