<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

เหรียญคริปโตจะช่วยประเทศที่ประสบภาวะเงินเฟ้อได้หรือไม่

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตการเงินนับว่าเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องเผชิญ อาจจะเกิดขึ้นด้วยภาวะของการเงิน หรือภาพรวมเศรษฐกิจหลาย ๆ ปัจจัย อย่างปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องของประเทศตุรกี ที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี จนทำให้ธนาคารกลางตุรกีเตรียมพิจารณาทบทวนนโยบายการเงิน และดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของราคาสินค้าและบริการในประเทศ นอกจากนี้ประเทศแห่งเจ้าน้ำมันอย่างเวเนซุเอลาก็เจอปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมากจนทำให้ประชาชนอพยพออกจากประเทศ แต่ทางรัฐบาลเวเนซุเอลาก็หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างการออกเหรียญคริปโตเพื่อแก้ไขปัญหาและรักษาความมั่นคงท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก หลายคนอาจจะมองว่าประเทศนี้ต้องร่ำรวยอย่างแน่นอน แต่ในความเป็นจริงนั้นมันดูเหมือนจะสวนทางกับความเชื่อของใครหลาย ๆ คน เพราะเวเนซุเอลต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงจนควบคุมไม่อยู่ โดยเหตุผลหลัก ๆ นั้นมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ตกต่ำลงเมื่อหลายปีก่อน จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงส่งผลให้ธนบัตรโบลิวาร์แทบจะเป็นเงินที่ไร้ค่า

สิ่งที่เวเนซุเอลาต้องเผชิญคือ เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจนอาจแตะระดับ 1,000,000% ต่อปีภายในสิ้นปีนี้ จนประชาชนภายในประเทศต่างอพยพออกจากประเทศราว ๆ วันละ 5,000 คน ขณะที่สกุลเงินของประเทศจากแต่ก่อนที่เงินขนาด 500,000 โบลิวาร์สามารถซื้อบ้านได้หนึ่งหลัง แต่ปัจจุบันกลับซื้อได้เพียงกาแฟแก้วเดียว

เวเนซุเอลาสร้างสังคมคริปโต

สิ่งที่หน่วยงาน ภาครัฐของเวเนซุเอลาทำ คือ หลังจากนั้นไม่นาน ประธานาธิบดี Nicolas Maduro แห่งเวเนซุเอลา ได้สร้างเหรียญคริปโต ที่ชื่อว่า Petro เพื่อใช้จ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ โดยอ้างอิงจากราคาน้ำมันบาร์เรลที่ประเทศได้สำรองไว้

เวเนซุเอลานับว่าเป็นประเทศที่พยายามผลักดันการใช้คริปโตเพื่อเป็นทางออกสำหรับประชาชน และเพื่อรักษาความมั่นคงท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ นอกจากนี้หลังจากออกเหรียญ Petro แล้วทางเวเนซุเอลาก็ได้ผลักดันประเทศในด้านคริปโต ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเปิดตัวสกุลเงินใหม่ที่ผูกมูลค่ากับเหรียญคริปโต และ จะเปิดตัวธนาคารกลางสำหรับ Cryptocurrency อีกด้วย แม้ว่าสร้างสังคมคริปโตของเวเนซุเอลาจะเป็นสิ่งอาจช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศได้ แต่ก็มีหลาย ๆ ประเทศที่ไม่เห็นด้วยอีกทั้งยังมองว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อไม่นานมานี้ประธานาธิบดี Maduro ยังได้ออกไอเดียตัดเลขศูนย์ในธนบัตรลงจำนวน 5 ตัวจากราคาสินค้าตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่คาดว่าจะสามารถช่วยสกัดเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งขึ้นในประเทศ

แม้ว่าเวเนซุเอาลาจะพยายามผลักดันการใช้งานคริปโตของตัวเองภายในประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อมูลที่ระบุออกมาว่า การสร้างเหรียญคริปโตของตัวเองนั้นแสดงผลในแง่บวกต่อการพัฒนาประเทศด้านใดบ้าง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการติดตามผลลัพธ์ที่ทางรัฐบาลเวเนซุเอลาคาดหวัง

ย้อนกลับไปมองกำเนิด Bitcoin

เมื่อปี 2008 เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา จากภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ในลักษณะหนึ่งคนซื้อบ้านมากกว่าหนึ่งหลังเพื่อทำการปล่อยเช่า เพราะเชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงและมีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ความเป็นปัจจัยสี่ ทำให้ตอนนั้นธนาคารมองเห็นโอกาสออกผลิตภัณฑ์ปล่อยกู้ทางการเงินเพื่อสนับสนุนความเชื่อของคน

แต่ Supply มากกว่า Demand คนที่ต้องการเช่าบ้านมีน้อยกว่าจำนวนบ้านที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่หวังเก็บเงินจากการปล่อยเช่ามาจ่ายเงินกู้เริ่มไม่มีเงินมาจ่ายจนผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ธนาคารออกล้มเหลวจนเกิดหนี้สูญจำนวนมาก ธนาคารจึงต้องขายสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดเพื่อจัดการหนี้ แต่ประชาชนก็พากันไปถอนเงินออกเพราะกลัวว่าธนาคารจะนำเงินที่ฝากไปใช้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือในธนาคารอีกต่อไป จนกระทั่งภาครัฐออกมาประกาศมาตราป้องกันไม่ให้ประชาชนถอนเงินเพราะมันจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อธนาคาร

กรณีดังกล่าวเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของ Bitcoin ซึ่งหลักๆ ถูกสร้างเพื่อให้เป็นสกุลเงินสากลที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเหล่าบรรดาธนาคารกลางใดๆ และยังเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินที่เคยเกิดขึ้นจากธนาคาร เพราะผู้สร้างมองว่าธนาคาร สถาบัน ที่เราต่างเชื่อถือกันนั้นมีความล้มเหลว จากภาพเหตุการณ์วิกฤตการเงินปี 2008

กรณีความผิดพลาดของตัวกลาง

เราจะเห็นกรณีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากตัวกลางอย่าง ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือรัฐบาล ได้จากปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อย่างกรณีประเทศเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยเหตุจากการทำสงครามทำให้เยอรมนีมีภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และเป็นหนี้มหาศาล ฐานะทางการเงินของเยอรมนีในตอนนั้นการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้จ่ายจำเป็นที่จะต้องมีสินทรัพย์อย่างทองคำเป็นตัวอ้างอิง แต่เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากมาย รัฐบาลจึงตัดสินใจพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้อ้างอิงกับทองคำ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในเยอรมนี

หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองเหตุการณ์ที่เชื่อว่าน่าจะฝังใจนักธุรกิจและคนที่เจอผลกระทบในภาวะวิกฤตปี 2540 นั้นคงต้องจดจำไปตลอดชีวิต เป็นเหตุการณ์ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในแง่ของผู้กู้เงินจากต่างประเทศที่ต้องจ่ายคืนเป็นเท่าตัว หรือแม้แต่สถาบันการเงิน หรือบริษัทบางแห่งเฟื่องฟูก็ต้องปิดตัวลง

อีกทั้งวิกฤตหนี้ของกรีซ ที่เกิดจากการกู้ยืมในความเสี่ยงสูง การค้าระหว่างประเทศไม่สมดุล เเละฟองสบู่เเตกในภาวะการปล่อยสินเชื่อที่ง่ายทั่วทวีปยุโรป ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประเทศกรีซ หลังได้เริ่มใช้เงินสกุลยูโรในปี 2544 ทำให้กรีซสามารถกู้ยืมเงินได้จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ต่ำจนเกินไป รวมถึงการทุ่มของนโยบายรัฐสวัสดิการ ทำให้เกิดภาวะการขาดดุลทางภาครัฐ จนมีหนี้สินสาธารณะเกินที่จะสามารถควบคุมได้

ตัวอย่างเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวถึงแสดงให้เห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งล้วนเกิดจากความผิดพลาดของสิ่งที่เราเรียกว่าตัวกลาง อย่างสถาบันการเงิน หรือรัฐบาลที่เราต่างให้ความเชื่อมั่นมาตลอด

จากข้อสถิติย้อนหลัง เราพบว่าในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดวิกฤตหนี้สินของกรีซและเป็นที่ถกถามว่ากรีซจะต้องนำเงินมาใช้หนี้อย่างไร แล้ว ธนาคารกลางยุโรปหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะมีมาตราการเยียวยาหรือผ่อนปรนไม่นั้น เป็นช่วงเวลาที่ราคาของ Bitcoin มีการเร่งตัวขึ้นอย่างมาก ซึ่งนั้นอาจจะหมายความว่า “Bitcoin เปรียบเสมือนตัวสะท้อนผลงานการบริหารของรัฐบาล” ก็เป็นได้

มองปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทยต้องยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคหลังๆ เริ่มมีสัญญาที่ดีขึ้น แต่ในปี 2561 อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเร่งตัวขึ้นจนเป็นคำถามของใครหลายๆ คนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน หรือ กนง. ทำไมยังไม่มีสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งๆที่ พี่ใหญ่อย่างประเทศสหรัฐอเมริการมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปหลายครั้งแล้ว

หรือแม้แต่ประเทศตุรกี ที่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อพุ่งเกิน 15% สูงสุดในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่ปี 2547 จากการที่รัฐบาลอัดงบจำนวนมากกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการออกพันธบัตร 10 ปี ที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 20% อีกทั้งก่อนหน้านี้ประเทศมีเงินทุนไหลเข้าอย่างมากทำให้ประเทศโตแบบก้าวกระโดดจนปรับตัวไม่ทัน ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ แต่ทางรัฐบาลตุรกีก็ยังไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ เลยยิ่งทำให้ตลาดขาดความเชื่อมั่นแห่ถอนเงินออกจากตุรกีกดดันค่าเงินลีราร่วงลงไปอีก

สรุป

แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง และทางหน่วยงานที่ดูแลยังคงบอกว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ถ้าอนาคตภาพของประเทศตุรกีเกิดขึ้นที่ประเทศไทยอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อของประเทศไทยพุ่งขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่จนแซงหน้าอัตราดอกเบี้ยก็เป็นได้

ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ หรือปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเรียกว่าตัวกลาง หรือ สถาบัน หน่วยงานที่เราให้ความเชื่อถือมาโดยตลอด แต่ถ้าวันหนึ่งตัวกลางที่เราให้ความเชื่อถือ ยึดมั่นมาตลอดเกิดผิดพลาดขึ้นมา ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้เงินของเราสูญค่า หรือ อนาคตเราอาจจะต้องใช้เงินที่เฟ้อกว่าปัจจุบันก็เป็นได้

การนำเอาคริปโตเข้ามาช่วยในประเทศที่ประสบภาวะเงินเฟ้อ หรือ ภาวะเศรษฐกิจ อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกประเทศ เพราะแต่ละประเทศนั้นให้การยอมรับเงินคริปโตในลักษณะที่แตกต่างกัน บางประเทศยอมรับพร้อมกับสนับสนุน ในขณะที่บางประเทศไม่ยอมรับและกีดกัน นอกจากนี้สำหรับบางประเทศประชาชนอาจจะไม่ได้ยอมรับ และมีความรู้เกี่ยวกับด้านคริปโตเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายแล้วการเชื่อถือตัวกลางก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด จากกรณีตัวอย่างที่ผิดพลาดทางระบบการเงิน และเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น