<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ก.ล.ต. แห่งประเทศไทยเปิดรับฟังความเห็นด้านแนวทางกฎเกณฑ์ ICO แล้ว เตรียมผลักดันใช้ปีหน้า

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

หลังจากตัวเลขมูลค่าตลาดรวมของตลาดการระดมทุน Initial Coin Offerings ( ICO) ก้าวข้ามผ่านระดับ 3,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้วหลายๆฝ่ายมองว่านี่คือกระแสการระดมทุนแบบใหม่ที่อาจจะมา disrupt โมเดลการระดมทุนในปัจจุบัน แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลประเทศจีนกับเกาหลีใต้จะออกมาลงดาบแบนการซื้อขายเหรียญ ICO มาแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทว่าก็ยังมีอีกหนึ่งประเทศซึ่งก็คือประเทศไทยของเราที่ทางหน่วยงานกำกับดูแล (regulators) ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ ICO และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในประเทศเพื่อนำไปออกกฎเกณฑ์และแนวทางในการกำกับการระดมทุนแบบดังกล่าวแล้ว

สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ทางสยามบล็อกเชนรายงานว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กำลังเตรียมการร่างและเสนอกฎเกณฑ์เพื่อมากำกับ ICO ที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ (ICO ที่นักลงทุนซื้อแล้วมีส่วนร่วมในทิศทาง,หุ้นและกำไรของบริษัท) ที่จะมีการผลักดันใช้ในช่วงไตรมาสที่สองของปีหน้า แต่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะก่อน

โดยอ้างอิงจากหน้าข่าวสารของเว็บไซต์ก.ล.ต. ทางสำนักงานได้เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจใน ICO สามารถอ่านแนวทางของกฎเกณฑ์ดังกล่าว รวมถึงแสดงความเห็นได้ผ่านแบบฟอร์มที่ทางสำนักงานเสนอไว้ให้ โดยสามารถส่งได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560

ICO สำหรับ “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน”

ในเอกสารของทาง ก.ล.ต. ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายในการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นมาคือเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในแนวทางกำกับดูแล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐานในการระดมทุนผ่าน ICO โดยในเบื้องต้น ก.ล.ต. จะเปิด track สำหรับ ICO ที่เป็น “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ซึ่งเป็นนิยามทั่วไปของหลักทรัพย์ประเภทใหม่ซึ่งเป็นตราสารการลงทุนที่มีเงื่อนไขเป็นมาตรฐาน (highly standardized terms and conditions)

“ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” หมายถึง สิทธิซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ในการได้รับส่วนแบ่งในผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุน ในการดำเนินการใดหรือทรัพย์สินใดโดยไม่มีส่วนในการบริหารจัดการการดำเนินการ (day-to-day operation) แต่ไม่รวมถึงหลักทรัพย์ที่มีการประกาศกำหนดไว้แล้ว ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

จำกัดวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยที่สามแสนบาทต่อโครงการ

สำหรับส่วนแบ่งร่วมลงทุนที่ออกและเสนอขายด้วยกระบวนการ ICO นั้น นักลงทุนรายย่อยทั่วๆไปที่ต้องการจะซื้อ ICO ในลักษณะดังกล่าวจะถูกจำกัดวงเงินลงทุนไว้ที่รายละ 300,000 บาทต่อโครงการ รายงานกล่าวว่าทาง ก.ล.ต. มองเห็นบทบาทสำคัญของกลุ่มนักลงทุนดังกล่าว และต้องการปกป้องนักลงทุนรายย่อยในกรณีที่เกิดการขาดทุน โดยรายงานกล่าวว่า

“ผู้ลงทุนรายย่อยควรมีช่องทางลงทุนใน ICO เนื่องจากผู้ลงทุนรายย่อยมีบทบาทสำคัญ ในการให้ข้อเสนอแนะและช่วยพัฒนาแผนธุรกิจใน white paper ซึ่งจะช่วยให้โครงการที่ผู้ระดมทุนเสนอมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น อย่างไรก็ดี เพื่อจำกัดความเสียหาย ต่อผู้ลงทุนรายย่อย สำนักงานเห็นควรจำกัดวงเงินในการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยแต่ละราย ไว้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อการลงทุนใน ICO แต่ละโครงการ”

คุณอาจารีย์ ศุภพิโรจน์ หรือผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีการเงินของ ก.ล.ต. ได้ให้สัมภาษณ์กับสยามบล็อกเชนว่าการจำกัดเงินลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุน retail investor ที่ 300,000 บาทต่อโครงการจะมีผลเฉพาะกับ ICO ที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ข้างต้น

โดยเธอกล่าวว่า

“ขอบเขตการกำกับดูแลของสำนักงานจะครอบคลุมเฉพาะ ICO ที่เป็นหลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้นสำนักงานจะเปิด TRACK เฉพาะ “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ก่อน และในกรณีเป็น RETAIL INVESTOR นักลงทุนแต่ละรายจะลงทุนได้ไม่เกิน INVESTMENT LIMIT ที่ 300,000 บาทต่อการลงทุนใน ICO แต่ละโครงการ”

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

แต่งตั้ง ICO Portal เป็นผู้ช่วยคัดกรอง ICO

นอกจากนี้ทาง ก.ล.ต. ยังมีแผนการคัดเลือกบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน ICO มาเป็น “ผู้คัดกรอง” หรือ ICO portal ที่สำนักงานให้การยอมรับ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน เช่น แยก ICO เพื่อการระดมทุนอย่างแท้จริงออกจากกรณีที่ผู้ไม่สุจริตพยายามใช้ช่องทางดังกล่าวหาประโยชน์จากประชาชน

โดยอ้างอิงจากรายงานของ ก.ล.ต. นั้น บริษัทที่ทำหน้าที่เป็น portal จะช่วยคัดกรอง ICO ที่เข้าข่ายไม่สุจริต, พิจารณาความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ, ตรวจสอบ source code ของ smart contract, มีระบบยืนยันตัวตนผู้ลงทุน (KYC), ดูแลไม่ให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนเกินวงเกินที่กำหนด, เพิ่มความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และประสานงานร่วมมือกับทาง ก.ล.ต. โดยอาจทำหน้าที่คล้ายๆกับวาณิชธนกิจและนายทะเบียนหลักทรัพย์

ที่น่าสนใจคือ บริษัทที่จะได้รับเลือกมาเป็น ICO portal นั้นจะต้องมีการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยด้วยเงินทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท

คุณอาจารีย์ให้ข้อมูลว่า ICO จากต่างประเทศก็อาจให้ ICO portal ในไทยช่วยคัดกรองเพื่อความโปร่งใสได้เช่นกัน ทว่าที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันมีหนึ่งบริษัทเอกชนที่เสนอตัวเองเข้ามาเป็น ICO Portal ให้กับทาง ก.ล.ต. แล้ว ซึ่งก็คือ ICOra โดยต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถตอบโจทย์ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้ได้หรือไม่ และในอนาคตสามารถมี ICO portal มากกว่าหนึ่งรายได้

การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ในปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพมากมายที่เริ่มหันมาเปิดระดมทุน ICO เจาะกลุ่มนักลงทุนในไทย ซึ่งหลักๆแล้วก่อนหน้านี้มีทั้ง GoldMintTripAlly และ Clout

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแนวทางกำกับดูแล ICO ในไทยกับ ก.ล.ต. สามารถแสดงความเห็นผ่านแบบฟอร์มแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ที่เว็บหลักได้

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น