<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

Proof of stake จะเปลี่ยนให้ Ethereum กลายเป็นตัวเก็บมูลค่าที่ใช้งานได้จริง

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ภายหลังจากที่การ halving ของ Bitcoin นั้นได้ดึงดูดนักลงทุนในวงการคริปโตและผู้คนทั่วไปในกลุ่มกระแสหลักให้เข้ามาในตลาดนั้น ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเหรียญอันดับสองของ Ethereum จะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่หลาย ๆ คนคาดการณ์ไว้ ในขณะที่ Bitcoin นั้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกด้านการลงทุนสำหรับผู้ที่ไม่ชอบแนวคิดด้านการพิมพ์เงินของธนาคารกลางนั้น Ethereum ก็เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถแสดงหลักการด้านการเงินที่ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

เมื่อตัวอัพเกรด Ethereum 2.0 ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกเลื่อนไปแล้วหลายต่อหลายครั้งเผยว่าจะมีการแก้ไขระบบอัลกอริทึ่มจาก proof of work ให้กลายมาเป็น proof of stake จนทำให้นักขุดนั้นไม่สามารถที่จะขุดได้อีกต่อไปกำลังใกล้เข้ามาในเร็ว ๆ นี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งที่ไม่แพ้การ halving ของ Bitcoin เลยทีเดียว

ภาวะเงินฝืดของ ETH กับระบบ supply

ก่อนที่เราจะพูดถึงผลกระทบของการ staking ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ ETH บ้างนั้น มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจระบบ “ซัพพลายด้านการเงิน” ก่อน ซึ่งก็ตามที่เรารู้กันดีนั้น Bitcoin มีการจำกัดซัพพลายไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ และอัตราการเกิดใหม่ของเหรียญ BTC นั้นก็ถูกลดลงในทุก ๆ 4 ปี แบบที่เราเห็นกันไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา

กราฟจาก white paper ของ Ethereum

ในขณะเดียวกัน Ethereum นั้นไม่มีการจำกัดซัพพลายเหมือนกับ BTC แต่ทว่ามันมีเรทภาวะเงินเฟ้อที่น้อยลงเรื่อย ๆ ตามกราฟด้านล่างนี้

ทาง Ethereum นั้นได้มีการจำกัดการเกิดใหม่ของ ETH ในทุก ๆ ปี โดยเมื่อจำนวนซัพพลายของ ETH เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น การจำกัดจำนวนการเกิดเหรียญใหม่ดังกล่าวนั้นก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งทาง Ethereum นั้นได้ลดจำนวนรางวับต่อบล็อกสำหรับนักขุดมาเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ โดยการอัพเกรดไปเป็น Ethereum 2.0 และเปลี่ยนไปใช้ระบบการ staking นั้นจะทำให้มีการลดอัตราเงินเฟ้อของ ETH ลงเหลือประมาณ 0.5%-2.0% ทำให้มันมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับของ BTC เลยทีเดียว

หากเปรียบ BTC เป็นทองคำนั้น ETH ก็คงเป็นเงินสดแห่งโลกคริปโต แม้ว่าชุมชนคริปโตจะมองว่าเงินสดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่หากลองมองดูดี ๆ แล้วจะพบว่าเงินสดมันก็ไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น และข้อดีของสกุลเงินที่ไม่มีการจำกัดจำนวนนั้นก็คือการที่มันสามารถปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดไปได้เรื่อย ๆ ตามสภาพของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ เหมือนกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ชิงเอาความได้เปรียบในด้านความยืดหยุ่นในการพิมพ์เงินเพิ่มตรงนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และแม้ว่าจำนวนซัพพลายของ ETH นั้นไม่ได้ถูกจำกัดเหมือนกับ Bitcoin แต่กราฟเงินเฟ้อระยะยาวของมันนั้นก็เผยให้เห็นถึงความสมดุลตรงกลางที่ค่อนข้างลงตัวเลยทีเดียว

การ Stake เหรียญ ETH ในด้านของอุปสงค์

ผู้คนส่วนใหญ่นั้นซื้อขายแลกเปลี่ยน ETH เหมือนกับเป็นเครื่องมือด้านการลงทุนชนิดหนึ่ง พวกเขาเชื่อว่า Ethereum นั้นจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังแอพด้าน decentralized ต่าง ๆ

ในขณะเดียวกันบางคนอาจจะไม่ชอบตรงส่วนนี้ โดยมองว่า ETH นั้นไม่ใช่หุ้น แต่เป็นเหมือนกับ ‘gas’ ที่เอาไว้ใช้เติมเต็มระบบ smart contract ของมันเสียมากกว่า นักเก็งกำไรส่วนใหญ่จึงลืมไปในหลาย ๆ ครั้งว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของ ETH นั้นคืออะไร จนทำให้พวกเขาเสี่ยงกับมันมากเกินความจำเป็น

ดังนั้นการ staking จึงอาจมีบทบาททำให้ ETH กลายมาเป็นตัวเก็บมูลค่าได้ โดยหากลองนึกให้ดี ๆ นั้นการ staking คือการที่คุณทำการถือเหรียญดังกล่าวไว้เฉย ๆ บน node ของเครือข่ายที่สามารถใช้เพื่อช่วยยืนยันธุรกรรมการโอนของผู้ใช้งานคนอื่น ๆ และผู้ที่ stake เหรียญไว้ก็จะได้ ETH เพิ่มเป็นการตอบแทน

ยิ่งมีจำนวน node มากขึ้นเท่าไรนั้น การทำธุรกรรมบนเครือข่ายก็จะยิ่งรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้นรวมถึงความปลอดภัยที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย การ staking นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยหากลองมองดูโครงการเหรียญคริปโตรอบ ๆ ตัวอย่าง Hashgraph และ Libra ของ Facebook จะพบว่าทั้งสองโปรเจคนี้ก็มีการนำเอาการ staking เข้ามาใช้ด้วยเหมือนกัน แต่ทว่าทั้งสองนี้ไม่มีข้อได้เปรียบในด้านการเป็นแอพที่มีความเป็น decentralized

สำหรับนักลงทุนนั้น พวกเขาก็จะมีแรงจูงใจในการ stake เหรียญโทเค็นใน node ก่อนที่จะได้รับรางวัลหลังจากการ staking ซึ่งก็คล้าย ๆ กับการนำเอาเงินไปฝากไว้ในธนาคารและก็ได้ดอกเบี้ยไปพร้อม ๆ กัน

แม้ว่ารางวัลที่ได้จากการ staking นั้นจะแตกต่างกันไปตามเหรียญและการปรับแต่งของแต่ละเหรียญ แต่ของ Ethereum นั้นมีการประมาณตัวเลขไว้ที่ราว ๆ 10% ต่อปีเลยทีเดียว และแม้ว่าตัวเลขรางวัลจากการ stake นั้นจะผันผวนไปขึ้นอยู่กับเครือข่ายในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ แต่นั่นมันก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการดึงดูดนักลงทุนที่ปกติแค่ถือเหรียญของพวกเขาไว้เฉย ๆ ให้สามารถเข้ามา stake เพื่อให้เหรียญของพวกเขางอกเงยเพิ่มขึ้นมาอีก

หากเทียบกับตัวเลขดอกเบี้ยการฝากเงินไว้กับธนาคารในปัจจุบันที่ต่ำเตี้ยเลี่ยดินแล้วนั้น ตัวเลขผลตอบแทนการ staking ของ ETH ดูเหมือนว่าจะสูงกว่ามาก และการ Staking นั้นอาจทำให้ ETH กลายเป็นสินทรัพย์ที่ ‘น่าชวนถือ’ มากกว่าทองคำ เนื่องจากว่ามันมีต้นทุนในการเก็บรักษาที่ค่อนข้างแพง

ในระยะยาวนั้น การที่สินทรัพย์มีความน่าชวนถือ จะส่งผลทำให้มันมีความต้องการที่มากขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนมีการกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนถือ ETH ที่มากขึ้น โดยรวมนั้นสินทรัพย์ที่มีความน่าชวนถือมีโอกาสในการเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาด้วยการสร้างฐานชุมชนผู้ถือเหรียญระยะยาว และขยายฐานนักลงทุนอีกด้วย

ปัจจุบันทาง Ethereum กำหนดให้ผู้ที่ต้องการจะ stake เหรียญขั้นต่ำนั้นอยู่ที่ 32 ETH (แม้ว่าผู้ให้บริการด้าน staking pool บางแห่งอาจอนุญาตให้มีการ stake ได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ETH ก็ตาม) ซึ่งข้อมูลด้านล่างเผยให้เห็นถึงความสนใจของผู้คนที่ต้องการจะ stake เหรียญ ETH ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจำนวน address ที่ถือ 32 ETH นั้นกำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

กราฟจาก CoinDesk

การใช้งานในด้าน stablecoin และ DeFi

ในขณะที่การได้รับดอกเบี้ยจากการ staking นั้นจะกลายเป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในตลาดได้ แต่การใช้งานจริงบนเครือข่ายนั้นถือเป็นเป้าหมายอันสูงสุดที่แท้จริงในการสร้างระบบ ETH ที่มั่นคงในระยะยาว

นักลงทุนมักจะมองว่าตัวชี้วัดในด้านการใช้งานหลัก ๆ นั้นคือจำนวนการใช้ dapp และจำนวนตัวเลขของการทำธุรกรรมบนเครือข่าย แต่จริง ๆ แล้ว stablecoin และ DeFi ต่างหากที่เป็นสองตัวที่ถูกใช้งานอย่างมากบนเครือข่ายของ ETH

ปัจจุบันมูลค่าตลาดของ stablecoin นั้นกำลังจะพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์ โดยหลัก ๆ นั้นเกิดขึ้นจากความขาดแคลนสภาพคล่องในตลาดคริปโตที่มีมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลทำให้จำนวนการทำธุรกรรมของ ETH พุ่งอย่างรุนแรงไปหาจุดสูงสุดเดิมที่เคยทำไว้เมื่อช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา

กราฟจาก CoinDesk

นอกจากนี้ระบบของ DeFi นั้นก็มีการใช้งานที่สูงมากด้วยเช่นกัน โดยมีจำนวนเงินดอลลาร์ที่ถูกล็อคเอาไว้ใน DeFi มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้อีกด้วย

กราฟจาก CoinDesk

ปัจจุบันโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของเรานั้นมีความเป็นดิจิทัลที่มากขึ้น และนั่นก็กำลังทำให้เราได้เห็นข้อบกพร่องของระบบการเงินที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน เมื่อตลาดนั้นกำลังถูกโฟกัสไปที่ Bitcoin และหลาย ๆ คนต่างก็คาดหวังให้มันมาเป็นสกุลเงินของอินเทอร์เน็ต แต่เรายังไม่จบแค่นั้น เมื่อ Ethereum 2.0 นั้นกำลังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แม้ว่าจะยังไม่ค่อยมีหลายคนหันมามองมันก็ตาม แต่เมื่อมันมาถึงแล้ว เป็นที่คาดการณ์ว่าเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการคริปโตที่คาดว่าไม่น่าจะแพ้ Bitcoin เลยทีเดียว

ที่มา: CoinDesk