<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ข้ออ้างยอดนิยมที่แม่ทีมแชร์ลูกโซ่เงินดิจิตอลใช้เพื่อหลอกหาสมาชิกใหม่

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในช่วง 2-3 ปีมานี้เทรนด์หรือกระแส cryptocurrency และ Blockchain ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่ทำให้มันได้รับความนิยมอย่างมากคงจะหนีไม่พ้นเทคโนโลยีที่หนุนหลังมันอยู่, การโอนและส่งหากันด้วยความรวดเร็ว, ความปลอดภัย และแน่นอนที่สำคัญ ราคาและมูลค่าตลาดของมันที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าหลายๆคนที่เข้ามาในวงการนี้ส่วนใหญ่ต้องการที่จะเก็งกำไรและหารายได้จากมันมากกว่าการนำมาใช้งานจริงในชีวิตประจำวันเหมือนที่แก่นแท้ของมันถูกกำหนดไว้ และแน่นอน ความนิยมของมันได้ส่งผลให้ใครๆอีกหลายคนต้องการที่จะสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมา ไม่ว่าจะทั้งเพื่อการระดมทุน, เพื่อความสนุก และหรือเพื่อกระทั่งหลอกลวงคนธรรมดาที่ด้อยการศึกษาเพื่อเอาเงินจากพวกเขา

นิยามของคำว่า Cryptocurrency

คำว่า Cryptocurrency ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ทุกวันนี้ หากลองมาดูดีๆแล้วมันจะเป็นการรวมตัวของคำสองคำซึ่งก็คือคำว่า cryptography (การเข้ารหัส) และ currency (สกุลเงิน) หรือถ้าแปลตรงตัวก็คือสกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส ซึ่งคอนเซปและแนวคิดเริ่มแรกของมันนั้นถูกคิดค้นและพัฒนาด้วยบุคคล (หรือกลุ่มคน) ปริศนาชื่อ Satoshi Nakamoto และคลอดออกมาเป็นเหรียญ Bitcoin เหรียญแรกของโลกเมื่อปี 2009 ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain ที่สร้างชื่อเสียงให้เจ้าเหรียญตัวนี้มีหลักการทำงานในการเข้ารหัสชื่อว่า SHA-256 ที่สามารถอธิบายได้ง่ายๆดังนี้

สมมติว่าผมมีประโยค 1 ประโยคที่เขียนว่า “สวัสดีครับ” เมื่อถูกนำไปเข้ารหัส SHA-256 แบบเฉพาะของมันก็จะกลายเป็น

6e795f1d3f0ba8eb3a9372cf2a20acdd90a3f59e5a33583e7e7d19c818b416bb

ไม่เชื่อหรือครับ? ลองเข้าไปที่เว็บนี้แล้วก็อปชุดตัวเลขและตัวหนังสือด้านบนไปวางไว้ในช่องจากนั้นกด Decrypt ดูก็จะได้ตัวหนังสือแบบที่ผมเขียนไว้ด้านบนพอดี ซึ่งนี่คือการทำงานของการเข้ารหัสและถอดรหัส

แม้ว่าการทำงานในการเข้าและถอดรหัสของ Bitcoin นั้นจะค่อนข้างซับซ้อนกว่า เราคงจะไม่นำมาอธิบายอย่างละเอียดมากนักในบทความนี้ แต่ภาพด้านล่างนี้น่าจะทำให้หลายๆคนเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงานของมัน

หลักการจำแบบง่ายๆก็คือ เหรียญ Cryptocurrency นั้นคือเหรียญที่มีการเก็บธุรกรรมบน Blockchain ที่โปร่งใส ทุกๆคนสามารถที่จะเข้ามาตรวจสอบดูธุรกรรมของทุกๆคนได้หมดตั้งแต่ถือกำเนิดเหรียญตัวนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งเหรียญใดก็แล้วแต่ที่ไม่มีการเปิดเผย Blockchain ของตัวเอง หรือไม่มี Blockchain ของตัวเองนั้นจะถือว่า

“ไม่ใช่สกุลเงิน Cryptocurrency”

ข้ออ้างที่กลุ่มแชร์ลูกโซ่มักจะใช้

วันนี้ทางสยามบล็อกเชนได้รวบรวมข้ออ้างที่แม่ทีมแชร์ลูกโซ่เงินดิจิตอลใช้มาเพื่อดึงเอา Bitcoin เข้าไปเกี่ยวข้อง และนำสกุลเงินของตัวเองไปเปรียบเทียบกับ Bitcoin เพื่อจงใจให้ผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านนี้หลงกลและหลงเชื่อ และถูกหลอกลวงไปในท้ายที่สุด

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

  1. Bitcoin ไม่มีบริษัทและไม่มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย
    ข้อเท็จจริง – Bitcoin นั้นถือเป็นสกุลเงิน Cryptocurrency ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกของเราประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และธนาคารหลายๆธนาคารเอาเงินของลูกค้าที่ฝากไว้ไปอุ้มเศรษฐกิจของตัวการบ่อนทำลายเศรษฐกิจโดยไม่ได้ขออนุญาตประชาชน ดังนั้นแนวคิดเพื่อสร้างสกุลเงินที่ไม่จำเป็นต้องมีคนกลางเข้ายุ่งวุ่นวายอย่างเช่นธนาคารจึงเกิดขึ้นมา ซึ่งนั่นหมายความว่าสกุลเงินดังกล่าวนั้นจะต้องทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ไม่มีศูนย์กลาง มีความไร้ตัวตนโดยสมบูรณ์ และไม่มีใครมาเป็นเจ้าของโดยเบ็ดเสร็จไม่ว่าจะทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย ดังนั้นเทคโนโลยี Blockchain ที่มีรูปแบบการกระจายศูนย์ (Decentralization) จึงเกิดขึ้นมา ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเป็นส่วนร่วมในการช่วยให้ระบบ Bitcoin ทำงานได้ดียิ่งขึ้น (โดยการเปิด full node หรือการขุด) ดังนั้นคำกล่าวที่ว่ามันไม่มีบริษัทและการจดทะเบียนตามกฎหมายนั้น ต้องบอกว่ามันถูกกำหนดขึ้นมาเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรกแล้วมากกว่า เมื่อมันไม่มีใครเป็นเจ้าของได้มาตั้งแต่เริ่มแบบไหน ก็จะเป็นแบบนั้นอีกตลอดไป ทว่าเรื่องกฎหมายนั้น ในขณะนี้มีบางประเทศที่ออกกฎหมายให้การใช้งาน Bitcoin นั้นสามารถนำมาใช้ซื้อสินค้าแทนเงินสดแล้ว เช่นประเทศญี่ปุ่นที่ทางรัฐบาลออกมาประกาศให้มันถูกกฎหมายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อีกทั้งยังประกาศยกเลิกภาษีผู้บริโภค 8% สำหรับผู้ใช้งาน Bitcoin เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้เจ้าเหรียญตัวนี้อีกเยอะด้วย
  2. Bitcoin ถูกนำขึ้นไปไว้บนตลาดเก็งกำไรทำให้ราคาผันผวนมาก
    ข้อเท็จจริง – ตลาดซื้อขายหรือที่บางคนเรียกว่าตลาดเก็งกำไรนั้น ภาษานักเทรดจะใช้คำว่า spot market ซึ่งตลาดดังกล่าวนี้ถือเป็นมาตรฐานของทั่วโลกที่แทบจะทุกประเทศใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดซื้อขายหุ้น, ตลาดซื้อขายสินค้าทั่วๆไปหรือแม้แต่ตลาดซื้อขายหินแร่อย่างเงินและทองคำ (Comodities) จุดกำเนิดของตลาดนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถูกคิดค้นเพื่อรองรับอุปสงค์และอุปทานของคนหมู่มาก ซึ่งหลักการง่ายๆก็คือถ้าสินค้าในตลาดมีมากและความต้องการน้อย ราคาก็จะถูกลง หรือถ้าหากสินค้าในตลาดมีน้อยและความต้องการมาก ก็จะทำให้ราคาของมันแพงขึ้นเป็นต้น ดั่งที่เราได้เห็นกันในชีวิตประจำวันเช่นราคาทอง, ราคายาง, ราคาน้ำมัน เป็นต้น ในขณะที่ Bitcoin ก็มีการซื้อขายโดยอ้างอิงจากอุปสงค์และอุปทานเช่นเดียวกันนั้น (อ่านข้อ 1 ในกรณีที่ผู้คนในประเทศญีปุ่่นเริ่มหันมาใช้ Bitcoin กันมากขึ้น) ด้วยความที่ลักษณะธรรมชาติของมันที่เป็น Cryptocurrency กล่าวคือสามารถใช้ส่งหากันได้อย่างรวดเร็ว และส่งหากันได้ทั่วโลกจึงทำให้การเติมอุปสงค์นั้นรวดเร็วกว่าสินค้าอย่างเช่นทอง จึงส่งผลทำให้ราคาการซื้อขายของมันมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนที่รวดเร็วตาม
  3. Bitcoin มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญจึงไม่เพียงพอในการนำไปใช้จ่ายจริง
    ความจริง – การจำกัดจำนวนของ Bitcoin ที่ 21 ล้านเหรียญนั้นเป็นแผนการของ Satoshi Nakamoto ที่คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เหตุผลหลักๆก็เนื่องมาจากปัญหาเงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลังถ้าหาก Bitcoin นั้นถูกผลิตออกมาแบบไร้จำนวนจำกัดแบบที่เราเห็นๆกันในอดีตในหลายๆประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อจากการพิมพ์ธนบัตรที่มีต้นทุนถูกมากๆได้เอง ส่วนคำถามที่ว่ามันจะเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่นั้น Bitcoin สามารถถูกนำไป quote ให้มีหน่วยย่อยๆได้ นั่นหมายความว่าผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อ 1 BTC (ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 138,500 บาท) แต่เขาอาจจะซื้อที่ 0.0036594 BTC ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 500 บาทก็ได้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาในอนาคตเมื่อนำมาเทียบเคียงกับหน่วยย่อยแล้วนั้น ถือว่ายังไงก็เพียงพอต่อการนำไปใช้จ่ายจริงอย่างแน่นอน
  4. Bitcoin ไม่มี KYC (Know Your Customer) ทำให้อาชญากรนำไปใช้ทำกิจกรรมผิดกฎหมาย
    ความจริง – KYC หรือ Know your customer คือการที่ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนต้องทำการเก็บข้อมูลของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน เพื่อความโปร่งใสทางด้านกฎหมาย และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้งานนั้นๆจะไม่นำ Bitcoin ไปใช้ในทางมิชอบ ปัจจุบันเว็บไซต์ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน Bitcoin ชื่อดังหลายๆที่ ไม่ว่าจะทั้งในไทยอย่างเช่น Bx หรือในหรือในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเช่น Coinbase และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนอย่าง OKCoin, BTCChina, Huobi ที่มีการตรวจสอบ KYC อย่างเข้มงวดอันเนื่องมาจากรัฐบาลของประเทศจีนนั้นเอาจริงเอาจังกับกฎหมายการฟอกเงินมาก อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า Bitcoin นั้นจะเป็นตัวเลือกที่อาชญากรหลายๆคนเริ่มหันมานิยมใช้ก่ออาชญากรรมเนื่องมาจากความไร้ตัวตนของมันที่จะไม่มีการแสดงชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้งาน แต่หากลองมาคิดดูให้ดิีๆแล้วนั้น แม้ไม่มี Bitcoin อาชญากรรมทางด้านการเงินทั่วๆไปก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ซึ่งตัวเลือกที่พวกอาชญากรเลือกใช้เหล่านั้นก็คงไม่พ้นเงินสด ในอดีตการซื้อขายยาเสพย์ติดและอาวุธก็ใช้เงินสดเช่นกัน ดังนั้นหากจะกล่าวหาว่า Bitcoin คือต้นเหตุของอาชญากรรมดังกล่าวก็คงจะไม่ถูกต้องเสมอไป เมื่อไม่นานมานี้ทางสำนักข่าว Coin Telegraph ได้รายงานให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายนั้นใช้ Bitcoin เพื่อทำกิจกรรมทางด้านผิดกฎหมายน้อยกว่าเงินสดเสียอีก ดังนั้น Bitcoin ก็น่าจะเหมือนๆกับสกุลเงินทั่วๆไปที่มีตัวตนขึ้นมาแบบเป็นกลาง เพียงแค่ไม่สามารถจับต้องได้ กล่าวคือใครจะหยิบไปใช้ทำอะไรก็ได้ โดยไม่สนว่าสิ่งๆนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่ Bitcoin ได้เปรียบมากกว่าเงินสดก็คือความโปร่งใสของมันที่มีเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นตัวขับเคลื่อน กล่าวคือผู้ใช้งานสามารถที่จะตรวจสอบที่มาที่ไปของธุรกรรมได้ตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เงินสดไม่สามารถทำได้ ดั่งที่เห็นในเคสตัวอย่างของการสืบสวนและจับกุมเจ้าของเว็บ BTC-e ที่มีการสืบหาต้นตอว่าเขาได้นำ Bitcoin ที่ถูกขโมยมาจาก Mt Gox เมื่อปี 2013 ไปฟอก และโอนเข้าหาบัญชีของตัวเองอีกด้วย
  5. ร้านค้านิยมนำ Bitcoin มาใช้น้อยกว่าสกุลเงิน [ชื่อของเงินดิจิตอลแชร์ลูกโซ่]
    ข้อเท็จจริง – ปัจจุบันมีร้านค้าประมาณ 9,600 ร้านทั่วโลกที่รับ Bitcoin เป็นช่องทางการจ่ายเงิน อ้างอิงจาก Coinmap.org และอีกราวๆ 260,000 ร้าน ที่ทางบริษัท Recruitment Lifestyle ในประเทศญี่ปุ่นออกมาคอนเฟิร์มว่าจะทำการสร้างแอพ Point of sale ที่จะทำให้ร้านค้าต่างๆสามารถรับ Bitcoin ได้ในอนาคตที่จะถึงนี้ รวมถึงยังมีร้าน BIC Camera ในห้างชินจูกุของประเทศญี่ปุ่น, สายการบิน Peach Airlines, ห้างสรรพสินค้า Marui, โรงแรมแคปซูล, ที่เริ่มรับ Bitcoin แล้ว และผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่าอาจจะมีอีกราวๆ 3 แสนกว่าร้านค้าในญี่ปุ่นที่จะรับ Bitcoin เป็นอีกหนึ่งช่องทางการใช้จ่ายในอนาคตเช่นกัน

แม้ว่าปัจจุบันนั้นผู้ใช้งานจะไม่สามารถที่จะป้องกันไม่ให้มีสกุลเงินดิจิตอลหลอกลวงหรือแชร์ลูกโซ่โผล่ขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถที่จะป้องกันได้ก็คือตัวเราเองในการที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจหลอกลวงพวกนี้ ซึ่งการศึกษาหาข้อมูลและเปิดรับข่าวสารในทุกๆด้านนั้นเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำ อย่างน้อยถ้าหากคุณรู้ เข้าใจ และตกผลึกในทุกๆเรื่องจนสามารถจำแนกได้แล้วว่าอะไรคือ cryptocurrency, อะไรคือเทคโนโลยี blockchain, อะไรคือ Altcoin และอะไรคือสกุลเงินดิจิตอลแชร์ลูกโซ่ ทางเราก็ขอแสดงความยินดีด้วยว่าคุณได้ก้าวข้ามผ่านจุดๆหนึ่งที่อีกหลายๆคนกำลังพยายามก้าวข้ามมันมาแล้ว