<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

เมื่อระบบ Online Banking ล่ม เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานับว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนเฝ้ารอคอยบางคนรอเงินเดือนออกเพื่อไปจัดการปัญหาค่าใช้จ่าย ชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต หรือ หลายคนรอย้ายเงินจากบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่ง และแน่นอนว่าวิธีการย้ายเงินหรือจ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ วิธีการที่ง่ายและสะดวกมากที่สุดคงหนี้ไม่พ้น การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง

ทว่าปัญหาหลักๆ ที่พบแน่นอนว่า ระบบโมบาย แบงก์กิ้งล่ม ตั้งแต่ช่วงเช้าและไม่ได้ล่มเพียงแค่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งเท่านั้น

โมบายแบงก์กิ้งล่ม กระทบผู้ใช้งาน

มีรายงานข่าวตามโลกออนไลน์และสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่รายงานว่า ระบบให้บริการธุรกรรมทางการเงินของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเกิดขัดข้อง ส่งผลกระทบต่อการใช้บริการของลูกค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งธนาคารที่ขัดข้อง ประกอบไปด้วย ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ,ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และ ธนาคารธนชาต (TBANK)

อ้างอิงจากสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ระบุว่า มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เร่งแก้ไขปัญหาระบบให้บริการทางการเงินที่ขัดข้องในช่วงวันที่ 31 ส.ค.61 ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าทั่วประเทศ

แบงก์ชาติสั่งธนาคารดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ชี้แจงถึงสาเหตุดังกล่าวว่า มีธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีปริมาณธุรกรรมข้ามธนาคารจำนวนมากเกิดปัญหาระบบขัดข้องทำให้เกิดรายการค้างรอจำนวนมาก และทำให้ส่งผลกระทบไปสู่ธนาคารหลายแห่ง อีกทั้งยังทำให้เกิดการสะดุดหรือล่าช้าในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะบริการ โมบาย แบงก์กิ้ง

ซึ่งทางธปท.ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและให้ธนาคารเร่งแก้ไข พร้อมกำชับให้ธนาคารดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทุกราย อาทิ กรณีรายการโอนเงินไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้รับเงินทันที อีกทั้งยังได้สั่งการธนาคารที่มีปัญหาให้มีแผนยกระดับศักยภาพความสามารถในการให้บริการ เพื่อรองรับธุรกรรมที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ขณะเดียวกันทางสมาคมธนาคารไทยชี้แจ้งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งในวันที่เกิดเหตุการณ์ธนาคารส่วนใหญ่พยายามทยอยแก้ไขเหตุขัดข้องดังกล่าว ก่อนที่ระบบจะสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

คำถามที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ก็คือ เราจะเจอปัญหาในลักษณะแบบนี้ในอนาคตอีกหรือไม่

ปัญหาที่แบงก์แก้ไม่ได้

ระบบแบงก์ล่มนับเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ถ้ามองย้อนกลับไปราวๆ 1 ปี สถาบันการเงินพยายามที่จะผลักดันให้ผู้ใช้บริการหันมาใช้งานและทำธุรกรรมผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อลดต้นทุนของธนาคาร อาทิ เรื่องบุคลากรหน้าสาขา ที่ตั้งสาขา เป็นต้น เพราะก่อนหน้านี้เราอาจเคยได้ยินข่าวกรณีธนาคารหลายแห่งปิดสาขาเพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป และหันมาใช้งานด้านโมบาย แบงก์กิ้งมากขึ้น

แม้ว่าประเทศไทยพยายามที่จะผลักดันเรื่อง Cashless society ให้พ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัดหรือร้านค้าในห้างใช้ QR Code ในการรับชำระเงิน แต่หากในอนาคตเหตุการณ์ระบบแบงก์ล่มเกิดขึ้นอีก อาจจะทำให้พ่อค้า แม่ค้า รวมถึงลูกค้าที่กำลังใช้บริการดังกล่าวไม่สามารถชำระเงินได้ ซึ่งในมุมกลับกันถ้าถามว่าเงินสดยังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์อยู่ ก็คงต้องย้อนกลับมาดูที่คำถามว่า “แล้วสถาบันการเงินจะออกบริการ ผลักดันการใช้โมบายแบงก์กิ้ง และสร้างสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ไปทำไม”

จ่ายเงินด้วย Cryptocurrency

แม้ว่าในปัจจุบันการชำระเงินด้วย Cryptocurrency จะยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนักในประเทศไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเคยเห็นข่าวกรณีที่ร้านค้าดัง ๆ หลายร้านของต่างประเทศพยายามนำ Cryptocurrency เข้ามาเป็นอีกช่องทางในการรับชำระเงิน อาทิ Samsung ที่รัฐบอลติกยอมรับการชำระเงินด้วย Cryptocurrency , KFC ในประเทศแคนาดารับชำระเงินด้วย Bitcoin ในการซื้อไก่ทอด, McDonalds เปิดตัวเหรียญคริปโต “MacCoin” ที่ใช้ซื้อ BigMac หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองโรงหนังดังอย่าง Major Cineplex ก็เตรียมรับเหรียญ Cryptocurrency

จะเห็นได้ร้านค้าส่วนใหญ่ที่เปิดรับ Cryptocurrency นั้นเป็นร้านค้าที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากทั้งจากทั่วโลกและในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นร้านค้าที่มีผลการดำเนินงานในแง่ของผลประกอบการที่ดี ซึ่งแน่นอนว่า การเปิดใจยอมรับที่จะใช้ Cryptocurrency ในการรับชำระเงินนั้นน่าจะด้วยเหตุผลในเรื่องของการทำธุรกรรมที่สามารถเข้าถึง ตรวจสอบได้ และน่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการทำบัญชี

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ในการผลักดันโปรเจกต์อินทนนท์  โดยโครงการดังกล่าวนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อทดสอบการนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินไทย ด้วยการทดสอบการโอนเงินระหว่างกันโดยใช้เงินดิจิทัล โดยการทดสอบดังกล่าวนั้นอาจจะเป็นต้นแบบในการใช้งานของ Cryptocurrency ในประเทศไทยโดยสถาบันการเงินที่ในอนาคตอาจจะถูกใช้งานในรูปแบบของ B2B หรือ B2C ก็เป็นไปได้

โอกาส Blockchain ล่ม

Cryptocurrency เป็นสิ่งที่เราทราบกันดีว่ามีเทคโนโลยี Blockchain เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง นั้นเท่ากับว่า เทคโนโลยี Blockchain ข้อดีของมันอย่างแรกคือข้อมูลที่คงอยู่ถาวรสามารถตรวจสอบได้ อย่างที่สองคือ ไม่มีใครแก้ไขได้ และท้ายสุดคือมันเป็นสาธารณะ ผู้คนสามารถตรวจสอบได้

คำถาม ระบบ Blockchain มั่นคงแค่ไหน คงต้องตอบว่า ที่ผ่านมายังไม่มีข่าวที่ระบุว่า เทคโนโลยีตัวนี้ล่ม หรือ ถูกแฮกเกอร์เจาะระบบเข้ามาทำลาย เพื่อขโมยข้อมูล แต่ในทางกลับกันถ้าเราเคยได้ยินข่าวกรณีที่เว็บเทรดถูกแฮ็ก ต้องบอกว่าสิ่งนั้นคือการกระทำของแฮกเกอร์ที่แฮ็กเข้าในระบบเว็บเทรดที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ใช่ตัวเทคโนโลยี

เทคโนโลยี Blockchain จะถูกแฮ็ก หรือ เปลี่ยนแปลงข้อมูลได้หรือไม่ คงต้องตอบว่า การทำงานของ Blockchain มีทั้งแบบ Public และ Private ซึ่งแต่ละอันจะเหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันไป โดย Public Blockchain เปรียบเสมือนสถานที่ที่รวบรวมข้อมูลซึ่งใครก็สามารถเข้าถึงตอนไหนก็ได้ ปัจจุบันมี Cryptocurrency บางตัวที่ใช้ Public Blockchain อย่าง Bitcoin ซึ่งหมายความในการทำธุรกรรมต่างๆ บน Bitcoin ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึง

ส่วน Private Blockchain ชื่อตรงตัวว่ามีความเป็นส่วนตัว ผู้ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลบน Private Blockchain จะต้องได้รับอนุญาตหรือถูกเชิญเข้ามาใช้งานเท่านั้น เช่น สถาบันการเงินต้องการสร้าง Private Blockchain เพื่อทำโปรเจกต์ใหม่ โดยให้คนในองค์กรเท่านั้นรับรู้ถึงข้อมูล และกระบวนการต่างๆ ก็จะต้องเชิญทุกคนที่ทำงานในองค์กรและมีส่วนร่วมเข้ามา ซึ่งทุก ๆ คนก็คงทราบกันอย่างดีแล้วว่าธนาคารที่มีความเป็น centralized สูงนั้นคงจะต้องเลือกใช้ Blockchain แบบ private แน่นอน

Blockchain จะช่วยแบงก์ได้อย่างไร

เทคโนโลยี Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำลายตัวกลาง เพราะฉะนั้นถ้าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยดึงเทคโนยีตัวนี้เข้ามาใช้เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ อาจจะทำให้แบงก์ต้องสูญเสียรายจากการเก็บค่าธรรมเนียมไป แต่ก็สามารถทดแทนด้วยการลดบุคลากรลงหรือต้นทุนลงได้ แต่ในทางกลับกันถ้าแบงก์ไม่พยายามปรับตัวหรือนำเทคโนโลยีตัวนี้เข้ามาใช้ก็อาจจะทำให้ในอนาคตถูก disrupt จากเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างโดยผู้ล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมาทำลาย

หากแบงก์นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ มันจะช่วยตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน หรือจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ เช่น การทำเอกสาร การกรอกจำนวนเงินฝากผิด เป็นต้น ซึ่งหากอธิบายง่าย ๆ ก็คือเป็นการลดจำนวนของบุคลากรลงนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ทางธนาคารพาณิชย์หลายๆ แห่งก็ได้เร่งศึกษาเทคโนโลยีของเหรียญ Cryptocurrency บางตัวเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมของธนาคาร ซึ่งบางธนาคารก็ได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้บ้างแล้ว อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่เปิดให้บริการระบบโอนเงินด้วย Ripple ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่นำนวัตกรรม Krungsri Blockchain Interledger มาใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศสำหรับภาคธุรกิจไทย รวมถึง ธนาคารกรุงเทพที่เข้าร่วมกลุ่ม R3 Consortium เพื่อนำ Blockchain มาใช้ในบริการของธนาคาร

นั้นเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าธนาคารบางแห่งก็มองเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain กับการทำธุรกรรมทางการเงิน

โอกาสการใช้ Cryptocurrency ในไทยยังห่างไกล

ทางสยามบล็อกเชนได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในรายการ Live ทาง Youtube Siamblockchain ประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะใช้ Cryptocurrency ในการใช้จ่าย โดยคุณธนาธร ระบุว่า อนาคตอันใกล้ยังไม่มี และยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตปี 2540 อย่างเบี้ยกุดชุมที่เกิดขึ้นในจังหวัดยโสธร ซึ่งในตอนนั้นภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี เป็นเหตุให้ชาวบ้านสร้างเบี้ยที่ชื่อว่า เบี้ยกุดชุม เพื่อใช้แลกเปลี่ยนสินค้าภายในหมู่บ้าน อำเภอ ชุมชน เพื่อให้เงินหมุนเวียนกันเองในชุมชนไม่ไหลออกไปข้างนอก และเป็นการกำจัดปัญหาเงินเฟ้อ แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ทางธปท.และกระทรวงการคลังก็ออกกฎมาว่าเบี้ยกุดชุมผิดกฎหมาย ซึ่งหากเทียบแล้วเบี้ยกุดชุมในตอนนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรกับ bitcoin ในปัจจุบัน กลไกการแลกเปลี่ยนมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ bitcoin เป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วโลกจับต้องไม่ได้ แต่ เบี้ยกุดชุมใช้ในชุมชนแห่งหนึ่งและจับต้องได้

“เบี้ยกุดชุมที่ใช้ในอำเภอในจังหวัดยโสธร ยังไม่ให้ใช้เลย คือ มันเป็นความกลัว ความ conservative การไม่กล้าก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทย”

สรุป

ปัญหาระบบ Online Banking ล่มของไทยอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ควรที่จะมีวิธีป้องกันและจัดการไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับธนาคารผู้ให้บริการ แต่นั้นหมายถึงรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือร้านค้าส่วนใหญ่ที่รับชำระเงินด้วย QR Code ก็เป็นได้

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลังบ้านของ Cryptocurrency หลายๆ ตัวมาใช้ในระบบการเงินของไทย อาจจะเป็นการแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ก็มีคำถามที่ว่า การใช้เทคโนโลยี  Blockchain เป็นการตัดตัวกลางออก ซึ่งอาจจะมีหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบและไม่ยอมก็เป็นได้

ภาพจาก Theindianexpress

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น