<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

“ท๊อป Bitkub” แนะรัฐบาลชุดใหม่ปั้น “ดีอีเอส-ทรัพยากร” เป็นกระทรวงเกรด A ดึงทุนต่างชาติ

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

วันที่ 29 กรกฎาคม 2566 นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวในหัวข้อ “เรียนรู้ความเป็นไปได้เกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัลของไทยในอนาคต” จากการบรรยายในงาน “เปิดโลกนวัตกรรมก้าวทันเทรนด์การเงินยั่งยืน” จัดโดย “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” ว่า เงินลงทุนที่จะไหลเข้ามาในอาเซียน (ASEAN) หลังปี 2567 จะไม่วิ่งเข้ามาในอุตสาหกรรมแบบเก่า ถ้าอุตสาหกรรมนั้น ๆ ยังไม่ทรานส์ฟอร์มสู่ความเป็นสีเขียวและนำดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต

“คำว่า “ดิจิทัล” คือ 4th Industrial Revolution หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ที่โครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนานวัตกรรมมีแต่สิ่งใหม่ ๆ และยากที่จะประยุกต์ใช้จากของเดิมที่มีอยู่ เช่น อินเทอร์เน็ตจากท้องฟ้า (Satellite Internet) เทคโนโลยี AR/VR (Three Dimensional Internet) และ AI ที่เติบโตมาก รวมถึง Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่คนทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญเช่นกัน”

เมื่อ “ดิจิทัล” และ “สิ่งแวดล้อม” กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และเป็นรากฐานของการปั้น “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง การวางกรอบนโยบายให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

“ตอนนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนเติบโตขึ้นมาเป็น 44% ของ GDP ในประเทศ จากปีที่แล้วอยู่ที่ 40% เพราะจีนต้อนรับนักลงทุนที่มาพร้อมกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ถ้าเราต้องการให้ไทยเดินไปในทิศทางเดียวกับโลก ควรเริ่มจากการปักธงที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสองกระทรวงนี้ควรเป็นกระทรวงเกรดเอแล้ว ไม่ควรเป็นกระทรวงเกรดบีหรือเกรดซี เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นตัวชูโรงของ GDP ในอนาคต ส่วนสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ”

นอกจากนี้ “จิรายุส” ยังกล่าวด้วยว่า AI จะเป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในทุกภาคธุรกิจ จากที่ 10 ปีก่อน เราอยู่กับ Curated AI หรือ AI ที่คัดสรรสิ่งที่แต่ละคนชอบมาแสดงบนหน้าฟีด ซึ่งมีข้อเสียที่ทำให้คนเห็นข้อมูลจากมุมมองของตนเองเท่านั้น แต่ตอนนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ Generative AI ที่จะช่วยขยายขีดความสามารถการใช้งานอินเทอร์เน็ต และคาดเดาความต้องการของเรา เพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบสนองต่อความต้องการนั้น ๆ

“อย่าง Khan Academy ที่เป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ มีการใส่ AI เข้าไปแล้ว เพื่อเรียนรู้ว่าผู้เรียนแต่ละคนสนใจเนื้อหาแบบใด หรือแม้แต่การมี AI Chatbot ส่วนตัวเป็นเพื่อนพูดคุย รับฟังเรื่องราวในแต่ละวัน ยิ่งเราคุยกับแชทบ็อต AI จะยิ่งเรียนรู้ข้อความในบทสนทนา และพัฒนาการโต้ตอบให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งก็เป็นความน่ากังวลที่อาจจะมีการใช้ AI เพื่อโน้มน้าวใจและควบคุมความคิดของเราในอนาคต”

ซึ่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ AI ย่อมส่งผลกระทบกับการพัฒนาทักษะของคน โดยจิรายุสอ้างถึงข้อมูลจากการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า คนจะไม่สามารถใช้ทักษะของตนเองได้ประมาณ 44% เท่ากับว่า เราจะสูญเสียทักษะที่มีอยู่ไปเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

“World Economic Forum ได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “Skill Taxonomy” คล้าย ๆ กับข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัยทั่วโลกเกี่ยวกับทักษะจำเป็นของโลกอนาคต ซึ่งเป็น Soft Skill ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น การพูดในที่สาธารณะ ฯลฯ และสาเหตุที่ Skill Taxonomy ไม่มีทักษะเชิงเทคนิค (Technical Skill) เลย เป็นเพราะ AI จะสามารถเข้ามาทดแทนการทำงานเชิงเทคนิคได้ทุกอย่าง”

ที่มา/รูปภาพ: ประชาชาติธุรกิจ