<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

จับตา “Bitkub” เตรียมเข้าตลาดหุ้นไทย-ฮ่องกง ดันธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮล ดิ้งส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ภายหลังแจ้งกับผู้ถือหุ้นถึงแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า หากพิจารณาตามเกณฑ์การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นบิทคับ ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ทั้งทุนจดทะเบียน กำไร มาเก็ตแคป บัญชีชุดใหญ่ รวมไปถึงเกณฑ์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ออกมามีความเข้มข้นขึ้น ก็ทำการตรวจสอบแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียวคือการแต่งตั้งที่ปรึกษาการเงิน และผู้ตรวจสอบภายใน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกอยู่ ภายหลังจากได้ ที่ปรึกษาการเงิน และผู้ตรวจสอบภายใน แล้วจะทำเรื่องขอเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตามเกณฑ์แล้วอาจใช้เวลา 1-2 ปี

“บิทคับถือเป็นบริษัทที่มีความพร้อมมากๆ มีใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.) มีเรื่องความโปร่งใส กฎระเบียบต่างๆ มีเงินเก็บลูกค้ากว่า 7-8 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นระบบงานมีความโปร่งใสกว่าบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด เหลือแค่การจัดระเบียบให้เข้ารูปเข้าร่างและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยหลายอย่างที่บิทคับควบคุมไม่ได้ เช่น การพิจารณาอนุญาตให้บริษัทเข้าจดทะเบียนของ ก.ล.ต. เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัล และบล็อกเชน เป็นธุรกิจใหม่ ซึ่งการพิจารณาอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี”

ส่วนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ทางฮ่องกงให้ความสนใจบิทคับ เพราะฮ่องกงต้องการเป็นดิจิทัล แอคเซสฮับของโลก โดยขณะนี้บิทคับ เป็นผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ดิจิทัลแอคเซส ที่ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน เราใหญ่กว่า Indodax ของอินโดนีเซีย Coins.ph ของฟิลิปปินส์ ใหญ่กว่า Luno เบอร์หนึ่งของมาเลเซีย และ Coinhako ของสิงคโปร์ ใหญ่กว่าในทุกด้าน ทั้งรายได้ กำไร และปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล  

  “บิทคับใหญ่กว่า Indodax ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเบอร์ 2        อาเซียน 1 เท่าตัว มีประวัติที่ยาวนานสุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งฮ่องกงจึงอยากได้บริษัทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีพื้นฐานที่ดี รวมถึงใหญ่ที่สุดอาเซียน เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง”

ส่วนจะเลือกนำบริษัทเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ ฮ่องกงขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละตลาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการควบคู่กันไป ซึ่งอาจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนทั้ง 2 ตลาดหลักทรัพย์เลยก็เป็นไปได้ นายจิรายุส กล่าวต่อไปอีกว่าสำหรับสาเหตุที่ต้องการนำบิทคับเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์นั้นส่วนหนึ่งต้องการระดมทุนเพื่อมาขยายธุรกิจไปสู่ผู้ให้บริการดิจิทัลแอคเซสระดับภูมิภาค หรือ รีจินอล ที่ให้บริการออกไปในหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีบริษัทเทคคอมพานีของไทยที่เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และขยายไปสู่ผู้เล่นระดับภูมิภาค ขยายบริการออกไปทั่วโลก ขณะที่ มาเลเซีย มีแกร็บ ส่วนอินโดนีเซีย มีโกเจ็ก ดังนั้นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นเครื่องมือ หรือ ช่องทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจไปสู่ผู้เล่นระดับรีจินอลได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้บิทคับ ต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของ โดยที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากกลุ่มลูกค้าจำนวนมากที่เข้ามาใช้บริการทุกวัน อยากเข้ามาเป็นเจ้าของบิทคับ โดยธุรกิจของบิทคับ เปรียบเสมือนไฟฟ้า ทางด่วน ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งอยากให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของ โดยวิธีการเดียวคือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ

ส่วนความเสี่ยงการลงทุนนั้นขณะนี้มองว่าประชาชนความรู้ความเข้าใจมากขึ้น สถาบันการเงิน เข้ามาลงทุนและให้บริการมากขึ้น เทรนด์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทยมี กสิกรไทย กับเอสซีบี เข้ามาเป็นผู้ให้บริการ ทั่วโลกสถาบันการเงินเข้ามาให้บริการมากขึ้น ในฮ่องกง สแดนดาร์ทชาเตอร์ ก็เข้ามา ดีบีเอส ซึ่งเป็นแบงก์ใหญ่มากก็เข้ามาให้บริการ บวกกับBlackRock เข้ามาจัดตั้งกองทุน Bitcoin ETF ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัล กลายเป็นสินทรัพย์ เมนสตรีม ที่ความเสี่ยงลดลง และนักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในทุกวัน

นายจิรายุส กล่าวเสริมอีกว่า เรื่องของการระดมทุน หรือ การจับมือร่วมพาร์ทเนอร์นั้นไม่ควรหยุดนิ่ง ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ก็ควรดำเนินการเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งบิทคับมองหาความร่วมมืออยู่ตลอด ไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง หากมีพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสม ทำให้ธุรกิจสามารถไปได้ไกลกว่าเดิมก็พร้อมร่วมมือ

สำหรับทิศทางของกลุ่มบิทคับปีนี้จะมุ่งเรื่อง AI ที่นำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรตัวเอง ขณะที่ปีนี้จะมีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ จะออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งฝั่งเอ็กซ์เชนจ์ AI เมตาเวิร์ส อคาเดมี่ หรือแม้แต่การลงทุน บิทคับเวนเจอร์ ที่ 3 ปีที่ผ่านมาเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพ เป็นหลัก แต่ปีนี้จะขยายการลงทุนไปสู่เอสเอ็มอี เพื่อช่วยเอสเอ็มอีปรับตัวไปสู่โลกอนาคต ซึ่งทิศทางอนาคตมุ่งไปสู่กรีน และดิจิทัล

สำหรับกรณีการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ในตลาดนั้นมองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องดี ทำให้ไม่มีบริษัทไหนอิ่มตัว ช่วยให้ทุกคนตื่นตัว มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ดีๆ สู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งมองว่าคนที่ได้ประโยชน์มากสุดคือลูกค้า ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีขึ้นทุกปี ทั้งนี้มองว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยยังเติบโตได้อีกมหาศาล เพราะกำลังจะเมนสตรีม ไม่ใช่ นิชมาเก็ตที่คนเพียงไม่กี่คนรู้จัก มีสถาบันการเงินเข้ามาให้บริการ แสดงว่ากำลังกลายเป็นวงการการเงินหลัก บวกกับภาครัฐ มีนโยบายส่งเสริมการโทเคนไนซ์

ที่มา : thansettakij