<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

Bitcoin Halving คืออะไร และทำไมหลายคนเชื่อว่าราคาจะพุ่งแตะ 1 ล้านดอลลาร์เพราะสิ่งนี้

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อผู้ที่ใช้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto สร้าง Bitcoin มาตั้งแต่ปี 2009 แผนการของเขาโดยรวมนั้นก็คือการทำให้แน่ใจว่าการสร้างและแจกจ่าย Bitcoin จะไม่ตกลงไปอยู่ในมือของกลุ่มคนผู้มีอำนาจแค่บางกลุ่ม ดังนั้นจึงได้มีแนวคิดเรื่องของ ‘ การขุด’ เข้ามาเกี่ยวข้องในที่นี้ด้วย แต่ก่อนที่เราจะเข้าใจเรื่องของ Bitcoin halving ( บิทคอยน์ ฮาล์ฟวิ่ง) นั้นเราควรที่จะเข้าใจเรื่องการขุดของมันเสียก่อน

การขุด Bitcoin คืออะไร

กิจกรรม ๆ หนึ่งที่เรียกว่า ‘การขุด Bitcoin’ นั้นเป็นมากกว่าเพียงแค่การมาเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้แล้วรับเงินแบบที่หลาย ๆ คนที่ไม่เข้าใจ เชื่อกัน

การขุด Bitcoin นั้นคือการที่ใครก็ได้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบ, ยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรมบนเครือข่ายสมุดบัญชีสาธารณะของ Bitcoin ผ่านการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้การขุด Bitcoin ยังถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเหรียญใหม่ขึ้นมาบน ‘สมุดบัญชีสาธารณะ’ ที่ว่านี้ โดยเจ้าสมุดบัญชีที่ว่านี้ไม่ได้มาให้เห็นในรูปแบบสมุดแต่อย่างใด แต่มันถูกเก็บในรูปแบบของบล็อก ที่มีการนำไปต่อเป็นทอด ๆ ยาว ๆ เหมือนห่วงโซ่ จนมันได้ชื่อว่า Blockchain

เครื่องขุด Bitcoin จาก Bitmain

ดังนั้นหากจะกล่าวให้ถูกต้องโดยสรุปแล้ว การขุด Bitcoin นั้นก็คือการช่วยตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมบนเครือข่ายสาธารณะของเจ้าสมุดบัญชี Blockchain ที่ว่านี้ โดยผู้ที่เข้าไปช่วยตรวจสอบนั้นก็จะได้รับรางวัลเป็นค่าธรรมเนียม และเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ (ในบางครั้ง) โดยจำนวนที่พวกเขาจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนของนักขุดทั้งหมดในเครือข่าย, ศักยภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ และค่าอัลกอริทึ่มที่ถูกตั้งมาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว (หรือที่เรียกว่าค่าความยาก)

แล้วการ Halving ของ Bitcoin คืออะไร?

เมื่อเราเข้าใจเรื่องของการขุด Bitcoin แล้ว ในตอนนี้เราก็สามารถที่จะมาทำความเข้าใจว่าการทำ halving ของ Bitcoin นั้นคืออะไร

หากยังจำกันได้ Satoshi Nakamoto นั้นได้ทำการเขียนโค้ดระดับสูงที่ทำให้นักขุดที่เข้ามาขุด Bitcoin นั้นช่วยกันแก้ไขสมการและปิดบล็อกเก็บข้อมูลธุรกรรม ก่อนที่จะเอาไปต่อเป็นห่วงโซ่กับบล็อกอื่น ๆ เมื่อปิดได้สมบูรณ์นั้น ก็จะมี Bitcoin เกิดใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยเหตุการณ์ในการเกิดใหม่ของ Bitcoin และ Block ใหม่นั้นจะเกิดขึ้นในทุก ๆ 10 นาที

ซึ่งในอดีตนั้นจำนวน Bitcoin ที่เกิดใหม่ในทุก ๆ 10 นาทีหากดูตามประวัติศาสตร์แล้วในช่วงที่มันถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ๆ ในปี 2009 จะอยู่ที่ 50 BTC ต่อ 1 บล็อก ทว่าหลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 4 ปีให้หลังในเดือนพฤศจิกายน 2012 จำนวน Bitcoin ที่เกิดใหม่ต่อ 1 บล็อกต่อ 10 นาทีนั้นก็ถูกลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียงแค่ 25 BTC ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้นถูกเรียกกันในวงการคริปโตว่า “ยุคจ่ายรางวัลยุคที่สองของ Bitcoin”

ดังนั้นหากจะให้สรุปฟังง่าย ๆ ก็คือ

Bitcoin halving คือการที่ระบบของ Bitcoin จะทำการลดจำนวนเหรียญที่เกิดใหม่ของ Bitcoin ต่อ 1 บล็อกต่อ 10 นาทีลงครึ่งหนึ่ง ในทุก ๆ 4 ปี เช่นปี 2008-2009 เกิดใหม่ที่ 50 BTC, จากนั้นปี 2012 ลดลงเหลือ 25 BTC และปี 2016 ลดลงเหลือ 12.5 BTC จนมาถึงในขณะนี้ ที่เรียกว่าการจ่ายรางวัลยุคที่สาม

การ halving ของ Bitcoin เพื่อเข้าสู่ยุคที่สี่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเวลาบล็อกที่ 630,000 ซึ่งปัจจุบัน ณ เวลาที่เขียนข่าวอยู่นี้ เราอยู่ในเวลาบล็อกที่ 578,642 ซึ่งยังเหลืออีกประมาณ 51,358 บล็อก อ้างอิงข้อมูลจาก Coingecko หากดูจากข้อมูลบนเว็บดังกล่าวแล้ว จะพบว่าเวลาบล็อกนั้นตรงกับประมาณวันที่ 12 พฤษภาคม 2020 นี้

นั่นแปลว่าหากเราทำการคำนวณสรุปแบบง่าย ๆ นั้น จะมีจำนวนบล็อกของ Bitcoin ที่เกิดใหม่ประมาณ 144 บล็อกต่อวัน และหากมี Bitcoin เกิดใหม่ที่ 12.5 BTC ต่อบล็อกนั้น ก็จะมี Bitcoin เกิดใหม่ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1,800 BTC, ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 656,250 BTC และต่อยุคที่สามที่ 2,625,000 BTC

และหากเราเข้าสู่ยุคที่สี่นั้น จำนวน Bitcoin ที่จะเกิดใหม่ต่อบล็อกต่อ 10 นาทีก็จะถูกลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 6.25 BTC, เกิดใหม่ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 900 BTC, ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 328,125 BTC และต่อยุคที่สี่ที่ 1,312,500 BTC จนกว่าจะถึงการ halving ครั้งต่อไปที่ปี 2024

กราฟการคาดเดาจำนวน Bitcoin ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระยะสั้น จาก Bitcoin Wiki

ขั้นตอนดังกล่าวนี้จะมีขึ้นทุก ๆ 4 ปีไปเรื่อย ๆ และคาดว่าจะไปสิ้นสุดที่ประมาณปี 2140 เมื่อเหรียญ Bitcoin นั้นถูกขุดออกมาจนหมดแล้ว

ทำไมถึงต้องมีการ Halving?

นี่เป็นคำถามที่ดีและสำคัญมาก โดยเฉพาะกับนักขุด

สาเหตุหลัก ๆ นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน (supply and demand) ซึ่งเปรียบได้กับนโยบายการคลังของธนาคารในการควบคุมเงินตราที่หมุนเวียนในตลาดนั่นเอง

ทว่าเหรียญ Bitcoin ที่เกิดใหม่นั้นขึ้นถูกกำหนดขึ้นโดยระบบโปรแกรมภายในเรียบร้อยแล้ว แตกต่างจากระบบการเงินของธนาคารที่มีตัวแปรหลาย ๆ อย่าง เช่นเรื่องของหนี้, เงินเฟ้อ และอื่น ๆ อีกมากมาย

นั่นจึงหมายความว่าการกำหนดจำนวนเหรียญ Bitcoin ที่จะมาหมุนเวียนอยู่ในตลาดในแต่ละช่วง รวมถึงการกำหนดจำนวนที่ Bitcoin จะมีทั้งหมดที่ 21 ล้านเหรียญนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อต่อระบบของเหรียญ

สรุปครึ่งทาง เพื่อทบทวน

การลด Reward หรือรางวัลการขุดลง

นักขุด Bitcoin กระโดดเข้ามาในวงการก็เพราะพวกเขาต้องการจะสร้างรายได้ บางรายทำเป็นอาชีพหลักเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว หลายคนอาจมองว่าการทำ halving จะส่งผลร้ายต่อนักขุด เพราะพวกเขาได้รับรางวัลต่อบล็อกน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะหนึ่งในสาเหตุนั้นก็คือเรื่องของระบบนิเวศน์โดยรวมของ bitcoin ที่หากปล่อยให้มีจำนวน BTC หมุนเวียนอยู่ในระบบมากเกินไป ก็จะส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้

หากไม่มีการ halving นั้นก็จะถือเป็นการเพิ่มจำนวนบล็อกใหม่โดยที่ราคาของมันนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ (เพราะมี supply ที่มากขึ้นแต่ความต้องการเพิ่มตามไม่ทัน) โดยที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนค่าธรรมเนียมหรือมูลค่าของ Bitcoin ที่นักขุดจะได้รับ และนั่นจะส่งผลทำให้ Bitcoin ตายในที่สุด

การแข่งขันขุดที่รุนแรง

เรากำลังเห็นกิจกรรมการขุด Bitcoin ที่เพิ่มขึ้น และมีการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะเหลือ Bitcoin ให้ขุดได้น้อยลงเช่นกัน ซึ่งภายในเวลาไม่นานนี้ ความรุนแรงในการแข่งขันกันขุดนั้นก็จะทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลทำให้การทำธุรกรรมบน Bitcoin ใช้เวลานานมากขึ้น แต่หากนักขุดเหล่านั้นยังคงยืนกรานที่จะสู้ต่อ เราก็จะได้เห็นความต้องการในตัว Bitcoin ที่สูงขึ้น สวนทางกับอัตราการถูกขุดขึ้นมาใหม่ และส่งผลทำให้ราคาของมันแพงขึ้น

ความนิยมในการขุดที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทด้านการขุด Bitcoin บางบริษัทที่ต้องเจอกับมรสุมตลาดของ Bitcoin หลังจากการ halving แล้ว ยกตัวอย่างเช่นบริษัท KNC Miner จากประเทศสวีเดนที่ต้องล้มละลายจนปิดตัวลงเมื่อปี 2016 โดยสาเหตุหลัก ๆ นั้นมาจากการ halving ของ Bitcoin

นอกเหนือจากนี้มีรายงานที่เผยว่าจะมีเครื่องขุด Bitcoin ประมาณ 25% ที่จะได้รับผลกระทบจากการ halving นี้ เนื่องจากว่าการขุด Bitcoin นั้นจะมีต้นทุนที่มีราคาแพงมากขึ้น ส่งผลทำให้บริษัทด้านการขุดขนาดใหญ่ต้องลดขนาดลง และทำให้การทำกำไรนั้นทำได้ยากมากขึ้น ส่งผลทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่กล้าเข้ามาในตลาด

แต่มันก็ไม่ได้แย่เสียทีเดียว

ด้วยระบบนิเวศอัจฉริยะที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย Satoshi Nakamoto นั้น เราได้เห็นตัวควบคุมอุปทานและอุปสงค์อีกหนึ่งตัวที่เรียกว่า difficulty level กล่าวคือมันเป็นตัวที่กำหนดค่าความยากและง่ายในการขุด Bitcoin โดยอัตโนมัติ ซึ่งหากมีผู้ที่เข้ามาขุดในตลาดมากเกินไป และดูมีทีท่าว่าจะมี Bitcoin เกิดเร็วมากเกินไป (น้อยกว่า 10 นาที) ระบบก็จะทำให้ค่าความยากนั้นสูงมากขึ้น ส่งผลทำให้นักขุดได้รับผลตอบแทนหรือส่วนแบ่งที่น้อยลง จนต้องออกไปจากตลาด

และหากตลาดมีนักขุดน้อยลง จนแทบไม่เหลือแรงประมวลผลจนอาจทำให้ Bitcoin เกิดใหม่ช้าเกินไป (มากกว่า 10 นาที) ระบบค่าความยากก็จะถูกลดระดับลง ทำให้นักขุดที่มีอยู่ในเครือข่ายเป็นจำนวนน้อย ได้รับส่วนแบ่งและค่าตอบแทนที่มากขึ้น

เหตุการณ์สองเหตุการณ์ด้านบนนี้เกิดขึ้นวนเวียนจนเป็นวัฏจักรแบบอัตโนมัติ ที่ไม่มีใครมาควบคุม และจะวนเวียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ กล่าวคือเมื่อเครือข่ายเต็มไปด้วยนักขุด, ค่าความยากเพิ่มขึ้น, นักขุดขุดไม่ไหวถอนตัวออก, นักขุดลดลง, ค่าความยากลดน้อยลง, นักขุดเริ่มแห่กันเข้ามาใหม่… และเริ่มวนใหม่

สิ่งที่ควรคาดหวังหลังจากการ halving ของ Bitcoin

นักลงทุน Bitcoin กำลังนับถอยหลังเฝ้ารอการ halving อย่างใจจดจ่อ ซึ่งนี่คือสิ่งที่หลาย ๆ คนกำลังคาดหวังให้เกิดขึ้น

อัตราแรงขุดที่ร่วงลงอย่างรุนแรง

Hashrate หรืออัตราแรงขุดของ Bitcoin หรือแรงประมวลผลด้านคอมพิวเตอร์ที่คอยช่วยประมวลผลธุรกรรมบนเครือข่าย Blockchain ของมันนั้นอาจร่วงลง ซึ่งสถิติเก่าก่อนหน้านี้เผยว่าค่าแรงขุดนั้นเคยอยู่ที่ 1.54 exahashes ต่อวินาที แต่ภายหลังจากการ halving นั้นมันก็ร่วงลงอย่างรุนแรง สาเหตุหลัก ๆ นั้นเป็นเพราะว่านักขุดที่ใช้เครื่องขุดรุ่นเก่า ๆ ขุดนั้นไม่สามารถขุดได้คุ้มทุนค่าไฟฟ้าอีกต่อไปจนทำให้ต้องออกจากตลาด หรือไม่ก็อัพเกรด และนั่นส่งผลทำให้ค่าแรงขุดลดลง

ราคาของ Bitcoin จะร่วงลง และเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

แม้มันจะเป็นเรื่องธรรมดาของนักลงทุนที่กักตุน Bitcoin ของเขาไว้ ทำการเทขายเพื่อ cash out เงินออกมา จนส่งผลทำให้ราคาร่วง แต่เหตุการณ์นั้นก็จะส่งผลอยู่ได้ไม่นาน ก่อนที่ผู้คนที่เคยกลัวจนออกจากตลาดไป ต้องกลับมาสนใจมันและกลับเข้ามาในตลาดใหม่ และเมื่อนั้นกฎของอุปสงค์และอุปทานก็จะทำงาน กล่าวคือเมื่อมีเหรียญเกิดใหม่น้อยลง แต่จำนวนผู้คนที่ให้ความสนใจในตัว Bitcoin กลับเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นราคาก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง

กราฟจาก Publish0x

กราฟด้านบนเผยให้เห็นถึงราคาของ Bitcoin ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคแรกสุด มาจนถึงปัจจุบัน โดยเราจะสามารถสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่มีการ halving เกิดขึ้น ราคาของ Bitcoin ก็จะเพิ่มขึ้นโดยทำจุดสูงสุดใหม่เรื่อย ๆ โดยเมื่อช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา ราคาของมันก็เคยแตะจุดสูงสุดไปที่ 20,000 ดอลลาร์แล้ว และหากพิจารณาจากกราฟด้านบนนั้น เราอาจจะได้เห็นราคาที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 100,000-1,000,000 ดอลลาร์เลยก็ได้

กฎสี่ปี

ผู้ที่เข้าใจการทำงานของ halving ได้แล้วก็จะสามารถประมวลผลสมองได้แบบง่าย ๆ ว่าหากอุปทานลดน้อยลง อุปสงค์ก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา และนั่นยังหมายความอีกว่าเมื่อราคาเพิ่มขึ้นนั้น ความสนใจและความต้องการของผู้คนก็ต้องสูงมากขึ้นเป็นธรรมดา

ตัวเลขในอดีตเผยให้เห็นมาแล้วถึงเหตุการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาถึงสองครั้ง และดูเหมือนว่าครั้งที่สามนี้ก็คงจะไม่เป็นข้อยกเว้น

มาถึงตอนนี้ข้อสงสัยว่าการ halving ของ Bitcoin คืออะไร และมันจำเป็นมากน้อยขนาดไหนก็ได้รับการคลี่คลายแล้ว และโปรดจำไว้ว่า มันเกิดขึ้นทุก ๆ สี่ปี ตามกฎแห่ง Satoshi Nakamoto

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น