<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

เผยมุมมองอนาคตเกี่ยวสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยกับ ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์  

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ในเรื่องคริปโตหลายคนอาจยังมองไม่เห็นมุมมองว่าประเทศไทยจะเติบโตไปในทิศทางไหนไม่ว่าจะเรื่องกฎหมาย, การศึกษา, ภาษีและการใช้คริปโตจ่ายแทนเงินสดต่างๆ ซึ่งหลายประเทศได้มีมาตรการควบคุมและออกกฎหมายเข้ามาดูแลในภาคส่วนนี้ ซึ่งในมุมมองของผู้ที่เทรดคริปโตถือเป็นก้าวที่สำคัญในอนาคต

โดยทาง Siam Blockchain ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ หรือ ดร.เรือบิน ถึงความคิดและแนวทางการควบคุมกฎหมาย ภาษี การศึกษาและการใช้คริปโตในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของตลาดคริปโตในประเทศไทย

ปัจจุบันมีกฎบางอย่างที่ออกมาควบคุมคริปโตไม่ว่าจะจากธนาคารแห่งประเทศหรือ กลต. เอง ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว คริปโตดูจะยังไม่เป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของโปรเจกต์ซักเท่าไร ซึ่งทาง ดร. เรือบิน เองก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายไว้ว่า “กฎหมายจะต้องเปลี่ยนไปแน่ๆ ทั้งการเจริญเติบโตและพัฒนาของคริปโตสามารถเปลี่ยนไปได้ในหลาย ๆ รูปแบบ มันเป็นสิ่งที่อนาคต ไม่มีใครรู้ และยิ่งยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงระดับนี้ พอเป็นเทคโนโลยี พอเป็นดีเซนทรัลไลท์เซชั่น มันเปลี่ยนกันคนละไม้คนละมือทั่วโลก ไม่มีทางที่จะมีคนวางแผนเป็น 20-30 ปีได้ คุณจะเอาแผนของเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมาใช้กับตอนนี้ มันจะพังกันหมด มันเหมือนการทำธุรกิจ ถ้าใครทำธุรกิจก็จะรู้ว่าแผนทุกวันนี้มันเปลี่ยนกันตลอดเวลา”

โดยทาง ดร.เรือบินได้แบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ภาคด้วยกันคือ 1. ภาครัฐบาล 2. ภาคธุรกิจ 3. ภาคประชาชน “เป้าหมายในการเปลี่ยนอาจจะเหมือนเดิม คืออะไร ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมก็อยากจะให้กำไรเติบโต ถ้าเป็นประเทศก็อยากจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและอยากจะทำให้ประชาชนมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง หรือทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับคนที่มีโอกาส เป้าหมายอาจจะเหมือนเดิม แต่ว่า วิธีการต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ปรับตามเทคโนโลยีที่เข้ามา” 

ซึ่งในมุมมองการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ทาง ดร.เรือบิน ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “กฎหมายก็เหมือนกัน ใครจะไปคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมมองว่า กฎหมายต้องเปลี่ยนแน่ แต่การจะเปลี่ยนกฎหมายมันต้องมีหลักการ อย่างเช่นเรื่องของสินทรัพดิจิทัล เราก็จะเห็นอยู่แล้วว่าแต่ละประเทศทั่วโลก ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว อย่างเช่น ประเทศหนึ่งก็จะมีนโยบาย,กฎหมายในเชิงสนับสนุน เพราะว่าเห็นโอกาส โอกาสของประเทศ ของประชาชน ของธุรกิจของ ในขณะที่บางประเทศก็จะเป็นลักษณะ ปิดกั้น ในแนวการห้ามทำ ก็จะเห็นถึงความเสี่ยงที่ตามมา ซึ่งมันมีประเด็นทั้ง 2 แนวคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด หรือแนวดิดใดหัวใจสำคัญที่ทำให้ประเทศสามารถที่จะก้าวหน้าไปได้ เติบโตไปได้ ก็คือ ต้องมี sandbox mind set  คือเป็นแนวคิดของนโยบายของการออกกฎหมายที่ต้องไม่จำกัดโอกาสแต่มีการจำกัดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น 2 ข้อนี้ต้องคู่กันจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้” 

ถ้าหากปิดโอกาสเสียหมดจะมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ประเทศจะล้าหลังโดย วิธีที่จะทำให้ผลดีที่สุดนั้น ดร.เรือบินได้บอกว่าเราจะต้องทำการ “ทดลอง” ซึ่งการทดลองที่ ดร.เรือบินได้กล่าวนั้นจะคล้ายกับเป็นการเปิดโอกาสให้กับประเทศ 

ดร.เรือบินกล่าวว่า “การจะทดลองในปัจจุบัน ด้วยการออกนโยบายบ่อยครั้งในประเทศเรา เมื่อออกมาแล้วโดยไม่ได้มีการวัดผลว่านโยบายที่ออกมา เป็นผลบวก หรือเป็นผลลบ ที่วัดได้มากน้อยเพียงใด มันก็จะกลายเป็นนโยบายที่ผิดพลาด อย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้ เศรษฐกิจเราถือว่าแย่ อัตราการเติบโต GDP ถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคหรือเรื่องของที่เป็นตัวเลขที่วัดได้ในประเทศที่ว่านโยบายที่ผ่านมา  ดำเนินการไปได้ดีไหม อย่างเช่น เรื่องความเลื่อมล้ำ ที่วันนี้เราติดอันดับท็อปของโลกเลย ก็คือ ประชากรไทย เพียง 1% ครอบครองทรัพย์พยากรถึง 58%ของประเทศ 

ในขณะที่คนไทยอีก 50% อีกครึ่งประเทศ ครอบครองทรัพยากรเพียงแค่ 7% ถือเป็น ในส่วนตรงนี้เป็นผลพ่วงมาจากมาจากนโยบายที่ผิดพลาด ดังนั้น หนึ่งในสิ่งที่มองว่ากฎหมายที่ควรมีเกี่ยวกับเรื่องคริปโต มันควรจะเป็นในเรื่องของแนวทางการปฎิบัติ ถ้าหากว่าเปิดโอกาสให้ทำได้ อย่างเช่น กระบวนการขอใบอนุญาต ที่ทำได้ช้าและมีขั้นตอนในการขอเยอะ โดยปัจจุบันนี้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา ตั้งแต่สมัยเป็น คริปโต, ICO จนมาเป็น DiFi, NFT เราก็รู้ว่ามันมีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นว่าออกกฎมาว่าห้ามทำแต่มีบางเคสที่ออกมาก็คือ ห้ามก่อนนะ แล้วเดี๋ยวจะค่อยๆออกกฎเกณท์การอนุญาติให้ทำที่หลัง”

ในส่วนของการออกกฎหรือกฎหมายในรูปแบบเก่านั้นในมุมมองส่วนตัวของ ดร.เรือบิน คาดว่า “จะทำให้เราตามโลกไม่ทัน คือกว่าจะได้ก็เสียโอกาสไปเรียบร้อยแล้ว”

ดร.เรือบินให้ความเห็นในคำว่า “ดี” ของกฎหมายที่จะเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยในปัจจุบัน ซึ่งควรจะดีและสามารถนำมาปฎิบัติได้จริงทั้ง 3 ภาค 1. ภาครัฐ 2. ภาคธุรกิจและ 3. ภาคประชาชนจะต้องสามารถทำออกมาได้ดีทั้งสามอย่างจะได้ดีแค่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ดร.เรือบินกล่าว “เราจะใช้มุมมองอะไรที่จะทำให้มันเกิดเป็นผลดี ผลดีคือ ดีต่อประชาชน ดีต่อภาคธุรกิจ เพราะธุรกิจคือ ที่ที่เราทำงาน ดีต่อภาครัฐ เพราะองค์กรภาครัฐคือองค์กรที่ เอาเงินภาษีของเราไปดูแลกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง ทั้ง 3 ดี จะต้องเป็นหัวใจที่จะต้องออกมาดีทั้ง 3 อย่าง จะให้ดีแค่อย่างใดอย่างนึงใม่ได้ มีหลายนโยบายที่ดีแต่ภาครัฐ แต่ธุรกิจและประชาชนแย่ หรือบางอัน ดีต่อธุรกิจ ดีต่อภาครัฐแต่ประชาชนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อย่างงี้มันก็ไม่ดี”

ที่ผ่านมาในประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอยู่หลายครั้งทั้งการเก็บภาษีและอย่างล่าสุดที่ออกกฎหมายภาษีมาในเรื่องของการยกเว้นภาษีการโอนคริปโต ซึ่งมุมมองของ ดร.เรือบิน ได้มีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดย ดร.เรือบิน ได้ชี้ให้เห็นถึงหลักในการออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษี 3 หลัก 1. หลักความเป็นธรรม 2. หลักประสิทธิภาพ 3. หลักปฎิบัติ โดยให้ความเห็นว่า 

“การออกกฎหมายภาษี หลักการของภาษี ออกภาษีอย่างไรให้มีประโยชน์ หลักความเป็นธรรม มีมากเสียมาก มีน้อยเสียน้อย หลักประสิทธิภาพ ออกกฎหมายมาแล้วสามารถจัดเก็บได้จริงอย่างเช่นภาษีความรวย บางทีคนเก็บภาษีเยอะ คนรวยหนีไปต่างประเทศ อย่างคริปโตเนี่ยเก็บภาษีมากก็มีทางอื่นให้สามารถเล่นคริปโตใช้คริปโตได้ หลักที่สามคือหลักปฏิบัติซึ่งต้องสามารถปฏิบัติได้จริงสามารถทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน

ถ้าคริปโตจะจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นโครงการของประเทศไทยจริงจะต้องปรับอีกมาก ด้วยเหตุผลของความเหลื่อมล้ำ และปัญหาอีกอย่างของโครงสร้างก็คือเลี่ยงภาษีและความยุ่งยากในการจ่ายภาษี

คริปโตเป็นรูปแบบการกระจายอำนาจที่ไม่มีศุนย์กลาง จะไปใช้การจัดการแบบรูปแบบเก่าอาจจะยากในรูปแบบของการกระจายอำนาจ จริง ๆ แล้วภาษีคริปโตมีหลายมุมมอง และมีหลายประเทศมีการเคลื่อนไหวอย่างเช่นดูไบ ที่ตั้งตัวเป็นศูนย์กลางของคริปโต ซึ่งผมมองมาว่าเป็นแนวทางที่สามารถนำมาใช้ในประเทศได้”

ดร.เรือบินได้ให้ความสำคัญกับสกุลเงินดิจิทัลอย่างมากโดยแนะไม่ควรเก็บภาษีคริปโตและยังควรให้การลงทุนคริปโตในการลดหย่อนภาษีได้เพราะถือว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลก็เป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง 

“ในความคิดผมภาษีของคริปโตควรจะเป็นศูนย์แล้วการเทรดคริปโตควรจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย เพราะการลงทุนคริปโตเปรียบเสมือนลงทุน LMF ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะคริบโตก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถลงทุนได้ ซึ่งในการลงทุนที่ผ่านมาอาจจะไม่ตอบโจทย์เพราะมีเพียงคนไทยไม่มีกี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ลงทุน แต่ตั้งแต่มีคริปโตตัวเลขการลงทุนมากขึ้นทำให้ประชาชนตื่นตัวในการลงทุนมากขึ้น” ดร.เรือบิน กล่าว

ในปัจจุบัน กลต. ได้ออกกฎใหม่ในเรื่องของการห้ามใช้เหรียญคริปโตในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินเละเศรษฐกิจของประเทศและต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใน 30 วันหลังจากวันที่ 1 เมษายนที่ใกล้จะถึงนี้ โดยทาง ดร.เรือบินก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 

“การนำเอาคริปโตมาใช้เพื่อจ่ายซื้อ สิ่งของต่าง ๆ ยังเป็นข้อถกเถียง ด้วยทางนักเศรษญศาสตร์กล่าวว่าถ้านำคริปโตมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ แต่อย่างบางประเทศ เขาก็สามารถใช้ได้และผลลัพธ์ก็ออกมาดีด้วยเช่น สิงคโปร์ ก็นำคริบโตมาใช้จ่าย บางทีเราต้องดูว่าถ้าประเทศอื่นทำได้แล้วประเทศเราทำได้ไหม บางครั้งประเทศเราอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน โดยทางแก้ที่ดีที่สุดคือเราอาจจะต้องทดลองและจำกัดความเสียหายที่ควบคุมได้ถ้าอยากจะให้เห็นผลอย่างชัดเจนมากขึ้น”

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้คริปโตเป็นสิ่งที่ผู้คนสนใจอย่างมากแต่หลายคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจของเรื่องดังกล่าวซึ่ง ดร.เรือบิน ก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ โดยให้ความเห็นว่า

“ในปัจจุบันความรู้ทางด้านคริปโตและความรู้ทางการเงินและเทคโนโลยีควรเป็นเรื่องที่ถูกบรรจุในการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถม โดยระบุอย่างชัดเจนและเพิ่มความรู้ขึ้นเรื่อยๆตามช่วงอายุ ผมมีมุมมองว่าการมีความรู้เยอะๆเป็นเรื่องที่ดีเกี่ยวกับในเรื่องการลงทุนซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ควรจะรู้ ควรจะปูพื้นฐานของการเงินและเทคโนโลยี รวมถึงคริปโตด้วยให้กับทุกคน”

ส่วนในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยว่าจะก้าวไปแบบไหนนั้น ดร.เรือบิน กล่าวว่า

“เหตุผลที่ทำให้คริปโตเติบโตขึ้นก็คือรูปแบบการกระจายอำนาจและสามารถกระจายไปอย่างกว้างขวาง การมีอิสระของมัน ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพและความโปร่งใส ซึ่งชุมชนต่างๆ ต่างคนต่างช่วยกันพัฒนาวงการนี้ คริปโตก็คือการลงทุนอย่างหนึ่งที่เป็นรูปการกระจายอำนาจ ถ้าเราสามารถใช้รูปแบบการกระจายอำนาจในแวดวงอื่นได้ๆมันจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจและทำให้เกิดโอกาสอย่างเช่น การศึกษา การแพทย์ การเมือง ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในรูปกระจายอำนาจจะสามารถทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างมากและจะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้ามากขึ้นในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล”