<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ทำไมธนาคารไทยพาณิชย์ถึงยังไม่ใช้ XRP เพื่อโอนเงินระหว่างประเทศ และในอนาคตจะใช้ไหม?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

หนึ่งในธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอย่างสยาม คอมเมอร์เชียล แบงค์ หรือไทยพาณิชย์นั้นกำลังเป็นที่ถูกจับตามองจากวงการนักลงทุน cryptocurrency มาพักใหญ่ ๆ แล้ว

เมื่อก่อนหน้านี้ประมาณเกือบสองปีที่ผ่านมา พวกเขาเคยออกมาประกาศว่าจะนำเอาเทคโนโลยี blockchain ของเหรียญคริปโตชื่อก้องโลกอย่าง Ripple (XRP) เข้ามาใช้พัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศ ทว่าภายหลังจากนั้นสิ่งที่เราทราบมาตลอดก็คือการออกข่าว แต่ไม่มีผู้บริโภคคนใดได้สัมผัสความสุดยอดของเทคโนโลยีดังกล่าว ที่ทำให้การโอนเงินจากไทยไปญี่ปุ่นใช้เวลาแค่ระดับนาทีเลยสักคนเดียว

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาสองปีมาแล้วหลังจากการประกาศครั้งแรก และล่าสุดนั้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นรายงานที่เผยว่าทางธนาคารไทยพาณิชย์นั้นจะนำเอาบริการดังกล่าวมาให้ผู้คนทั่วไปใช้ผ่านแอ็พมือถือที่ชื่อว่า SCB Easy ในเร็ว ๆ นี้

ซึ่งเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริการดังกล่าวนั้นจะกลายเป็นที่ฮือฮามาก หากเปิดให้ใช้บริการจริง ๆ ไม่ว่าจะทั้งในและนอกวงการคริปโต เพราะการให้บริการโอนเงินต่างประเทศในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่ยังต้องทำผ่านผู้ให้บริการอย่าง SWIFT ที่กินระยะเวลานานมาก อีกทั้งยังเสียค่าธรรมเนียมเยอะอีกด้วย และการนำเอาเทคโนโลยีของ Ripple มาใช้จะทำให้ผู้คนนอกวงการคริปโตหันมารู้จัก Ripple มากขึ้นด้วย

งั้น xCurrent ที่ใช้ทำงานอย่างไร?

เป็นที่รู้กันดีว่าในขณะนี้ทาง Ripple มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดสามตัวหลัก ๆ ที่เปิดให้สถาบันการเงินและธนาคารนำไปใช้งานได้ตามความต้องการและเหมาะสม ซึ่งก็คือ xCurrent, xRapid และ xVia

แพลทฟอร์มที่ธนาคารไทยพาณิชย์นั้นเลือกใช้ก็คือ xCurrent ซึ่งมันเป็นแพลทฟอร์มที่ทำให้ธนาคารที่เป็นธนาคารต้นทาง, ธนาคารตัวแทนต่างประเทศ และธนาคารปลายทาง สามารถส่งข้อความหากันได้ผ่านตัวส่งข้อความที่ชื่อว่า ILP Ledger นอกจากนี้ข้อความยังสามารถอยู่ในระบบ format ของ SWIFT/ISO อีกด้วย

โดยตัว ILP Ledger ที่ว่านี้จะทำการ Hold เงินของทั้งสามธนาคารก่อนที่จะถูก cryptographic signature ทำการตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนที่เงินจะถูกปล่อยไปยังธนาคารทั้งสามธนาคารพร้อม ๆ กัน

โดยทาง Ripple เคลมว่าการใช้ xCurrent ในการโอนเงินไปยังต่างประเทศนั้นช่วยลดระยะเวลาในการประมวลผล, มีความโปร่งใส, เพิ่มอัตราการประมวลผลมากขึ้น และลดต้นทุนในการจัดการได้ โดยรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูในวีดีโอด้านล่างได้

จะเห็นว่าขั้นตอนทั้งหมดนั้นไม่มีขั้นตอนไหนที่มีความเกี่ยวข้องกับเหรียญ XRP เลย ซึ่งจะแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า xRapid

ซึ่ง XRapid นั้น การทำงานคือทางธนาคารจะโอนเงินไปให้กระดานซื้อขายคริปโตที่เป็นตัวกลาง ผ่านแพลทฟอร์มของ Ripple ก่อนที่กระดานซื้อขายจะทำการเปลี่ยนเงินดังกล่าวไปเป็น XRP และทำการโอนเหรียญ XRP ผ่าน blockchain ไปยังกระดานซื้อขายปลายทางของประเทศนั้น ก่อนที่กระดานซื้อขายปลายทางจะทำการโอนเงินไปให้ยังธนาคารปลายทางเป็นสกุลเงินที่รองรับผ่านแพลทฟอร์มของ Ripple เข้าบัญชีธนาคารของผู้รับโอนอีกทีหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที โดยคุณสามารถดูวีดีโอการทำงานของมันได้ที่ด้านล่างนี้

และทีนี้…

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อไรพวกเขาจะใช้เหรียญ XRP ล่ะ?

สำหรับคนธรรมดาทั่วไปคงมองว่า xCurrent นั้นก็คงจะเกินพอแล้ว แต่สำหรับนักลงทุน cryptocurrency โดยเฉพาะเหรียญ XRP ที่ชอบเก็งกำไรมันเป็นชีวิตจิตใจนั้นคงจะรอคอยการมาของมันอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าว่าหากมีสภาพคล่องที่เป็น XRP ถูกหมุนเวียนมากเท่าไร ราคาของมันก็จะยิ่งมีความผันผวน เปิดโอกาสให้เก็งกำไรได้มากขึ้นเท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีชาวโซเชียลบน Twitter ทำการส่งคำถามไปยังธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อสอบถามว่าจะมีการใช้งานเหรียญ XRP เมื่อไร

โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์ก็ออกมาตอบว่า “พวกเราจะใช้เทคโนโลยี Blockchain ในส่วนของ Ripple ทว่าสำหรับเหรียญ XRP นั้นโปรดรอการประกาศของทางเราอีกครั้ง”

การตอบคำถามดังกล่าวเผยให้เห็นว่าทางธนาคารนั้นอาจมีแผนการในการนำเอา xRapid มาใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศแบบที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ไว้ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้นั้นดูเหมือนว่าจะมีค่อนข้างสูง

ทางสยามบล็อกเชนได้ทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่พวกเขายังไม่สามารถนำเอา XRP มาใช้ได้ในขณะนี้ และรวมถึงตัวแปรและปัจจัยที่น่าจับตามอง

แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่การวิเคราะห์เท่านั้น ซึ่งผู้อ่านโปรดคิดตาม และตัดสินใจเชื่อด้วยตัวเอง

อยากจะทดสอบ xCurrent ก่อน

ผู้ที่อยู่ในวงการคริปโตมานานน่าจะจำได้ถึงตอนที่ทางแบงค์ชาติเคยออกมาประกาศไม่ให้สถาบันการเงินยุ่งเกี่ยวกับ cryptocurrency หรือช่วยประมวลผลธุรกรรมดังกล่าวเมื่อปี 2018 ซึ่งสำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ที่เคยศึกษา Ripple มาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว การออกมาประกาศดังกล่าวทำให้พวกเขาต้องยอมปฏิบัติตามอย่างไม่มีทางเลือก

ด้วยความที่ xCurrent นั้นยังคงใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหรียญ XRP เพราะเป็นแค่การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านเทคโนโลยี blockchain เท่านั้น จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทางไทยพาณิชย์อยากจะลองทดสอบนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาทดสอบใช้จริงก่อนเพื่อดูผลตอบรับจากผู้ใช้งานว่ามันใช้ได้ดีแค่ไหน, มีประสิทธิภาพมากเพียงใด และสามารถช่วยลดต้นทุนได้มากเท่าไร ก่อนที่จะขยับขยายไปลอง xRapid

การที่ทาง Ripple ออกผลิตภัณฑ์มาถึงสามแบบนั้นอาจเป็นกลอุบายให้ทางสถาบันการเงินค่อย ๆ ปรับตัวเข้ามาใช้เหรียญ XRP ของพวกเขา โดย xCurrent นั้นอาจเปรียบเสมือนกับ ‘entry level product’ สำหรับผู้ที่อยากจะเข้ามาลองของใหม่ในโลกของ blockchain ก่อน

และหากมันเวิร์ค ใช้ได้ดีเยี่ยม พวกเขาก็มีผลิตภัณฑ์สำหรับ ‘professional’ อยู่ด้วย ไม่ต่างจากโลกของมอเตอร์ไซค์สำหรับผู้ที่ก้าวเข้ามาใหม่ ๆ ที่มีรถคลาส 300cc มารองรับ และมีตัว 1000cc สำหรับผู้ที่อยากจะขยับขยาย และ xRapid ก็คือสิ่งนั้นนั่นเอง

ทาง Ripple ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับกระดานซื้อขายไหนในไทย

ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น ว่าแพลทฟอร์ม xRapid นั้นจำเป็นต้องมีตัวแปรอย่างเช่น XRP และกระดานซื้อขายคริปโตมาเป็นตัวกลางและ liquidity provider คอยช่วยประมวลผล นั่นหมายความว่าการที่ xRapid จะทำงานได้ในไทยนั้น มันจะต้องมีเว็บเทรดคริปโตในไทยที่เข้าร่วมโครงการนี้กับทาง RippleNet ด้วยนั่นเอง

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2017 กฎหมายสำหรับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังไม่ชัดเจน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้งทางไทยพาณิชย์และ Ripple ไม่สามารถนำเอาตัวเลือก xRapid มาใช้งานในไทยได้

ทว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกระดานซื้อขายทั้งหมด 3 แห่งและโบรคเกอร์ 1 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจได้จากทาง ก.ล.ต. แล้ว นั่นหมายความว่าทาง Ripple ก็มีโอกาสที่จะได้เข้ามา partner กับกระดานซื้อขายในไทยได้อย่างราบรื่น และเราอาจจะได้เห็นข่าวการเซ็นสัญญาในส่วนของ RippleNet กับเว็บเทรดคริปโตในไทยเร็ว ๆ นี้ก็ได้

ปัจจุบัน Ripple เซ็นสัญญากับเว็บกระดานซื้อขายไปแล้วทั้งหมดสามเว็บ สำหรับการเป็นผู้ให้บริการด้านสภาพคล่องสำหรับ xRapid ซึ่งประกอบไปด้วย Bittrex, Bitso จากเม็กซิโก และ Coins.ph จากฟิลิปปินส์

สภาพคล่องกระดานซื้อขายยังน้อย

ปัจจุบัน เราอาจกล่าวได้ไม่เต็มปากนักว่าชาวไทยให้ความนิยมกับสกุลเงิน cryptocurrency กันอย่างจริงจังมาก เนื่องจากว่าราคาที่ผันผวนของเมื่อปีที่ผ่านมาได้สลัดให้นักลงทุนมือใหม่กระเด็นออกนอกวงการไปด้วยความเจ็บปวดจากการขาดทุน

และนั่นจึงส่งผลทำให้ตลาดในไทยเติบโตอย่างช้า ๆ แม้ว่าเราจะมีกระดานซื้อขายคริปโตถึงสามแห่งเลยก็ตาม

ข้อมูลจากเว็บกระดานซื้อขาย Bx ในไทยเผยให้เห็นว่าปัจจุบันพวกเขาถือสภาพคล่องที่เป็นเงินของลูกค้ารวมกันอยู่ที่ประมาณ 1,038,616,131 บาท ซึ่งหากคิดเป็นเงินดอลลาร์จะอยู่ที่ประมาณ 32 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

นี่ยังไม่นับเหรียญ XRP ที่เป็นสภาพคล่องที่ทาง Bx ถืออยู่ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 57,153,738 XRP หรือคิดเป็นเงินไทยทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 678,429,158 บาท อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน ทว่าโวลลุ่มการซื้อขายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมานั้นมีอยู่ที่ประมาณ 17.8 ล้าน XRP

นอกจากนี้เว็บ Satang Pro เผยให้เห็นการซื้อขายเหรียญ XRP ที่โวลลุ่มประมาณ 40,000 XRP หรือคิดเป็นประมาณ 475,209 บาทเท่านั้น

ส่วนของ Bitkub นั้นมีการซื้อขายเหรียญ XRP ที่โวลลุ่มประมาณ 32,286 XRP จากใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าเงินบาทประมาณ 383,564 บาท ส่วน coins.co.th ยังไม่รองรับเหรียญ XRP ในขณะนี้ (ทว่า coins.ph ปัจจุบันเป็นพาร์ทเนอร์กับ xRapid อยู่)

ข้อมูลโวลลุ่มการซื้อขายเหรียญ XRP จาก Coinmarketcap เผยให้เห็นว่า Bx อยู่ที่อันดับ 110 ของโลก

ซึ่งหากรวมกันแล้ว สภาพคล่องของเหรียญ XRP ในประเทศไทยรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 680 ล้านบาท ลองจินตนาการดูว่าหากมีผู้คนหลายล้านต้องการโอนเงินออกนอกประเทศไทยผ่าน xRapid ในเวลาพร้อม ๆ กัน สภาพคล่องเพียงเท่านี้อาจจะไม่พอต่อการใช้งานอย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกัน เว็บ Bittrex ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Ripple ในการเป็นกระดานซื้อขายตัวกลางที่ให้บริการด้านสภาพคล่องนั้นมีโวลลุ่มการซื้อขาย XRP จากในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาอยู่ที่ 221,149,781 XRP หรืออยู่ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท ซึ่งนี่ยังไม่รวมสภาพคล่องที่พวกเขาถือไว้ทั้งหมดในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่การวิเคราะห์เท่านั้น และดูเหมือนว่าทางไทยพาณิชย์ก็ได้ออกมากล่าวแล้วว่าให้รอการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างสูงมาก และเราก็อาจจะได้เห็นการใช้ XRP ของทางธนาคารในเร็ว ๆ นี้ก็ได้

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น