<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

สรรพากรจ่อ ยกร่างกฎหมายเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ ! หนุนนักลงทุนขนเงินกลับไทย

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

กรมสรรพากรเตรียมยกร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่คนไทยได้รับจากต่างประเทศแล้วนำกลับเข้ามาในประเทศไทย

ตามคำกล่าวของคุณภาณุวัฒน์ เหลืองวิไล รองอธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ปัจจุบันหากคนไทยมีรายได้จากต่างประเทศ แล้วโอนเงินกลับเข้ามาในไทย ไม่ว่าจะโอนในปีไหนก็ตาม ก็จำเป็นต้องนำรายได้นั้นมารวมในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยอัตราภาษีจะเป็นแบบขั้นบันได คือ เริ่มต้นที่ 5% และสูงสุดไม่เกิน 35% ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้รวมต่อปี

กฎเกณฑ์ปัจจุบันนี้ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายจากรัฐบาลชุดก่อน หากผู้ใดมีรายได้จากต่างประเทศก่อนปี 2567 และโอนเงินเข้ามาในไทยหลังจากนั้น จะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎเดิมอยู่ กล่าวคือ รายได้ที่เกิดก่อนปี 2567 แล้วโอนกลับเข้ามาหลังจากปีที่เกิดรายได้ จะไม่ถูกเก็บภาษี

ทว่าล่าสุด กรมสรรพากรกำลังร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิชัย จุฬาวิจิตร ที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้คนไทยนำเงินรายได้จากต่างประเทศกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น

ตามแนวทางใหม่นี้ หากคนไทยมีรายได้จากต่างประเทศ แล้วโอนเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยภายใน “ปีที่รายได้เกิดขึ้น” หรือ “ภายในปีถัดไป” จะไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น หากมีรายได้ในปี 2568 และโอนเงินเข้าประเทศในปี 2568 หรือ 2569 ก็จะได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้าโอนหลังจากนั้น (เช่น โอนในปี 2570 เป็นต้นไป) ก็จะต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ปกติ

เงื่อนไขนี้มีจุดประสงค์เพื่อเร่งให้มีการโอนรายได้จากต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศโดยเร็ว ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล

คุณภาณุวัฒน์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กฎปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศนั้น ทำให้คนไทยที่ลงทุนหรือทำงานต่างประเทศไม่อยากนำเงินกลับมา เพราะกังวลว่าจะต้องเสียภาษี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง (ไม่ประสงค์ออกนาม) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กฎหมายการเก็บภาษีลักษณะนี้ใช้หลักเกณฑ์แบบ “ถิ่นที่อยู่” คือ ถ้าบุคคลใดพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 180 วันขึ้นไป และมีรายได้จากต่างประเทศ ก็จะถูกจัดเก็บภาษีตามหลักการนี้

กฎหมายนี้สอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ที่หลายประเทศใช้อยู่เช่นกัน

ทั้งนี้ การแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวย่อมมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อแนวทางการเสียภาษีจากกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ซึ่งคงต้องติดตามรายละเอียดจากทางกรมสรรพากรอีกครั้งเมื่อกฎหมายมีความคืบหน้า 

ที่มา : Bangkok Post