<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

‘เซ็นทรัล รีเทล’ เปิดตัว C-Verse แอปช้อปปิ้งเสมือนจริง ให้คุณช้อปและรอรับสินค้าที่บ้าน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ส่องยุทธศาสตร์ CRC Retailligence ของ “เซ็นทรัล รีเทล” ล่าสุดบุกโลก Immersive ด้วยการผนวกเทคโนโลยีเวอร์ชวลเรียลลิตี้เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ผ่านแอปพลิเคชัน“C-Verse”ภายใต้ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่“หัวเว่ย”เนรมิตห้างท็อปส์คลับ พระราม 2 มาอยู่บนโลกเสมือนจริง – สามารถช้อปได้จริง แถมมี AI Chatbot คอยตอบคำถาม และเปิดให้ลูกค้า The1 สร้างอวาตาร์ – ช้อปปิ้ง พร้อมต่อยอดประสบการณ์ Immersive สู่ “รีนาเซนเต” ห้างลักชัวรี่ในประเทศอิตาลี

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของวงการค้าปลีกไทย กับการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Immersive Retail ภายใต้แอปพลิเคชัน C-Verse ที่เซ็นทรัล รีเทล ประกาศตัวอย่างเป็นทางการหลังจากซุ่มพัฒนามาเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งแน่นอนว่า ภายในแอปพลิเคชัน C-Verse ของเซ็นทรัล รีเทล เต็มไปด้วยความน่าสนใจมากมาย และเราขอสรุปให้ทราบดังนี้

1. จำลองห้างท็อปส์ คลับสู่ Virtual Store

ปรากฏการณ์ Immersive Retail ข้อแรกที่จะปรากฏขึ้นในแอปพลิเคชัน C-Verse ก็คือการจำลองห้างท็อปส์ คลับ พระราม 2 ให้กลายเป็นร้านแบบเวอร์ชวล โดยภายในมีการจัดวางสินค้าต่าง ๆ เอาไว้มากถึง 800 รายการ (จากทั้งหมด 3,000 รายการ) โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวได้เริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 ภายใต้ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ มากมาย เช่น หัวเว่ย คลาวด์ เป็นต้น โดยอาศัยจุดเด่นของหัวเว่ยที่มีดาต้าเซนเตอร์ในประเทศไทย 3 แห่ง ทำให้สามารถให้บริการด้านข้อมูลและการประมวลผลแอปพลิเคชันในโลก 3D ได้นั่นเอง

2. ลูกค้า The1 สร้างอวาตาร์ของตัวเองได้

สำหรับลูกค้า The1 เพียงลงทะเบียน ก็จะเข้าใช้แพลตฟอร์มได้ และสามารถสร้างอวาตาร์ของตนเองได้ตามต้องการ

3. สินค้าภายใน Virtual Store สามารถพลิกดูได้ 360 องศา

เมื่อสร้างอวาตาร์เสร็จเรียบร้อย ก็สามารถนำอวาตาร์นั้นเข้าไปเดินช้อปปิ้งในห้างท็อปส์คลับได้เลยทันที โดยสิ่งหนึ่งที่จะพบว่าแตกต่างคือ แอปพลิเคชัน C-Verse ได้แก้ Pain Point เดิม ๆ ของห้างเวอร์ชวลได้สำเร็จ เช่น การที่ลูกค้าไม่สามารถพลิกดูสินค้าได้เหมือนตอนที่เราเดินในห้างจริง ๆ แต่บน C-Verse พบว่าลูกค้าสามารถหยิบสินค้าบนชั้นวางมาพลิกดูได้แบบ 360 องศา

4. มี “แอนนี่” AI Chatbot คอยให้บริการ

หน้าตา AI Chatbot ชื่อ Annie โดยมีการดึง ChatGPT มาช่วย Annie ในการตอบบทสนทนา

ภายในห้างบนโลกจริงมีพนักงานคอยตอบคำถามเราอย่างไร ห้างท็อปส์คลับบน C-Verse ก็สร้าง AI Chatbot มาให้บริการลูกค้าได้เช่นกัน โดย AI Chatbot ที่สร้างขึ้นมีชื่อว่า “แอนนี่” (Annie) ซึ่งเป็นการผนวกความสามารถของ Generative AI คนดังแห่งยุคอย่าง ChatGPT มาช่วยสร้างบทสนทนานั่นเอง

5. ประสบการณ์ Immersive แบบพิเศษ

อวาตาร์ไปแตะที่เต็นท์ และระบบจะพาไปสัมผัสบรรยากาศว่า ถ้าไปตั้งแคมป์จริง ๆ จะเป็นอย่างไร

นอกจากการได้เดินชมสินค้าบนโลกเสมือนจริงในห้างท็อปส์คลับพระราม 2 แล้ว ภายในห้างยังมีความพิเศษอีกข้อหนึ่งซ่อนอยู่ นั่นคือ การมีสินค้ากลุ่ม Product Highlight โดยตัวอย่างที่ทางทีมพัฒนา C-Verse ได้นำมาแสดงเป็นสินค้ากลุ่มแคมป์ปิ้ง ที่เพียงเรานำมืออวาตาร์ไปแตะที่ตัวเต็นท์ ระบบก็จะพาเราไปยังโลกเวอร์ชวลที่แสดงการตั้งแคมป์แบบเสมือนจริงทันที โดยในจุดนี้ ผู้บริหารเซ็นทรัล รีเทลมองว่า สามารถจุดประกายให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยากนำเสนอสินค้าให้แตกต่างได้

นอกจากนั้น ยังมีพะพราว (อินฟลูเอ็นเซอร์เสมือนจริง) ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่ออธิบายรายละเอียดของสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจถึงประโยชน์ของสินค้ามากขึ้นด้วย

6. ถ้าเปิด AR Mode ก็จะเห็นอวาตาร์คนอื่น ๆ

ส่วนถ้าใครที่ไปเดินช้อปในห้างท็อปส์คลับพระราม 2 จริง ๆ แล้วลองเปิดโหมด AR ในแอปพลิเคชัน C-Verse ก็จะได้เห็นอวาตาร์คนอื่น ๆ กำลังเดินไปมาในห้างได้ด้วย ซึ่งต้องบอกว่าเป็นภาพที่น่ารักไม่น้อย กับการได้เห็นอวาตาร์บางคนที่แปลงร่างเป็นไดโนเสาร์ หรือตัวละครต่าง ๆ เดินเล่นอยู่เต็มไปหมด

7. มีเกมให้เล่น – NFT ให้สะสม

เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ภายในแอปพลิเคชัน C-Verse เลยไม่ได้มีแค่สินค้าให้เลือกซื้อเท่านั้น แต่ยังมี Mini Game และ NFT ให้สะสมร่วมด้วย โดยคอนเซปต์จะเป็นการล่าสมบัติ – สะสม NFT ที่มี 6 แบบ แล้วไปแลกรับรางวัลพิเศษ (มีทั้งบน Virtual Mode และ AR Mode ที่ต้องไปเปิดในห้างท็อปส์คลับพระราม 2 เท่านั้น)

8. โหมดปาร์ตี้ เมื่อเทคโนโลยีพาโลกเวอร์ชวลมาเจอกับโลกจริง

โหมดปาร์ตี้ ที่ลูกค้าในห้างท็อปส์คลับพระราม 2 สามารถถ่ายภาพกับเพื่อนที่เป็นอวาตาร์ (เข้าใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน C-Verse) ได้

ภายในแอปพลิเคชัน C-Verse ยังมีอีกหนึ่งความสามารถ นั่นคือการทำให้คนที่อยากเดินช้อปปิ้งกับเพื่อนบนโลกเสมือนจริงเกิดขึ้นได้สำเร็จด้วย โดยความสามารถนี้อยู่ในโหมดปาร์ตี้ ซึ่งเป็นการเปิดห้องพิเศษสำหรับเราและเพื่อน ให้เข้าไปเดินช้อปปิ้งด้วยกัน (เช่น เพื่อน ก. อาจจะเป็นอวาตาร์ เดินช้อปอยู่ใน C-Verse ส่วนเราคือคนที่เข้าไปห้างท็อปส์คลับพระราม 2 จริง ๆ แล้วก็สามารถเดินด้วยกัน ถ่ายรูปด้วยกันได้)

9. ไอคอน Photobooth ถ่ายรูปกับอวาตาร์

ภายในแอปยังมีกิจกรรมยอดนิยมอย่างบูธถ่ายภาพเสมือนจริง ให้ผู้ใช้งานได้ถ่ายภาพร่วมกับเพื่อน ครอบครัว หรือ “พะพราว” เพื่อเก็บเป็นที่ระลึกและสร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์แชร์ลงโซเชียลมีเดียที่ไม่ซ้ำใครกับมุมที่เป็นเอกลักษณ์ และท่าทางที่ต้องการตามความชอบเพื่อให้ Avatar โพสต์ท่าตาม และยังสามารถถ่ายรูปตัวเรากับอวตาร์ของตัวเองและเพื่อนภายในร้านได้อีกด้วย

10. ขยายต่อสู่โลกความงาม – ห้างรีนาเซนเต

การสร้างประสบการณ์ Immersive ครั้งนี้ของเซ็นทรัล รีเทล ยังไม่จบแค่ห้างท็อปส์คลับ แต่มองว่า สามารถสร้างโลกเวอร์ชวลได้ในอีกหลายแบบ เช่น โลกความงาม ที่เปิดให้ลูกค้าได้ทดลองแต่งหน้าจริง และกดซื้อสินค้าได้จริง ๆ จากแพลตฟอร์ม – รวมถึงอาจนำไปสู่การให้ BA ที่บูธเครื่องสำอางของห้าง แต่งหน้าให้ตามที่ได้ทดลองสินค้ามาแล้วจากในแอปพลิเคชัน

นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การสร้างประสบการณ์ Immersive ให้คนไทยได้ไปเดินในห้างรีนาเซนเต ซึ่งเป็นของกลุ่มเซ็นทรัลที่ซื้อมาเมื่อปี 2554 ในโลกเสมือนจริงได้ด้วย

ทั้งนี้ ภายในงานไม่มีการเปิดเผยงบประมาณในการพัฒนาแอปพลิเคชัน C-Verse แต่อย่างใด โดยระบุไว้เพียงว่า เซ็นทรัล รีเทลตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน C-Verse เอาไว้ที่ 30,000 ดาวน์โหลดภายในสิ้นปี และมองว่า การเปิดวางจำหน่าย Vision Pro ของ Apple ในช่วงต้นปีหน้า จะเป็นตัวช่วยผลักดันกระแส Immersive Experience ให้เติบโตมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อโลกเวอร์ชวลที่บริษัทลงทุนไปในครั้งนี้นั่นเอง

ที่มาข้อมูลจาก : brandbuffet