นาทีนี้เชื่อว่า Cryptocurrency น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนได้ยินกันอยู่บ่อยๆ อีกทั้งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง เห็นได้จากในแต่ละประเทศที่กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถนำมาพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การเงินในประเทศได้
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาเราจะเคยเห็นข่าวที่หลายๆ ประเทศเริ่มตื่นตัวและหันมาศึกษาการใช้งานของ Cryptocurrency จนบางประเทศออกกฎหมายให้ Cryptocurrency เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย หรือพัฒนาจนสามารถเอาไปใช้ได้ใช้ชีวิตจริง
หมู่บ้านคริปโต
หมู่บ้านในเกาหลีใต้เริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะผลิตคริปโตของตัวเองที่ชื่อว่า Gyeongbuk Coin เพื่อนำมาใช้จับจ่ายใช้สอยในหมู่บ้าน และนำมาใช้แทนบัตรของขวัญ (Gift Cards) เปรียบเสมือนเป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain มา Disrupt เทคโนโลยีเดิมนั่นเอง
หรือหมู่บ้านในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า Zug City หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ “Crypto Valley” นั้นก็ได้ทดลองที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้งานเช่น นำไปใช้ในการเลือกตั้งโดยผ่านแพลตฟอร์ม Ethereum นั่นเอง
ด้าน ฟิลิปปินส์เองก็ได้สร้างหมู่บ้านด้านคริปโต เพื่อที่จะเป็นการสนับสนุนเทคโนโลยี Blockchain ในประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัฐบาลในการส่งเสริม Ecosystem ของบริษัทด้าน Fintech เพื่อดึงดูด บริษัทนานาชาติด้าน Blockchain มาตั้งในประเทศฟิลิปปินส์นั่นเอง
คริปโตในไทย
กลับมาดูในประเทศไทยกันบ้าง สำหรับประเทศไทยนั้นเทคโนโลยี Blockchain หรือ Cryptocurrency ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับในประเทศแล้วเพราะว่าทางรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ถูกบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561
และถ้าจะพูดถึงเรื่องที่ว่าประเทศไทยจะมีโอกาสได้ใช้เหรียญคริปโตในประเทศได้หรือไม่นั้น ถ้าย้อนมองภาพในอดีตมีเคสที่เป็นลักษณะของกลไกการทำงานคล้าย ๆ กับ Cryptocurrency อย่าง “เบี้ยกุดชุม” ที่เกิดขึ้นในจ.ยโสธร
เบี้ยกุดชุมคือเงินตราชุมชนของชาวบ้าน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร โดยจุดประสงค์ของมันก็คือทำให้สมาชิกกลุ่มผู้ใช้เบี้ยนั้นสามารถกำหนดราคา และคุณภาพสินค้าในการแลกเปลี่ยนเบี้ย โดยใช้วิธีการแบบผสม คือใช้ควบคู่กับเงินบาท สัดส่วนเท่าใดนั้นแล้วแต่สมาชิกจะตกลงราคากันเอง ซึ่งเบี้ยกุดชุมเป็นภาพของการแลกเปลี่ยนในลักษณะแบบ Peer To Peer
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังก็ได้ออกมาทักท้วงการใช้เบี้ยกุดชุมของชาวบ้านโดยระบุว่ามันผิดกฏหมาย พร้อมให้เหตุผลว่า มันเป็นการใช้เบี้ยเลียนแบบเงินตราของประเทศ
การนำเสนอเรื่องราวของสื่อต่าง ๆ ทำให้ทุกฝ่ายในสังคมหันมาสนใจชุมชนแห่งนี้ด้วยมุมมองที่หลากหลาย และมีบางส่วนที่มีการนำเสนอออกมาในเชิงลบ โดยสุดท้ายนั้น “เบี้ยกุดชุม” เป็นเพียงการทดลองใช้ระบบเงินตราชุมชนเท่านั้น
จากที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้นเบี้ยกุดชุมมีลักษณะที่คล้ายกับ Cryptocurrency ในแง่ของกลไกการแลกเปลี่ยน เพียงแต่เบี้ยกุดชุมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ใช้จ่ายกันภายในชุมชม ส่วนคริปโตนั้นเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วโลกและจับต้องไม่ได้
โปรเจกต์อินทนนท์
แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ประเทศโปรเจกต์อินทนนท์ เพื่อศึกษาการใช้งานของ Cryptocurrency ภายใต้ความร่วมมือของแบงก์ชาติ และ ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางแบงก์ชาติประกาศโปรเจกต์เหรียญคริปโตแห่งชาติที่มีชื่อว่า “อินทนนท์” โดยระบุว่าโปรเจกต์นี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือของธนาคารอีก 5 ธนาคาร (รายงานไม่ได้เผยว่ามีธนาคารอะไรบ้าง)
ซึ่งจุดประสงค์หลัก ๆ ที่สร้างขึ้นนั้นก็เพื่อศึกษาเทคโนโลยี Blockchain ในแง่ของการสร้างเหรียญ Cryptocurrency ขึ้นมาใช้และเพื่อช่วยลดต้นทุนในด้านการเงิน แต่สุดท้ายแล้วโปรเจกต์อินทนนท์จะถูกเอามาใช้ในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ในประเทศเท่านั่นเอง
ล่าสุดวันที่ 21 สิงหาคม 2018 แบงก์ชาติได้ประกาศว่าพวเขาจับมือกับแบงก์พาณิชย์ 8 แห่ง ในการผลักดัน”โปรเจ็กต์อินทนนท์” ทดสอบเงินดิจิทัล โดยผู้ที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบต้นแบบของการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ออกโดยธนาคารกลาง บนแพลตฟอร์ม Corda ซึ่งเป็นระบบ DLT ที่พัฒนาโดยบริษัท R3 โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสิ้นการทดสอบภายในในไตรมาส 1 ปี 2019
สรุป
นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อหน่วยงานอย่างแบงก์ชาติกำลังศึกษาและทดลองการใช้เทคโนโลยี Blockchain แต่อย่างไรก็ตามการที่คริปโตในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้นั้น อาจต้องรอดูว่าการทดลองโปรเจกต์อินทนนท์ของแบงก์ชาติจะสำเร็จและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงได้หรือไม่ แล้วถ้าสำเร็จจริง ทางรัฐบาล หน่วยงาน สถาบันที่เกี่ยวข้อง จะเห็นชอบว่าการมีคริปโตในประเทศไทยนั้น จะช่วยสร้างประโยชน์และสามารถพัฒนาประเทศชาติได้จริงหรือไม่อย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในอนาคตระยะยาวเราอาจได้เห็นเหรียญคริปโตในประเทศก็เป็นได้
กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น