กองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง หลังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสเงินไหลเข้ารวมถึง 882 ล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดสะสมในช่วง 4 สัปดาห์รวม 6.3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 93% ของยอดเงินไหลเข้าทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี
ข้อมูลจาก CoinShares ระบุว่า ปัจจุบันยอดเงินไหลเข้าปีนี้รวมอยู่ที่ 6.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเข้าใกล้สถิติเดิมที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์อย่างมาก ขณะที่กองทุนประเภท Crypto ETF ในสหรัฐฯ มียอดสะสมการไหลเข้าสุทธิแตะ 62.9 พันล้านดอลลาร์ ทะลุระดับสูงสุดเดิมที่ 61.6 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อต้นปี

แม้ตัวเลข 882 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ล่าสุดจะลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่แตะระดับ 2 พันล้านดอลลาร์ในต้นเดือนพฤษภาคม และ 3.4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนเมษายนตามลำดับ แต่สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของกองทุนคริปโตทั่วโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 169 พันล้านดอลลาร์ ห่างจากสถิติสูงสุดเดิมเพียง 2.5% เท่านั้น
สินทรัพย์หลักอย่าง Bitcoin ยังคงครองความนิยมสูงสุด ด้วยยอดเงินไหลเข้า 867 ล้านดอลลาร์ในสัปดาห์เดียว และยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 6.6 พันล้านดอลลาร์ ดัน AUM ขึ้นไปที่ 146 พันล้านดอลลาร์ ส่วน Ethereum มียอดเงินไหลเข้าเพียง 1.5 ล้านดอลลาร์ และ AUM ขยับขึ้นเป็น 12 พันล้านดอลลาร์
ในด้าน Altcoin เหรียญ Sui ยังคงเป็นคริปโตที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดถึง 11.7 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Solana เป็นเพียงเหรียญเดียวที่มีเงินไหลออก โดยสูญเงินไป 3.4 ล้านดอลลาร์ และยอดรวมเดือนนี้ติดลบ 2.9 ล้านดอลลาร์

CoinShares ยังชี้ว่า เงินส่วนใหญ่มาจากกองทุนของ BlackRock ซึ่งสัปดาห์เดียวมีเงินไหลเข้าถึง 1 พันล้านดอลลาร์ โดยยอดสะสมตลอดปี 2024 สูงถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์ แซงยอดรวมของอุตสาหกรรมทั้งหมด
ในขณะที่ Grayscale และ Bitwise ยังเผชิญแรงเทขายต่อเนื่อง สูญเงิน 168 และ 27 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ขณะที่ Fidelity และ ARK กลับมาเป็นบวก ด้วยเงินไหลเข้า 62 และ 46 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

ภาวะกระทิงของตลาด Crypto ETF เกิดขึ้นพร้อมการปรับขึ้นของราคาคริปโต โดย Bitcoin พุ่งกลับไปทะลุ 100,000 ดอลลาร์ในวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเคยขึ้นไปถึงจุดสูงสุดกว่า 106,000 ดอลลาร์ในเดือนธันวาคม 2024 ส่งผลให้มูลค่าตลาดรวมของคริปโตแตะระดับ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ แม้จะยังต่ำกว่าสถิติเดิมที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ก็ตาม
James Butterfill หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ CoinShares มองว่าการพุ่งขึ้นของราคาและกระแสเงินลงทุน มาจากปัจจัยผสมหลายอย่าง เช่น การขยายตัวของปริมาณเงิน M2 ทั่วโลก ความเสี่ยงภาวะเงินเฟ้อพร้อมเศรษฐกิจซบเซาในสหรัฐฯ และการที่หลายรัฐเริ่มประกาศถือครอง Bitcoin เป็นสินทรัพย์สำรองเชิงกลยุทธ์
อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวเป็นเพียงแค่การเสนอข่าวเท่านั้น การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนอาจเสียเงินทั้งจำนวนได้ ดังนั้นผู้ลงทุนควรที่จะศึกษาและประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ อยู่เสมอ
ที่มา: Cointelegraph