การเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น หรือ ICO ( Initial Coin Offering) มันคือการระดมทุนและลงทุนเพื่อที่จะเปิดตัวโปรเจคโครงการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทสตาร์ทอัพ โดยมีการออกเหรียญดิจิตอล (ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีฐานเป็น Ethereum) มาเพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในตัวโปรเจคดังกล่าว (หรือแม้กระทั่งบริษัท) กล่าวคืออาจจะคล้ายคลึงกับ IPO หรือ Initial Public Offering ที่เรารู้จักกันดี เพียงแต่ตัวหุ้นนั้นจะถูกแทนที่ด้วยเหรียญดิจิตอล และสามารถนำไปแลกหรือซื้อขายเป็นเหรียญสกุลอื่นๆได้อย่าง Bitcoin
มันต่างจากการเสนอขายหุ้นในระยะเริ่มต้นหรือ IPO โดยการได้มาซึ่งเหรียญไม่ได้แปลว่าเรามีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในหุ้นส่วนของบริษัทที่กำลังสร้างเงินดิจิตอลสกุลใหม่นั้นๆ IPO นั้นถูกรองรับโดยรัฐบาล แต่ ICO นั้นยังไม่มีกฎหมายที่แน่นอนมารองรับรับมัน
การระดมทุน ICO เกิดขึ้นครั้งแรกโดย Mastercoin ในปี 2013 และในปีต่อมา Ethereum ก็ระดมทุน ICO เช่นกัน
การระดมทุน ICO ค่อนข้างได้รับความนิยมในหมู่สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน ซึ่งการขายเงินดิจิตอลแบบนี้ดูเหมือนจะสร้างกำไรได้ดีกว่าและเร็วกว่าการระดมทุนด้วยหุ้น เนื่องจากการใช้เหรียญ cryptocurrency ที่มีความรวดเร็วในการโอน ใครจะซื้อก็สามารถซื้อได้ แค่เข้าไปในเว็บซื้อขายและโอนเหรียญ Ethereum ของผู้ลงทุนเข้าไป แค่นี้ก็ได้เหรียญ ICO ของบริษัทนั้นๆมาแล้ว โดยที่ไม่ต้องมีการลงทะเบียนหรือเซ็นสัญญาอะไรให้ยุ่งยาก ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระดับที่รวดเร็วมาก ดั่งเช่นตัวอย่างของเหรียญ BAT ก่อนหน้านี้ที่ขายเหรียญ ICO ของพวกเขาหมดภายในระยะเวลา 30-40 วินาที และระดมทุนไปได้กว่า 35 ล้านดอลลาร์
กล่าวสรุปง่ายๆ
วิธีการระดมทุนในลักษณะนี้จะทำให้ผู้ลงทุนเห็นโอกาสในวิธีทำกำไรอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลของสภาพคล่อง โดยปกติการระดมทุนแบบดั้งเดิมผู้ลงทุนจะต้องเดิมพันกับบริษัทนั้นๆไปจนกว่าบริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือถูกขาย แต่ด้วยวิธีนี้ผู้ลงทุนจะสามารถขายเหรียญที่ได้เมื่อไหร่ก็ได้ที่พวกเขาต้องการ โดยเปลี่ยนเป็น Bitcoin, Ethereum หรือเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอเหมือนวิธีดั้งเดิม
ICO ยังสร้างโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ open source project (โปรแกรมที่อนุญาติให้ดัดแปลง source code ได้) ตอนนี้มีนักพัฒนามากมายที่กำลังพัฒนาโปรเจคต่างๆของพวกเขา ซึ่งการใช้โค้ด open source นี้ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วยิ่งถ้ามีโปรเจคที่สำเร็จมากเท่าไหร่ ก็จะมีผู้สนใจในตลาดนี้มากขึ้นและทำให้ผู้ร่วมลงทุนได้ประโยชน์มากขึ้น ตอนนี้โปรเจคสำเร็จที่ใช้วิธีระดมทุนโดย ICO นั้นมีให้เห็นอย่างชันเจนอย่าง Ether ซึ่งมูลค่าทางการตลาดของ Ether ได้เพิ่มขึ้นถึง 500% จากมูลค่าของมันในต้นปี แต่กระนั้นทุกๆอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียว
แม้ว่าทาง SEC จะออกมาควบคุมการลงทุนแบบดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจเนื่องจากมองว่าการออกกฎหมายมาควบคุมจะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่สูญเสียความเป็นอิสระไป ในขณะที่บางกลุ่มก็บอกว่านั่นเป็นเรื่องดี เพราะภายหลังจากที่ ICO เกิดความบูมขึ้นมานั้น ก็ทำให้มีธุรกิจประเภทหลอกลวงนำเอาชื่อ ICO มาแอบอ้าง และหลอกเอาเงินจากนักลงทุนไป ซึ่งการทำให้ถูกกฎหมายนั้น จะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในช่องโหว่ตรงนี้ได้
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
ICO กับกฎหมายในต่างประเทศและการรองรับ
ก่อนหน้านี้ Security Exchange Commission (SEC) แห่งประเทศสหรัฐฯได้ออกมาประกาศให้เหรียญที่ถูกวางขายใน ICO (DAO Tokens) นั้นตกอยู่ภายใต้กฎหมายการแลกเปลี่ยนแล้ว รวมถึงธนาคารกลางแห่งประเทศสิงคโปร์ก็ได้ออกมากล่าวในลักษณะเดียวกัน
มีรายงานว่าบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐฯได้รับโทรศัพท์จาก SEC ให้ทำการยกเลิกการขาย ICO เสีย และคืนเงินที่ระดมทุนมาได้ให้กับนักลงทุนทั้งหมด มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้พวกเขาต้องยอมปฏิบัติตาม
ส่วนประเทศจีนถือเป็นประเทศแลกของโลกที่ออกมาแบน ICO เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2017 โดยให้เหตุผลว่าการซื้อขาย ICO นั้นละเมิดกฎหมายด้านการระดมทุนของประเทศจีน อีกทั้งยังสั่งให้บริษัทที่ระดมทุนผ่าน ICO มาก่อนหน้านี้คืนเงินให้กับนักลงทุนให้ครบอีกด้วย โดยคืนเป็น Bitcoin และ Ethereum ส่งกลับไปยัง address ที่เคยส่งมา
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานประเทศเกาหลีใต้ก็ออกมาเดินรอยตามประเทศจีน โดยสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศทำการระดมทุนด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งพูดง่ายๆก็คือแบน ICO เหมือนประเทศจีนนั่นเอง
ในขณะเดียวกัน ประเทศออสเตรเลียดูเหมือนว่าจะไม่สนใจการตัดสินใจของจีนนัก แต่กลับสนับสนุนการระดมทุนแบบ ICO โดยไม่นานมานี้ทางรัฐบาลออสเตรเลียได้ออกแนวทางเกี่ยวกับข้อกฎหมายในด้านการระดมทุนแบบดังกล่าวสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศที่ต้องการจะออกเหรียญเป็นของตัวเอง และยังมองว่ามันมีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
มูลค่าตลาดรวมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดยหลังจากความสำเร็จในการระดมทุน ICO ของบริษัทสตาร์ทอัพหลายๆบริษัทที่เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้มีบริษัทหลายๆบริษัทอยากจะกระโดดเข้ามาในตลาดที่กำลังไหลเชี่ยวอย่างรวดเร็วนี้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ Stox ที่ได้มีการนำเอานักมวยชื่อดังอย่าง Floyd Mayweather มาช่วยโปรโมทการซื้อขาย ICO ก่อนที่จะระดมทุนไปได้ถึง 30 ล้านดอลลาร์ภายในระวะเวลาชั่วข้ามคืนอีกด้วย
ข้อมูลจาก CoinDesk ได้เผยให้เห็นว่ามูลค่าตลาดรวมของการลงทุนแบบ ICO ณ เวลาที่กำลังอัพเดตข้อมูลอยู่นี้ พุ่งไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเดือนที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดก็คือเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่มีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดรวมภายในเดือนเดียวอยู่ที่ 540 ล้านดอลลาร์
อีกทั้งยังมีการนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบใช้ Venture Capitalist (VC) ในวงการบริษัทสตาร์ทอัพ Blockchain ที่มีอัตราเติบโตที่ถดถอย เนื่องมาจากการกระแสของ ICO โดยหลังจากไปแตะจุดสูงสุดที่เดือนพฤษภาคมปี 2017 ที่ผ่านมาที่ตัวเลข 107 ล้านดอลลาร์ที่มีการลงทุนในกลุ่มธนาคาร R3 นั้น การระดมทุนในบริษัทด้าน Blockchain แบบเก่านั้นมีตัวเลขทั้งหมดแค่ 6.12 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเท่านั้น
แล้วความเสี่ยงล่ะ
แม้ว่า ICO ที่เปิดระดมทุนในประเทศสหรัฐฯนั้นจะต้องขึ้นทะเบียนกับทาง SEC ให้ถูกกฎหมายเสียก่อนถึงจะมาเปิดได้ แต่ด้วยธรรมชาติของเหรียญ cryptocurrency ที่สามารถโอนส่งหากันทั่วโลกได้ในระดับวินาทีอีกทั้งยังมีความเป็นส่วนตัวสูงไม่สามารถทราบชื่อผู้โอนผู้รับนั้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในประเทศอื่นๆหรือว่าใครก็ตามที่ต้องการจะซื้อ ICO นั้นสามารถทำได้ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก ซึ่งแน่นอน ความเสี่ยงในเรื่องแบบนี้ก็ต้องตามมา
โดยส่วนใหญ่นั้นความเสี่ยงจะตกอยู่กับบริษัทสตาร์ทอัพผู้ที่เสนอขายเหรียญ ICO มากกว่า เนื่องด้วยการที่พวกเขาต้องสร้างระบบแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเหรียญมาในรูปแบบเว็บไซต์ การแฮคเว็บไซต์นั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการแฮคเว็บกระเป๋าเก็บเหรียญ Ethereum นามว่า Parity ที่ทำให้บริษัทผู้ลงทุนที่เก็บเหรียญ Ethereum ของพวกเขาไว้บนกระเป๋าแบบ multi-sig ของผู้ให้บริการดังกล่าวถูกจโมยไปด้วย โดยหนึ่งในนั้นก็มีบริษัท Swam City ที่ถูกขโมยเหรียญ Ethereum ไปกว่า 44,000 ETH และภายหลังจากนั้นก็มีบริษัท Veritaseum ที่ถูกขโมยเหรียญ VERI หรือเหรียญ ICO ของพวกเขาเอง โดยสูญเสียไปกว่า 8 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะมีบางคนออกมาบอกว่าการขโมยนั้นเกิดขึ้นในบริษัทของพวกเขาเองก็ตาม
ที่รุนแรงที่สุดเห็นจะเป็นของ CoinDash ที่ถูกแฮคเว็บไซต์ในวันที่เปิดขาย ICO วันแรกเลยทีเดียว โดยการแฮคนั้นเป็นการฟิชชิ่ง address ของกระเป๋า Ethereum ของทางบริษัท โดยแอบเปลี่ยนจุดหมายปลายทางของผู้รับจากบริษัทให้กลายเป็นของแฮคเกอร์ ทำให้นักลงทุนที่อยากจะซื้อเหรียญนี้ กลายเป็นส่ง ETH ของพวกเขาไปให้แฮคเกอร์แทน โดยภายหลังทาง Coindash ต้องเสียหายไปกว่า 7 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]
สำหรับทางมาตรการป้องกันของผู้ใช้งานนั้น ทางที่ดีผู้ลงทุนควรที่จะทำการศึกษาที่มาของบริษัท ICO ที่จะลงทุน ว่ามีการจดทะเบียนกับประเทศที่มาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) และควรที่จะเก็บเหรียญ Ether ของคุณไว้บนกระเป๋าของตัวเองให้ปลอดภัย ไม่ควรจะโอนไปเก็บไว้บนเว็บเทรด หรือเว็บผู้ให้บริการกระเป๋าแบบออนไลน์ทีละมากๆ
ICO ในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยนั้น การลงทุนแบบ ICO อาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทว่าก็มีบริษัทที่มีรากฐานในไทยอย่าง Omise หรือหนึ่งในผู้ให้บริการด้าน payment gateway ที่ก่อนหน้านี้เคยซื้อธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Paysbuy มาแล้ว เป็นผู้ออกเหรียญ OmiseGo (OMG) และเปิดขาย ICO ก่อนที่จะระดมทุนไปได้ถึง 25 ล้านดอลลาร์
โดยเหรียญดังกล่าวในปัจจุบันนั้นยังเป็นที่นิยมพอสมควรอีกด้วย ซึ่งราคาของมันนั้นได้พุ่งขึ้นมาอย่างรุนแรงมาที่ 12 ดอลลาร์และมีมูลค่าตลาดรวมที่พุ่งขึ้นมาถึง 1 พันล้านดอลลาร์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักๆนั้นมาจากข่าวลือที่ว่าทางบริษัท Omise นั้นกำลังเตรียมเป็นหุ้นส่วนกับ McDonald’s ในการทำ payment gateway จ่ายซื้ออาหารได้ด้วยเหรียญ OMG
ซึ่งข่าวลือดังกล่าวนั้น ภายหลังทาง Omise ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการถึงการร่วมงานกันอย่างเป็นทางการแล้ว
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีท่าทีที่อ่อนข้อลงให้กับวงการ Fintech มากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายวิรไท สันติประภพหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมากล่าวว่าทางแบงก์ชาติกำลังเตรียมเล็งเสนอเปลี่ยนกฎหมายทางด้าน Fintech เพื่อให้การอนุมัติเอกสารถูกทำบนอิเลกทรอนิกส์เพื่อมาแทนที่ระบบกระดาษ อีกทั้งยังบอกว่าจะศึกษา Bitcoin อีกด้วย อีกทั้งยังมีการประกาศเปิด Regulartory Sandbox เพื่อเอาเทคโนโลยี Blockchain มาทดสอบอีกด้วย
ปัจจุบันการระดมทุนแบบ ICO นั้นถูกกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ภายในการกำกับดูแลโดยก.ล.ต. นั่นหมายความว่าในประเทศไทยนั้นมีกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับ ICO สำหรับนักลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ในขณะเดียวกันนั้นการคุ้มครองที่มากขึ้น ย่อมหมายถึงกฎระเบียบที่มากขึ้นด้วยเช่นกันไม่ว่าจะจเป็นฝั่งผู้ที่ลงทุนใน ICO หรือผู้ที่เปิดระดมทุน ICO โดยผู้ที่สามารถระดมทุน ICO ได้นั้นต้องเป็นนิติบุคคล, บริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด และกรรมการ, ผู้บริหาร, ผู้มีอำนาจควบคุม ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญติไว้ นอกจากนี้หากผ่านเกณฑ์ข้างต้นทั้งหมดแล้ว ICO นั้น ๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากก.ล.ต. ก่อนที่จะสามารถเปิดระดมทุนได้ มิเช่นนั้นจะมีโทษตามกฎหมายตามมา เนื่องจากก.ล.ต. จำเป็นต้องควบคุมเพื่อป้องกันการฟอกเงิน
แน่นอนว่าก.ล.ต. นั้นก็มีกฎหมายเพื่อควบคุมนักลงทุนใน ICO เช่นกัน โดยผู้ที่ลงทุน สามารถลงทุนได้เฉพาะ ICO Portal ที่ก.ล.ต. อนุญาติแล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่ควบคุมทั้งสองฝ่าย เช่น การระดมทุนนั้นสามารถทำได้เฉพาะเงินบาทหรือเหรียญ Cryptocurrency ที่ทางก.ล.ต. กำหนดเท่านั้น, การระดมทุน ICO ต้องดำเนินการผ่าน Wallet ที่ได้รับการอนุญาตและ KYC จากก.ล.ต. เท่านั้นเพื่อป้องกันการฟอกเงิน และที่สำคัญคือ ICO Portal จะไม่รองรับ ICO ต่างประเทศเข้ามาได้
โดยทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยของเรานั้นอาจจะกำลังค่อยๆเปิดอ้าแขนให้กับ ICO อย่างช้าๆ ในทางกลับกันกฎหมายที่ควบคุมจนรัดแน่อนเกินไปนั้น จะกลายเป็นกลายปิดกั้นไม่ให้ ICO ดี ๆ นั้นมีโอาสเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เราเสียโอกาสดี ๆ ไปก็เป็นได้
อัพเดตล่าสุดวันที่ 23พฤษภาคม 2018 เวลา 17:49