ลองนึกภาพตาม ในอดีต นักเล่นแร่แปรธาตุต่างพยายามหาวิธีเปลี่ยนวัสดุธรรมดาให้กลายเป็นทองคำ มาเป็นร้อยเป็นพันปี แต่ไม่มีใครทำได้สำเร็จจริง ๆ จนกระทั่งวันนี้ ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ระดับโลกอย่าง CERN ได้ออกมาเปิดเผยถึงความสำเร็จที่เหมือนหลุดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ กับการเปลี่ยนตะกั่วให้กลายเป็นทองคำ โดยใช้พลังงานจากเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ของ CERN เปลี่ยนตะกั่วให้กลายเป็นทองโดยใช้การชนนิวเคลียสของโลหะพื้นฐานสองอันอย่างหวุดหวิด ที่มา: cern
ในกระบวนการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยได้เร่งอะตอมของตะกั่วให้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วแสง แล้วให้อนุภาควิ่งสวนกันในรูปแบบที่เรียกว่า ultraperipheral collisions หรือการชนกันแบบไม่สัมผัสกันตรง ๆ แต่กลับสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทรงพลังมากพอจะดึงโปรตอนออกจากนิวเคลียสของตะกั่วได้ถึงสามตัว
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เลขอะตอมของตะกั่วที่เคยอยู่ที่ 82 ลดลงเหลือ 79 ซึ่งตรงกับเลขอะตอมของทองคำพอดี และนี่ไม่ใช่แค่แนวคิดที่เพ้อฝันอีกต่อไป เพราะนักวิจัย CERN สามารถวัดปรากฏการณ์นี้ได้จริงจากเซ็นเซอร์ตรวจจับเฉพาะทางที่วัดการสูญเสียโปรตอนและนิวตรอนได้อย่างแม่นยำ

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ คำถามที่หลายคนอาจเริ่มคิดในใจคือ ถ้าทองคำถูกผลิตได้ในห้องแล็บอย่างเป็นรูปธรรม แล้วมูลค่าที่แท้จริงของทองคำอยู่ตรงไหน? และยังมีอะไรที่ “หายากจริง” อยู่อีกบ้างในโลก ? ซึ่งคำตอบนี้อาจพาเราย้อนกลับไปสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin
ที่ผ่านมา Bitcoin มักถูกขนานนามว่าเป็น “ทองคำดิจิทัล” เพราะมีคุณสมบัติที่คล้ายกับทองคำหลายอย่าง ทั้งเรื่องของจำนวนจำกัด (มีแค่ 21 ล้าน BTC ), การใช้พลังงานและแรงคำนวณในการขุด, รวมถึงไม่สามารถปลอมแปลงหรือแก้ไขโค้ดได้ แต่ในวันนี้ เมื่อทองคำเริ่มถูกผลิตได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แม้ยังไม่ไคุ้มต้นทุนในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของทองคำในฐานะ “ของหายาก” เริ่มถูกสั่นคลอนอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางกลับกัน ไม่ว่าโลกจะล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์ไปมากแค่ไหน มนุษย์ก็ยังไม่สามารถสร้าง Bitcoin ขึ้นมาเพิ่มเองได้ เพราะถูกล็อกไว้ด้วยโค้ดคอมพิวเตอร์ที่มีการเข้ารหัสซับซ้อน และการเพิ่มจำนวนนี้ต้องผ่านกลไกการขุดที่มีข้อจำกัดทางเทคนิคและเวลาอย่างเคร่งครัด
ทองคำอาจผลิตได้ในห้องแล็บ แต่ Bitcoin “ผลิตเพิ่มไม่ได้” ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงไม่ได้ทำให้ Bitcoin เสื่อมคุณค่า หากแต่กลับตอกย้ำ อย่างชัดเจนขึ้นว่า Bitcoin อาจไม่ใช่แค่ทองคำดิจิทัล แต่คือสิ่งที่ทองคำไม่เคยเป็น
Bitcoin คือทรัพย์สินที่มีมูลค่า เพราะความหายากถูกเขียนไว้เป็นกฎตั้งแต่แรก ไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีใดจะเปลี่ยนแปลงได้ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ Bitcoin มีความน่าเชื่อถือในระยะยาว
ในวันที่โลกเริ่มเปลี่ยนเศษโลหะให้กลายเป็นทองคำได้ อาจถึงเวลาที่มนุษย์ต้องถามตัวเองใหม่ว่า “คุณค่าที่แท้จริง” ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาจากความเป็นวัตถุ หรือจากความเชื่อมั่นที่คนทั้งโลกมอบให้มันกันแน่ และในวันนั้น Bitcoin อาจไม่ได้เป็นแค่ทองคำดิจิทัลอีกต่อไป แต่เป็นสัญลักษณ์ของทรัพย์สินยุคใหม่ ที่ไม่มีใครสร้างเพิ่มได้ นอกจากเวลา และความเชื่อใจ