แม้ว่าหลายคนทั่วโลกจะยกย่องสรรเสริญเอลซัลวาดอร์ในการเป็นประเทศแรกที่อนุมัติให้ Bitcoin กลายเป็นสกุลเงินประจำชาติ แต่ในขณะเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลับมองว่านี่เป็นเหมือนการใช้ทางลัดที่เร็วมากเกินไปและอาจเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา IMF ได้เผยแพร่บล็อกโพสต์ที่เขียนขึ้นโดยนาย Thoda Weeks-Brown ที่ปรึกษาทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ IMF ร่วมกับนาย Tobias Adrian ที่ปรึกษาทางการเงินของ IMF ระบุว่า “แม้บางประเทศจะนำ Bitcoin มาเป็นสกุลเงินประจำชาติแต่เราเชื่อว่ามันมีความเสี่ยงมากกว่าผลประโยชน์”
ทั้งคู่มองว่าการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้แทนเงินสดประจำชาตินั้นเป็น “การใช้ทางลัดที่ผิด” พวกเขากล่าวว่า “สินทรัพย์ดิจิทัลไม่น่าจะนำมาใช้ได้จริงในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนคงที่”
“หากสินค้าและบริการมีราคาทั้งในสกุลเงินจริงและ cryptoasset จะทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ ได้แรงจูงใจเลือกเงินที่จะถือสกุลเงินประจำชาติน้อยลง และถึงแม้ Bitcoin ได้รับสถานะทางกฎหมาย แต่มูลค่าของมันยังคงมีความผันผวนมากเกินไป”
IMF แสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการนำ Bitcoin มาใช้เป็นสกุลเงินประจำชาติมาตั้งแต่ต้นเพราะกังวลถึงเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่น ๆ ในภายภาคหน้า
อย่างไรก็ตามผู้สนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลส่วนใหญ่กลับมองว่า การเคลื่อนไหวของเอลซัลวาดอร์ล่าสุดนั้นเป็นการก้าวแรกที่สำคัญที่นำไปสู่อนาคต เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัลสามารถใช้ทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น IMF ยังแสดงท่าทีกังวลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย การคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการฉ้อโกงและการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดแล้วจะสามารถดำเนินคดีเอาผิดได้ยาก นอกจากนี้สกุลเงินดิจิทัลยังมุ่งเน้นการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีเป็นหลัก และปัจจุบันหลายประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลายมากนัก
จากที่กล่าวไปข้างต้นนั้น IMF จึงได้แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ หันมาใช้สกุลเงินทุนสำรองที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น เงินดอลลาร์หรือยูโร แทนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลแบบเพียว ๆ