<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

3 ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาดคริปโต ในสัปดาห์นี้

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เข้าสู่เดือนตุลาคมอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และบรรยากาศการซื้อขายในตลาดการเงิน เนื่องจากไตรมาสที่ 4 กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ทำให้ความผันผวนของตลาดยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น นักลงทุนต่างเฝ้าจับตามองเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

ในขณะเดียวกัน ตลาดคริปโตกลับประสบกับการปรับฐานลดลงอย่างหนักในช่วงเช้าวันจันทร์ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า ตลาดอาจได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงซับซ้อนและมีความไม่แน่นอน  ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าจะมีการปรับฐานต่อเนื่องตลอดสัปดาห์นี้

สัปดาห์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญ เนื่องจากจะมีการปราศรัยของสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐฯ มากถึง 11 ครั้ง รวมถึงการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญหลายรายการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้นำทิศทางของตลาดในไตรมาสสุดท้ายก่อนที่ไตรมาส 3 จะสิ้นสุดลง นักลงทุนต้องติดตามความเคลื่อนไหวของปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นตัวกำหนดทิศทางของทั้งตลาดการเงินและคริปโทเคอร์เรนซีในช่วงที่เหลือของปี 

เหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ วันที่ 30 ก.ย. – 4 ต.ค.

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีกำหนดการขึ้นกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในการประชุมของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติ (National Association for Business Economics) ในวันจันทร์ที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งการกล่าวปราศรัยดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากอาจให้เบาะแสเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจชัดเจนขึ้นหลังจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานในสัปดาห์นี้

ข้อมูลการจ้างงานสำคัญสองฉบับ จะถูกเปิดเผยในวันอังคารและวันพุธ ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของตลาดแรงงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ข้อมูลการยื่นขอสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นก็จะตามมาในวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่นักวิเคราะห์ให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถสะท้อนถึงความเคลื่อนไหวในภาคแรงงานได้ในระยะสั้น หากตัวเลขการยื่นขอสวัสดิการว่างงานมีแนวโน้มลดลง แสดงว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่งและรองรับการขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ วันพฤหัสบดีจะมีการเผยแพร่ รายงานดัชนี PMI ภาคบริการ (ISM Services PMI) ประจำเดือนกันยายน ซึ่งครอบคลุมภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่า 70% ของ GDP ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ประเมินได้ว่า ภาคบริการยังคงมีการขยายตัว และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมได้หรือไม่ หากผลลัพธ์ออกมาดี จะเป็นสัญญาณเชิงบวกที่บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานและภาคบริการยังคงมีศักยภาพในการสร้างงานใหม่ได้ต่อเนื่อง

ท้ายสุด ในวันศุกร์ รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานประจำเดือนกันยายนจะถูกเปิดเผย ซึ่งจะให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับจำนวนงานใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา และแสดงให้เห็นถึงอัตราการว่างงานของผู้ที่กำลังหางานทำอย่างจริงจัง รายงานดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะนำมาพิจารณาในการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้ารอคอยเพื่อวางแผนการลงทุนในอนาคตต่อไป

ผลกระทบต่อตลาด Crypto 

ตลาดคริปโตประสบกับราคาที่ปรับฐานร่วงลงอย่างหนัก ในวันสุดท้ายของเดือนกันยายน ซึ่งมูลค่าตลาดรวมได้ลดลงมากกว่า 3% ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยลดลงเหลือ 2.37 ล้านล้านดอลลาร์

ราคา Bitcoin ปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดยร่วงจากระดับ 66,000 ดอลลาร์ลงมาอยู่ที่ 64,400 ดอลลาร์ในเวลาอันสั้น และมีความเป็นไปได้ที่ราคาจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนแตะระดับ 63,000 ดอลลาร์ หากแรงเทขายในตลาดยังคงมีอยู่ นักวิเคราะห์หลายรายเริ่มแสดงความกังวลว่า ความผันผวนของราคาในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีในระยะสั้น

เช่นเดียวกันกับ Ethereum ที่เผชิญแรงกดดันจากการเทขายอย่างหนัก โดยราคาปรับตัวลงมาอยู่ที่ 2,600 ดอลลาร์ ส่งผลให้เหรียญ Altcoins อื่น ๆ อย่าง Binance Coin (BNB), Dogecoin (DOGE) และ Shiba Inu (SHIB) ร่วงตามไปด้วย โดยมีการปรับตัวลดลงในอัตราที่มากกว่า Bitcoin และ Ethereum นักลงทุนจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการเทขายครั้งใหญ่ในตลาดคริปโต หากยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้

ที่มา : cryptopotato