<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

หนุ่มวัย 21 ปี ใช้ AI ถอดรหัสม้วนหนังสือโบราณอายุ 2,000 ปีสำเร็จ ก้าวสู่การค้นพบครั้งใหญ่

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อปีคริสต์ศักราช 79 ได้เกิดการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius) ประเทศอิตาลี ซึ่งภัยพิบัติครั้งนั้นถือเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ชุมชนชาวโรมันหลายแห่งล่มสลาย และถูกฝังอยู่ภายใต้เถ้าภูเขาไฟที่หนักกว่าหลายล้านตัน

ต่อมาในปี 1752 ได้มีการขุดค้นหมู่บ้านโบราณที่อาจเป็นของพ่อตาของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Ceasar) ในเมืองเฮอร์คิวเลเนียม และนำไปสู่การค้นพบม้วนกระดาษปาปิรุสที่ถูกฝังอยู่ใต้เถ้าภูเขาไฟลึกกว่า 60 ฟุต โดยนับตั้งแต่วันแรกที่ถูกค้นพบ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนไหนเลยที่สามารถถอดข้อความในม้วนกระดาษดังกล่าวได้

Luke Farritor นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วัย 21 ปี กลายเป็นบุคคลแรกของโลกที่สามารถอ่านคำศัพท์จากม้วนกระดาษปาปิรุสดังกล่าว เนื่องจาก Farritor ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อระบุคำภาษากรีก จนได้คำศัพท์ที่แปลว่า “สีม่วง” ในม้วนกระดาษคาร์บอนจำนวนหลายร้อยม้วนที่ถูกขุดพบในเฮอร์คิวเลเนียม

ม้วนกระดาษที่ Luke Farritor ถอดรหัสข้อความได้ ที่มา: scrollprize

การค้นพบดังกล่าว ส่งผลให้ Farritor ได้รับรางวัลจาก Vesuvius Challenge ผู้จัดงานแข่งขันที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบเงินรางวัล 1,000,000 ดอลลาร์ให้กับผู้เข้าร่วมที่สามารถใช้ AI เทคโนโลยี  machine learning และคอมพิวเตอร์ เพื่อการระบุตัวอักษรและคำในม้วนกระดาษเหล่านี้

ถึงแม้เขาจะสามารถระบุได้แค่คำแรก แต่ Farritor ก็ได้รับรางวัล First Letters Award มูลค่ากว่า 40,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ จำนวน 2 รางวัลให้กับ Youssef Nader นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ชีวภาพที่ Free University of Berlin ซึ่งค้นพบคำเดียวกันนี้ตามหลัง Farritor ได้ไม่นาน และ Casey Handmer นักฟิสิกส์และผู้ประกอบการผู้บุกเบิกเทคนิคที่นำไปสู่การค้นพบครั้งนี้

Vesuvius Challenge เป็นผู้นำของทีมที่ประกอบด้วยนักลงทุนด้านเทคโนโลยี Nat Friedman และ Daniel Gross รวมไปถึง Brent Seales ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ ได้ใช้เวลาสองทศวรรษในการพัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพและเทคโนโลยี machine learning รูปแบบใหม่ ๆ ที่อาจช่วยไขความลับในม้วนกระดาษเหล่านี้

เรื่องราวเหตุการณ์ในครั้งนี้เริ่มต้นในปี 2019 เมื่อศาสตราจารย์ Brent Seales ถ่ายภาพแถบ Herculaneum ในตัวเร่งอนุภาค และสร้างเครื่องสแกน CT 3 มิติ ที่มีความละเอียดสูงถึง 4 µm

ศาสตราจารย์ Brent Seales และทีมกำลังใช้เครื่องสแกนตัวเร่งอนุภาค ที่มา: scrollprize

โมเดล machine learning แยกข้อความออกจากส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มา: scrollprize

Seales และเพื่อนร่วมงานของเขาได้เปิดตัวการแข่งขันเพื่อถอดรหัสข้อความโบราณ เพราะคาดว่าม้วนกระดาษหลายม้วนเหล่านี้อาจสูญหายไปตามกาลเวลา อีกทั้งม้วนเหล่านี้ทั้งหมดยังมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกด้านใหม่ ๆ เกี่ยวกับชีวิตในสมัยโบราณ จนอาจสามารถไขความลึกลับบางอย่างในประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย

ในขณะนี้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากทั่วทุกมุมโลกกำลังพยายามแข่งขันกันถอดรหัสข้อความในม้วนกระดาษ เพื่อชิงรางวัลใหญ่มูลค่า 700,000 ดอลลาร์ ซึ่งจะตกเป็นของใครก็ตามที่สามารถถอดรหัสทั้ง 4 ข้อความจากม้วนกระดาษได้ โดยแต่ละข้อความจะมีอักขระต่อเนื่องกันอย่างน้อย 140 ตัว ซึ่งการแข่งขันนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2023

ตัวอย่างม้วนกระดาษในการแข่งขันถอดรหัสข้อความ ที่มา: scrollprize

ที่มา: vice