<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ก.ล.ต. เผยบทความเกี่ยวกับการกำกับดูแลใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อพูดถึงการกำกับดูแล “สินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งประกอบด้วยคริปโทเคอร์เรนซี่ และ โทเคนดิจิทัล ทุกสายตาน่าจะพุ่งตรงมาที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2018 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาซื้อขาย Bitcoin นั้นเริ่มมีความร้อนแรงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงมีคำถามว่า แล้วก.ล.ต. มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องอะไร ในระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Ecosystem) หรืออยู่ตรงไหนในจักรวาลของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” และพวกเขามีส่วนช่วยทำอะไรสำหรับการคุ้มครองนักลงทุน 

ดังนั้นในบทความนี้ทางสยามบล็อกเชนจึงได้นำเอาบทความเรื่อง “ก.ล.ต. กำกับดูแลอะไร ในจักรวาล “สินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน” ที่เขียนโดย นางสาวนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาอธิบายให้เพื่อน ๆ ได้ทำความเข้าใจกันมากขึ้น

มีอะไรใน “ระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล” ?

หากมองไปในระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลเราจะพบว่า นอกจากคริปโทเคอร์เรนซี่ และ โทเคนดิจิทัลแล้ว ยังมีกิจการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอีกหลากหลาย ทีต้องมาทำความรู้จักกันสักหน่อย

สินทรัพย์ดิจิทัล จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วย ได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซี่และโทเคนดิจิทัล ซึ่งมีลักษณะและการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน

(1) คริปโทเคอร์เรนซี่ (cryptocurrency) เป็นเหรียญสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (means of payment) เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน เช่น Bitcoin หรือ Ethereum เป็นต้น รวมทั้งคริปโทเคอร์เรนซีที่มีการตรึงมูลค่า (peg) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความเสถียร เช่น ทองคำ สกุลเงินต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “stable coin”

(2) โทเคนดิจิทัล (digital token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือเหรียญ โดยแยกย่อยเป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 investment token ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ

2.2 utility token ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดย utility token ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “utility token พร้อมใช้” และ “utility token ไม่พร้อมใช้”

  • utility token พร้อมใช้ สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก
  • utility token ไม่พร้อมใช้ ยังไม่พร้อมให้ใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้น ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต เพราะจะต้องนำเงินที่ได้จากการขาย utility token ไปจัดหาสินค้าหรือพัฒนาบริการให้เสร็จก่อน

กิจการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มีอยู่หลากหลายกลุ่ม หลากหลายประเภท ตั้งแต่เริ่มต้นการออกเสนอขายเหรียญระดมทุนเริ่มต้น (ICO) เหมืองขุด ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ผู้จัดการเงินทุน ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้รับฝากทรัพย์สิน กระเป๋าเงินดิจิทัล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ก.ล.ต. มีหน้ากำกับดูแล “สินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างไรบ้าง

แม้ว่า ก.ล.ต. จะมีหน้าที่กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งจักรวาล “สินทรัพย์ดิจิทัล” ทั้งหมด โดย พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดให้ ก.ล.ต. กำกับดูแลการออกเสนอขาย “investment token” และ “utility token ไม่พร้อมใช้” เนื่องจากมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ ซึ่งมีการให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนในโครงการ และมีความผูกพันในทางกฎหมายระหว่างผู้ออกและผู้ถือโทเคนดิจิทัล โดยผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Issuer) จะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เท่านั้น

แต่หากเป็นการออกเสนอขายคริปโทเคอร์เรนซี่ รวมทั้ง stable coin ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ได้มีโครงการหรือกิจการใด ๆ รองรับนั้น ก.ล.ต. จะไม่ได้รับหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องของการออกเสนอขายคริปโทเคอร์เรนซี แต่พวกเขาจะกำกับดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี่แทน

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ในปัจจุบันมีอยู่ 5 ประเภท ทั้งการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor) และผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (fund manager) ต้องได้รับใบอนุญาต ในการประกอบธุรกิจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น การมีเงินทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยง การทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า การมีระบบต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐานตามที่ ก.ล.ต. กำหนด และมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อมด้านระบบงานและสามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดด้วยความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจและผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งบุคคลที่มิใช่ ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th และแอปพลิเคชัน “SEC Check First” เพราะหากไปใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ก.ล.ต. ก็จะไม่สามารถเข้าไปดูแลผู้ลงทุนได้

การปรับปรุงกฏเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อเพิ่มการคุ้มครองนักลงทุน

การคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี

จากความร้อนแรงที่เกิดขึ้นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. จึงได้ออกคำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังหากจะลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี่ รวมทั้งเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับหลักการการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี่และการทำ knowledge test เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน เช่นเดียวกับหน่วยงานกำกับดูแลในหลาย ๆ ประเทศที่มีการแสดงท่าทีเป็นห่วง ซึ่งได้ออกมาเตือนผู้ลงทุนหรือมีแนวทางจะกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ฮ่องกง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แนวคิดการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี่และการทำ knowledge test โดย ก.ล.ต. นั้น ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น โดยผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ลิงก์นี้ https://bit.ly/3knvOOk ได้ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่ง ก.ล.ต. จะนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นให้สาธารณชนได้ทราบต่อไป

การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล

ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ยังได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือ มีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed token) โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เทียบเคียงกับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต.ยังมีแผนที่จะยกระดับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลในลักษณะอื่น ๆ รวมทั้งมีแนวคิดที่จะทบทวนข้อกำหนดเกี่ยวกับสัดส่วนและจำนวนการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโทเคนดิจิทัล

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานตามที่กำหนด และเพิ่มการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เทียบเคียงได้กับการลงทุนในหลักทรัพย์

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์