ปัจจุบันความนิยมและอิทธิพลของ Bitcoin รวมถึงเหรียญ Cryptocurrency อื่นๆได้แผ่ขยายปกคลุมไปในทุกๆประเทศทั่วโลก โดยการปรับตัวใช้เจ้าเหรียญที่มีเทคโนโลยี Blockchain หรือ distributed ledger ดังกล่าวเป็นตัวหนุนหลังนี้เพื่อนำมันไปเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าในชีวิตประจำวันอย่างเช่นตั๋วเครื่องบิน, แฮมเบอร์เกอร์, และอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นที่ออกมาประกาศทำให้ Bitcoin ถูกกฎหมาย และยกเลิกภาษีผู้บริโภค 8% ในเวลาต่อมา ซึ่งนั่นก็ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยของเราเช่นกัน อย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้มีร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังร้านหนึ่งแถวสยามก็ออกมาประกาศรับ Bitcoin เป็นช่องทางในการชำระเงินค่าก๋วยเตี๋ยวแล้ว
ด้วยความนิยมดังกล่าวนี้ส่งผลให้ชาวไทยหลายๆคนที่ตื่นตัวกับการพุ่งของราคา Bitcoin และเหรียญ altcoin ตัวอื่นๆ แต่ก็ไม่เคยเข้ามาทำความรู้จักของพวกนี้มาก่อนตั้งคำถามว่าจะไปซื้อ Bitcoin หรือ Altcoin (เหรียญดิจิตอลอื่นๆทุกเหรียญที่ไม่ใช่ Bitcoin เช่น Litecoin, Ethereum, Zcash, OmiseGO และอื่นๆ) ได้ที่เว็บซื้อขายที่ไหน, ที่ไหนปลอดภัยและน่าเชื่อถือ, ทำไมบางเว็บถึงมีการทำ KYC ที่ซับซ้อนและยุ่งยาก, ทำไมเว็บในไทยบางเว็บไม่มีเหรียญที่ผม/ฉันต้องการ และจะไปซื้อได้จากที่ไหน ซึ่งวันนี้ทางสยามบล็อกเชนได้รวบรวมคำถามเหล่านี้จากทางผู้อ่านหลายๆท่านที่รีเควสเข้ามา เพื่อมาทำเป็นบทความให้อ่านง่ายๆครับ
ประเภทของเว็บแลกเปลี่ยน
ก่อนอื่นเลย เราต้องมาทำความรู้จักประเภทของเว็บผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนกันก่อน ปัจจุบันเว็บซื้อขาย Bitcoin นั้นจะถูกจำแนกออกเป็น 3 แบบหลักๆด้วยกัน นั่นก็คือกระดานซื้อขาย, เว็บแลกเปลี่ยนกับเจ้าของโดยตรง และเว็บแลกเปลี่ยนแบบ P2P ซึ่งเว็บแลกเปลี่ยนเหล่านี้ก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันไป
I. กระดานซื้อขาย หรือเว็บเทรด (Spot exchange)
กระดานซื้อขายนั้นหากจะอธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆก็เหมือนกับตลาดหุ้นในสมัยโบราณที่ใครๆก็จะเข้ามาซื้อขายกันได้อย่างอิสระ กล่าวคือคุณสามารถที่จะเดินเข้ามาในตลาดและขอประกาศซื้อหรือ Bitcoin ในราคาที่คุณต้องการ โดยการซื้อขายนั้นจะเกิดขึ้นกับสมาชิกคนอื่นๆทั่วไปๆที่เข้ามาใช้บริการ ดังนั้นราคาที่คุณประกาศหรือตั้งซื้อขายนั้นก็จะถูกเข้ามา fill (ซื้อหรือขายให้โดยคนอื่นๆ) ถ้าหากคุณตั้งขาย Bitcoin ราคาแพงกว่าราคาตลาดปัจจุบันที่พวกเขาขายกันอยู่ ออเดอร์ของคุณจะถูกเมินในทันที เพราะทุกๆคนจะหันไปให้ความสนใจผู้ที่ให้ราคาถูกที่สุด และก็จะเป็นในลักษณะเดียวกันกับการตั้งประกาศรับซื้อ Bitcoin ถ้าคุณตั้งรับถูกเกินไป ผู้คนก็จะไม่สนใจคุณเช่นกัน เพราะใครๆก็ต้องการราคาที่ดีที่สุด ไม่เว้นแม้แต่คุณ
ข่าวดีก็คือ ปัจจุบันเทคโนโลยีนั้นช่วยอำนวยความสะดวกให้กับตลาดกระดานซื้อขายอย่างมาก ทำให้คำถามที่ว่าจะ “ซื้อ Bitcoin เว็บไหน” เป็นคำถามหลักๆ แทนที่จะถามว่า “จะซื้อ Bitcoin ที่ร้านไหน” เสียอีก กล่าวคือด้วยความที่ Bitcoin นั้นทำงานอยู่บนเทคโนโลยี decentralized นั้น ทำให้ใครๆก็สามารถที่จะโอนหรือส่ง Bitcoin หากันได้ทั่วโลกแบบไม่มีข้อจำกัด นั่นหมายความว่า คุณสามารถที่จะเดินเข้าไปในตลาดกระดานซื้อขายได้ในขณะที่คุณยังนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์
ข้อดีของเว็บกระดานแลกเปลี่ยนจะมีดังนี้
- สภาพคล่องสูงที่สุดในบรรดาประเภทเว็บแลกเปลี่ยนทั้งหมด – เนื่องจากเป็นตลาดโดยรวมที่ใครๆก็เดินเข้ามาทำการซื้อขายกัน ไม่ต่างจากตลาดหุ้น
- ราคาที่ถูกลง – เมื่อสภาพคล่องสูงแล้ว ราคาก็ถูกลง เนื่องจากการที่หลายๆคนทำการแย่งกันซื้อขายนั้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางตลาด แย่งกันตั้ง order ตัดราคากันเพราะต้องการให้มีการ fill order นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ตัวเลือกหลากหลาย – ด้วยความที่มีสภาพคล่องสูงนั้น ส่งผลให้ทางเว็บสามารถลิสเหรียญ altcoin ตัวอื่นๆมาให้ผู้ใช้งานได้ทำการซื้อขายได้ด้วย
ทว่าข้อเสียของกระดานแลกเปลี่ยนจะมีดังนี้
- ความผันผวนของราคาที่สูง – โวลลุ่มที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความผันผวนของราคาที่ใหญ่ยิ่ง และด้วยธรรมชาติของเหรียญ cryptocurrency ที่สามารถโอนหากันทั่วโลกได้ ส่งผลให้ราคาของเหรียญคริปโตบนกระดานแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูงกว่าเว็บซื้อขายประเภทอื่นๆ
- ความล่าช้าในการฝากและโอน – เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการนั้นให้บริการแค่สถานที่ๆใช้ในการแลกเปลี่ยนไม่ได้ขึ้นกับลูกค้าโดยตรง การถอนเงินจากเว็บกระดานแลกเปลี่ยนจึงมีความล่าช้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาตั้งแต่ เป็นระดับชั่วโมงจนถึงหนึ่งวัน แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทั้งสองผู้ให้บริการด้าน spot exchange ในไทยทั้งสองเจ้าก็มีการแก้ไขปัญหาความล่าช้าตรงส่วนนี้แล้ว จึงทำให้ผู้ใช้งานในไทยสามารถตัดปัญหาข้อนี้ออกไปได้ ทว่าเว็บผู้ให้บริการนอกไทยนั้นอาจจะประสบปัญหาดังกล่าวอยู่
- ตกเป็นเป้าของนักแฮคมากกว่า – ในอดีตนั้นมีเว็บเทรดหลายๆเว็บที่ตกเป็นเป้าโจมตีของนักแฮค อันเนื่องมาจากมีสภาพคล่องและมูลค่าการซื้อขายต่อวันที่มหาศาล จึงเป็นที่ต้องตาต้องใจนักแฮคมากกว่าเว็บซื้อขาย Bitcoin หรือ altcoin ประเภทอื่นๆ
ผู้ให้บริการกระดานซื้อขายในประเทศไทย
ปัจจุบันผู้ให้บริการเว็บกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin และเหรียญ cryptocurrency อื่นๆในประเทศไทยนั้นมีอยู่หลายที่คือ
- Bitkub – เว็บกระดานแลกเปลี่ยนสัญชาติไทย ก่อตั้งบนความร่วมมือของอดีต CEO ของ Garena และอดีตผู้บริหาร Goldman Sachs
- Satang Pro – เว็บกระดานแลกเปลี่ยนสัญชาติไทย เป็นรายที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งโดยผู้สร้างเหรียญ ZCoin
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
II. เว็บแลกเปลี่ยนกับเจ้าของโดยตรง (Broker)
เว็บ Broker คือการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเจ้าของเว็บโดยตรง ซึ่งต่างกับผู้ให้บริการกระดานแลกเปลี่ยนตรงที่พวกเขาเป็นแค่ผู้ให้บริการสถานที่ แต่จะไม่ลงมาซื้อขายกับลูกค้า ในปัจจุบันบริการประเภทนี้ถูกสร้างออกมามาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการจะซื้อหรือขาย Bitcoin อย่างรวดเร็วแบบไม่ต้องการความยุ่งยาก กล่าวคือการซื้อขายกับผู้ให้บริการในลักษณะนี้ไม่ต่างกับการกำเงินสดเดินเข้าไปในร้านแลกเปลี่ยนของเขา และเดินออกมาพร้อมกับ Bitcoin ที่คุณซื้อ โดยขั้นตอนทั้งหมดจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และสะดวกในแบบที่กระดานแลกเปลี่ยนก็ทำไม่ได้
ข้อดีของเว็บแลกเปลี่ยนกับเจ้าของโดยตรงจะมีดังนี้
- ความสะดวกและรวดเร็ว – เนื่องด้วยลักษณะธุรกิจเป็นแบบ Business to customer (B2C) การซื้อขายจะถูกทำบนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ กล่าวคือลูกค้าโอนเงินเข้าไปซื้อ และถอนออกมาเป็น Bitcoin ในระยะเวลาระดับนาที ผู้ให้บริการบางบริษัทถึงกับทำแอพมือถือที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นกระเป๋าเงินและ Bitcoin อยู่ในตัวเดียวกัน สร้างความสะดวกและรวดเร็วในการใช้งานมากขึ้นไปอีก
- ความผันผวนของราคาที่ต่ำกว่า – ในเว็บผู้ให้บริการบางเว็บจะมีการอัพเดตราคาล่าสุดที่ช้ากว่ากระดานซื้อขายแบบ Real-time ทำให้โอกาสการผันผวนของราคานั้นน้อยกว่า และปลอดภัยในการเข้าซื้อมากกว่า
- ระบบ Customer support ที่ดีกว่า – อีกหนึ่งข้อดีของโมเดลธุรกิจแบบ B2C ก็คือการโฟกัสการให้บริการกับลูกค้าโดยตรง นั่นหมายความว่าปัญหาทุกอย่างจะสามารถถูกแก้ไขได้โดยทีม customer support ของผู้ให้บริการชนิดนี้ อีกทั้งยังมีความรวดเร็วกว่าด้วย ส่วนใหญ่ทีม customer support ของผู้ให้บริการชนิดนี้จะไม่เน้นเปิด ticket หรือส่ง email แต่จะเป็นการแชทกับทีมโดยตรงเพื่อความเร็วและเข้าถึง
ข้อเสียของเว็บแลกเปลี่ยนกับเจ้าของโดยตรงจะมีดังนี้
- Spread ที่สูงและแพงหูฉี่ – แน่นอน บริการที่เร็วและดีก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมา ปัจจุบันผู้ให้บริการทางด้านนี้จะอยู่ได้ด้วยการถ่าง spread หรือการกินกำไรด้วยการตั้งเรทราคาซื้อขายให้แพงกว่าตลาดโลกและกระดานซื้อขายส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นกระดานซื้อขายมีการตั้งขาย Bitcoin อยู่ที่ 2000 บาทต่อ 1 BTC ทางเว็บผู้ให้บริการซื้อขายเหล่านี้ก็อาจจะมีการกินกำไรด้วยการตั้งเรทขายอยู่ที่ 3000 บาทต่อ 1 BTC และกลับกันในกรณีซื้อ เช่น ถ้าหากกระดานซื้อขายมีการตั้งรับซื้อ Bitcoin อยู่ที่ 1900 บาทต่อ 1 BTC ทางทางเว็บผู้ให้บริการซื้อขายเหล่านี้ก็อาจจะมีการกินกำไรด้วยการตั้งเรทรับซื้ออยู่ที่ 1000 บาทต่อ 1 BTC ขึ้นอยู่กับเว็บแต่ละเว็บ
- สภาพคล่องต่ำ – การมีสภาพคล่องของตลาดที่ต่ำนั้นจะเป็นตัวที่บ่งบอกราคา spread บนตลาดนั้นๆอย่างดี ยิ่งสภาพคล่องต่ำ spread ก็ยิ่งถ่างมาก ซึ่งกรณีนี้ก็มักจะเป็นส่วนใหญ่ และเรื่องธรรมดาของเว็บแลกเปลี่ยนชนิดนี้
- ไม่รองรับเหรียญ cryptocurrency หลายๆประเภท – แน่นอน เมื่อสภาพคล่องที่ต่ำกว่าเว็บกระดานเทรด ส่งผลให้การ reserve หรือเก็บเหรียญ altcoin อื่นๆไว้รอให้บริการลูกค้านั้นมีความเสี่ยงทางด้านการผันผวนราคาตลาดสูง วิธีแก้ที่ดีที่สุดก็คือการไม่รองรอบเหรียญพวกนี้เสีย โดยเว็บแลกเปลี่ยนกับเจ้าของส่วนใหญ่จะมีเหรียญให้แลกเปลี่ยนเพียงแค่เหรียญเดียวเท่านั้น ก็คือ Bitcoin
ผู้ให้บริการเว็บแลกเปลี่ยนกับเจ้าของโดยตรงในประเทศไทย
ปัจจุบันเว็บผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนโดยตรงกับเจ้าของชนิดนี้ที่จดทะเบียนบริษัทถูกต้องตามกฎหมายมีอยู่สองเจ้าก็คือ
- Coins.co.th – รายแรกของผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนในไทยสัญชาติต่างประเทศ
- Satang – เว็บผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสัญชาติไทยอีกรายที่เปิดให้บริการมานานพอสมควร เจ้าของคือผู้ที่สร้าง Zcoin หรือคุณปรมินทร์ อินโสม
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
III. เว็บแลกเปลี่ยนแบบ P2P (P2P Exchange)
เว็บแลกเปลี่ยนประเภทนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่ๆได้รับความนิยมน้อยสุดในปัจจุบัน อ้างอิงจากผลสำรวจของสยามบล็อกเชนที่เคยทำไว้เมื่อกลาวเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หากจะอธิบายแบบง่ายๆนั้น มันคือเว็บ “ขายดีดอทคอมสำหรับแลกเปลี่ยน Bitcoin” ถูกต้องแล้วครับ ผู้ใช้งานสามารถที่จะโพสประกาศซื้อหรือขาย Bitcoin ได้ด้วยตัวเองผ่านแพลทฟอร์มดังกล่าว และยังสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะส่ง Bitcoin ผ่านระบบ escrow ของระบบ หรือจะนัดเจอกันและทำการแลกเปลี่ยนแบบตัวต่อตัวกับคู่ค้า เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ดั้งเดิมที่ Satoshi Nakamoto คิดขึ้นมา นั่นก็คือการแลกเปลี่ยนแบบ P2P
ข้อดีของแลกเปลี่ยนแบบ P2P จะมีดังนี้
- ปลอดภัย 100% – คุณเจอประกาศตั้งขาย Bitcoin บนเว็บ และตัดสินใจกดเข้าไปเพื่อต้องการซื้อ เจ้าของประกาศขายบอกคุณให้โอนเงินเข้าบัญชีนี้ และเขาจะทำการ release (ปลดปล่อย) Bitcoin ให้กับคุณผ่านระบบ escrow (ระบบที่จะกัก Bitcoin ไว้บนบัญชีกลางของเว็บ เพื่อป้องกันการโกง) ถ้าคุณโกง ไม่โอนเงินไป Bitcoin ก็จะไม่ถูกส่ง หรือถ้าคนขายโกงได้รับเงินแล้วแต่ไม่ยอมส่ง Bitcoin ระบบก็จะทำการตรวจสอบ และถ้าหากว่าได้รับจริงแล้วนั้น Bitcoin ก็จะถูกโอนไปยังผู้ซื้อในท้ายสุด หรือถ้าหากคุณไม่ไว้ใจระบบ คุณก็สามารถที่จะนัดเจอกับผู้ซื้อหรือผู้ขายแบบตัวต่อตัวเพื่อทำการแลกเปลี่ยนแบบยื่นหมูยื่นแมวได้อีกด้วย
- มีให้หาได้ในทุกๆที่ – ในเว็บผู้ให้บริการประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีระบบ geolocation ที่สามารถตรวจสอบตลาดตามสถานที่ต่างๆบนโลกนี้ได้ จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางที่เดินทางไปตามประเทศอื่นๆทั่วโลก และยังต้องการหาซื้อ Bitcoin จากผู้ขายในประเทศนั้นๆผ่านระบบช่วยตรวจหาผู้ซื้อขายทั่วโลกของเว็บ
- ไม่ต้องการการยืนยันตัวตนที่ซับซ้อน – อาจถือเป็นข้อดีสำหรับบางคน เว็บประเภทนี้อาจจะไม่มี layer ความปลอดภัยในการยืนยันตัวตนที่แน่นหนาเหมือนกับเว็บซื้อขายประเภทอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางที่ชอบเดินทางบ่อยๆ และต้องการความรวดเร็วในการเข้าถึง Bitcoin
ข้อเสียของเว็บแลกเปลี่ยนแบบ P2P จะมีดังนี้
- Spread ที่สูงและแพงหูฉี่ – และก็อีกเช่นกัน ผู้ขายรายบุคคลนั้นมีสภาพคล่องที่ต่ำ ดังนั้น spread การซื้อขายจึงสูงกว่าในตลาดกระดานแลกเปลี่ยน และบางครั้งอาจสูงกว่าเว็บซื้อขายกับเจ้าของโดยตรงด้วย
- ตั้งซื้อขายเองใช้เวลานานกว่าจะมีคนมาซื้อ – ไม่ต่างกับการตั้งซื้อขายบนเว็บขายของมือสอง การที่คุณเพื่งจะสมัครสมาชิกใหม่แล้วจะไปเปิดซื้อขายในทันทีนั้น โอกาสที่จะมีคนเข้ามาซื้อหรือขายกับคุณทันทีนั้นเป็นไปด้วยความยากมาก หรือบางครั้งอาจจะไม่มีเลย
- ไม่ต้องการการยืนยันตัวตนที่ซับซ้อน – และก็อาจจะถือเป็นข้อเสียสำหรับบางคนเช่นกัน เช่นรัฐบาล เนื่องด้วยมันไม่ต้องการการยืนยันตัวตนที่ซับซ้อน จึงอาจจะทำให้มีโอกาสอาชญากรรมทางด้านการเงินอย่างเช่นการฟอกเงินสูงกว่า
ผู้ให้บริการเว็บแลกเปลี่ยนแบบ P2P ในประเทศไทย
ปัจจุบันนั้นถือว่าไม่มี ทว่าเว็บ Pooldax ที่เป็นอันดับหนึ่งในผู้ให้บริการเว็บซื้อขาย Bitcoin แบบ P2P นั้นมีระบบ Global market หรือตลาดแลกเปลี่ยนเพื่อให้คนสามารถจับคู่ซื้อขายกันเองนั้นรองรับประเทศไทยด้วย ทว่าผู้ใช้งานควรที่จะใช้ด้วยความระมัดระวัง
วิธีการเลือกใช้งานเว็บเทรด
สำหรับวิธีการเลือกใช้เว็บเทรดนั้นมีวิธีการวิเคราะห์ในหลายๆด้าน บางคนก็เลือกดูที่โวลลุ่มการซื้อขายของเว็บนั้น, บางคนก็เลือกดูที่ความน่าเชื่อถือ, บางคนก็ดูที่เจ้าของว่าประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร ทางสยามบล็อกเชนได้จำแนกวิธีดูความน่าเชื่อถือของเว็บแลกเปลี่ยนไว้ดังนี้
- ตรวจสอบเว็บเทรดดังกล่าวว่าได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ – กุญแจสำคัญในการที่จะเปิดเว็บซื้อขาย Bitcoin ได้อย่างประสบความสำเร็จนั้นคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับลูกค้า ดังนั้นการที่เว็บผู้ให้บริการได้การรับรองจาก ก.ล.ต. ด้วยการมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นข้อจำเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน (ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562) นั้นมีผู้ให้บริการทั้งหมด 4 รายด้วยกันที่ได้รับใบอนุญาตในไทย นั่นก็คือ Satang Pro, Bitkub และ Coins.co.th
- ตรวจสอบดูว่าเว็บดังกล่าวมีการให้ทำ KYC หรือไม่ – เนื่องด้วยการที่ Bitcoin นั้นสามารถถูกโอนหากันได้อย่างไร้ตัวตน การทำ KYC หรือ Know your customer ที่ให้ผู้ใช้งานอัพโหลดรูปตัวเองถือบัตรประจำตัวประชาชน และอัพโหลดบิลค่าไฟเพื่อยืนยันที่อยู่นั้น เป็นการบ่งบอกว่าทางผู้ใช้งานจะไม่นำเอาเหรียญ cryptocurrency นี้ไปใช้งานในด้านที่ผิดกฎหมาย เช่นการฟอกเงิน หรือการนำไปซื้อยาเสพย์ติด เนื่องจากทางเว็บผู้ให้บริการจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปอำนวยความสะดวกให้ทางตำรวจหรือรัฐบาลได้ในกรณีที่มีผู้นำมันไปใช้ในทางผิดกฎหมาย
- ตรวจดูประวัติที่มาของเว็บดังกล่าวว่าในอดีตเคยถูกแฮคหรือไม่ – บางทีมันอาจจะไม่แฟร์ที่จะคัดเอาเว็บผู้ให้บริการออกจากลิสเพียงเพราะด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาเคยถูกแฮคมาก่อน ซึ่งบางครั้งการที่พวกเขาเรียนรู้บทเรียนอันแสนแพงนั้นมาแล้ว อาจทำให้พวกเขาตัดสินใจอัพเกรดระบบให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของข้อสุดท้าย ที่ผู้ใช้งานควรจะดูว่าเว็บดังกล่าวนั้น…
- ใช้ระบบ cold storage ในการเก็บเหรียญ cryptocurrency หรือไม่ – การใช้ระบบ cold storage คือการเก็บเหรียญ cryptocurrency ไว้ใน HDD หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ hardware และดึงปลั๊กมันออกมา ให้ขาดจากการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือ Internet ทั้งปวง ซึ่งการเก็บข้อมูลแบบนี้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าสามารถที่จะปลอดภัยจากการถูกแฮคผ่านอินเทอร์เนตได้แบบ 100% (เว้นแต่เสียว่าจะแฮคกันเองภายในบริษัท) ซึ่งบางครั้งทางผู้ให้บริการอาจจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ แต่ทางผู้ใช้งานก็สามารถที่จะสอบถามก่อนได้เพื่อความมั่นใจ
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
ทำไมถึงต้องมีการทำ KYC
การทำ KYC หรือ Know Your Customer นั้นถือเป็นการเรียกเก็บข้อมูลผู้ใช้งานแบบละเอียด และเพื่อยืนยันตัวตนว่า “คุณคือผู้ใช้งาน” บนเว็บนี้จริงๆ อีกทั้งยังทำเพื่อให้แน่ใจว่า “คุณ” หรือ “ผู้ใช้บริการ” จะไม่นำเอา cryptocurrency ที่ได้จากทางเว็บไปทำกิจกรรมด้านผิดกฎหมาย หรือจะใช้เว็บซื้อขายแห่งนั้นเพื่อการฟอกเงิน
หากมีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นจริง สิ่งที่ทางตำรวจและรัฐบาลจะหันมามองเป็นอย่างแรกคือเว็บผู้ให้บริการซื้อขาย ไม่ใช่ผู้ซื้อขาย ด้วยความที่ธรรมชาติของเหรียญ Cryptocurrency นั้นสามารถส่งหากันได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่มีตัวกลาง และไร้ตัวตนไม่สามารถรู้ตัวคนส่งได้นั้น การทำ KYC ถือเป็นการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเหรียญดังกล่าวว่าจะถูกผูกกับ address ตัวไหน และจะสามารถตามตัวได้เจอในกรณีที่ทางตำรวจต้องการจะตามตัว
ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลจีนได้สั่งปิดเว็บเทรดในประเทศจีนเป็นการชั่วคราว และสั่งให้เว็บเทรดเหล่านั้นทำการแก้ไขกฎ KYC เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายป้องกันการฟอกเงิน AML ในประเทศอีกด้วย
กราฟด้านล่างนี้เผยให้เห็นถึงสถานที่หรือเว็บไซต์ที่คนไทยสามารถไปซื้อ Bitcoin ได้
ผู้ให้บริการ | ข้อมูล | มาจากประเทศ | ประเภทของผู้ให้บริการ | ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. | |
---|---|---|---|---|---|
Bitkub กระดานซื้อขายของคนไทย กับความร่วมมือระหว่างอดีต CEO ของ Garena และผู้บริหาร Goldman Sachs | ไทย | Spot exchange | ซื้อ Bitcoin | ||
Bitazza เป็นโบรคเกอร์ผู้ให้บริการรับแลกเปลี่ยนคริปโตในไทย ที่มีหน้าตาแพลทฟอร์มเหมือนกับ Exchange | ไทย | Broker | ซื้อ Bitcoin | ||
coins.co.th เป็นผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน Bitcoin ที่จะให้คุณสามารถซื้อและขาย Bitcoin แบบง่ายๆ | ฟิลิปปินส์ | Broker | ซื้อ Bitcoin | ||
Pooldax จะช่วยจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายที่มีความต้องการตรงกัน | มอลต้า | P2P | ซื้อ Bitcoin | ||
Satang.com กระดานซื้อขาย Bitcoin รายแรกของไทยที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ นอกจากนี้เจ้าของยังเป็นผู้สร้างเหรียญ ZCoin อีกด้วย | ไทย | Spot exchange | ซื้อ Bitcoin |
สรุป
ปัจจุบันตลาดเว็บผู้ให้บริการซื้อขาย Bitcoin นั้นผุดขึ้นมามากมาย มีทั้งที่จดทะเบียนบริษัทอย่างถูกกฎหมาย และยังไม่ได้จดทะเบียน ผู้ใช้งานควรที่จะเลือกใช้บริการกับผู้ให้บริการเหล่านี้ให้ดี ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และก็เช่นกัน อย่านำ cryptocurrency ไปใช้ทำผิดกฎหมายนะครับ
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น