<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

การซื้อขาย Cryptocurrency ในไทยในลักษณะไหนถึงไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ความนิยมของเทคโนโลยี Blockchain และสกุลเงินคริปโตที่ปัจจุบันแผ่ขยายไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยของเรานั้น ส่งผลทำให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถหันหลังให้กับมันได้อีกต่อไป ด้วยธรรมชาติของเทคโนโลยี distributed ledger ที่มีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจบนเครือข่ายไปสู่ประชาชน อีกทั้งยังมีความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และไร้ตัวตนสูงนั้น ส่งผลทำให้อำนาจของรัฐที่ในหลาย ๆ ประเทศมีลักษณะเป็นการ centralized หรือนำไปกระจุกไว้ตรงส่วนกลางต้องถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ หลาย ๆ ประเทศป้องกันตัวด้วยการออกกฎหมายเข้ามากำกับมัน และให้การสนับสนุนไปในตัว บางประเทศเลือกที่จะแบนมันเป็นบางส่วน และในขณะที่บางประเทศเลือกที่จะแบนมันแบบเบ็ดเสร็จ แต่ไม่ว่าจะมีมาตรการทางกฎหมายแบบไหนเข้ามาพยายามจะกำกับเจ้าเหรียญคริปโตเหล่านี้ มันก็ได้พิสูจน์ให้ทุก ๆ คนเห็นมาแล้วกว่า 9 ปีกับการอยู่รอดจากอำนาจของรัฐในแทบจะทุก ๆ ทาง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่มาถึงประเทศไทยของเรานี้ ในตอนแรก ๆ หลาย ๆ ฝ่ายต่างก็ตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของมัน บางคนที่ไม่เข้าใจถึงกับมองว่ามันมีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากว่าการเกิดขึ้นมาของกลุ่มมิจฉาชีพหลาย ๆ กลุ่มที่ออกมาหากินเพื่อหลอกผู้ที่ไม่ทราบถึงสิ่งเหล่านี้ที่มีขึ้นเยอะอย่างมาก จนกระทั่งล่าสุดนี้ ที่มีการประกาศเตือนออกมาจากกระทรวงการคลังถึงความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายหากมีการ “ซื้อ-ขาย” เงินสกุลดิจิทัล ที่สื่อกระแสหลักทั่วไปในไทยไม่ได้ให้รายละเอียดมากเท่าไรนักหลังจากรายงานข่าว จนส่งผลทำให้ผู้คนเกิดอาการงง

โดยอ้างอิงจากการประกาศของกระทรวงการคลังที่มีการอ้างอิง “พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” ปี พ.ศ. 2527 ในมาตราที่ 4 ที่กล่าวว่า

“ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน”

โทษดังกล่าวจะต้องมีการปรับผู้กระทำความผิดถึงห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่อาจดูน้อยสำหรับบุคคลที่ฉ้อโกงจนเป็นมืออาชีพ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น คำถามคือ นักลงทุน Bitcoin หรือ cryptocurrency ในปัจจุบันนั้นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะละเมิดข้อกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

มันไม่ใช่เรื่องซับซ้อน

หากลองมาพิจารณาดูให้ดีแล้วนั้น รูปแบบการซื้อขายเหรียญ cryptocurrency ในประเทศไทยในปัจจุบันที่เป็นที่นิยมอย่างมากก็คือการซื้อขายผ่านตลาด exchage อย่าง Bx และ TDAX ลักษณะของตลาดทั้งสองแห่งนั้นคือตลาดแบบกระดานซื้อขายที่เปิดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายด้วยกันเองอย่างอิสระเสรีและไร้ตัวตน ไม่ต่างจากตลาดหุ้นหรือ forex ที่มีการตั้งและ fill order กันได้อย่างปกติ

แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะกล่าวว่ากิจกรรมเกี่ยวกับ Bitcoin ในไทยนั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีกฎหมายมารองรับนั้น นั่นหมายความว่านักลงทุนจึงต้องแบกรับความเสี่ยงกันเอง

นั่นจึงหมายความว่า สำหรับนักลงทุนทั่วไปแล้ว การซื้อขายในลักษณะด้านบนจึงไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนในข้างตน เนื่องจากว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกันระหว่างนักลงทุนกันเกิดขึ้น แต่นักลงทุนเป็นผู้สมัครใจเข้าไปซื้อขายเหรียญคริปโตตามอัตราการผันผวนของตลาด

อย่างไรก็ตาม ในมาตราที่ 4 ของในในพระราชกำหนดดังกล่าวได้มีการกล่าวว่า

“ผู้ใดไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ดำเนินการ หรือให้พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลใดดำเนินการโฆษณา ประกาศหรือชักชวนประชาชนให้ลงทุนโดย

(๑) ซื้อหรือขายเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งหรือหลายสกุล หรือ

(๒) เก็งกำไรหรืออาจจะได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย”

ข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นข้อที่ทางผู้ให้บริการด้านตลาดซื้อขายเหรียญคริปโตต้องระวังเป็นพิเศษในด้านการขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังไม่ควรที่จะทำการโฆษณา หรือประกาศชักชวนเรียกลูกค้าด้วยการสัญญาถึงผลตอบแทนที่สูง และควรที่จะกำหนดข้อตกลงในการใช้งานให้เรียบร้อยอีกด้วย

แล้วการซื้อขายแบบไหนเสี่ยงผิดกฎหมาย?

ตามที่ผู้เขียนได้เกริ่นไว้ข้างต้นนั้น ปัจจุบันหลาย ๆ คนต่างก็อยากจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ แต่ละคนมีวิธีที่แตกต่างกันไป ในขณะที่บางคนใช้วิธีฉ้อโกงและหลอกลวงคนอื่น ๆ โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาบังหน้า แต่เบื้องหลังคือการเปิดโครงสร้างธุรกิจแชร์ลูกโซ่

ในปัจจุบัน ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่มีการนำเอาเหรียญ cryptocurrency และ blockchain มาบังหน้านั้นกำลังมีเพิ่มมากขึ้นเป็นดอกเห็ด วิธีการสังเกตที่ง่ายคือ ธุรกิจดังกล่าวจะมีการชักชวนกันให้เข้าไปลงทุน, มีการชวนกันไปจัดประชุมและโฆษณาแพคเกิจสินค้า อีกทั้งยังมีการโฆษณาโดยสัญญาว่าผู้ลงทุนจะได้อัตราผลตอบแทนที่สูงมากอย่างแน่นอน ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ

“คุณต้องจ่ายเงินลงทุนเป็นจำนวนที่กำหนดไว้เสียก่อน”

โปรดจำไว้ว่า cryptocurrency ที่แท้จริงนั้นจะต้องมีเทคโนโลยี blockchain มารองรับ และสามารถใช้ block explorer เพื่อเรียกดูประวัติการทำธุรกรรมได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญ ผู้ที่ลงทุนนั้นแทบจะไม่มาสนใจชวนคุณเลย เพราะพวกเขากำลังวุ่นอยู่กับการเก็งกำไร การวิเคราะห์กราฟ และการติดตามข่าวสารที่พวกเขาเชื่อว่าจะมีผลต่อราคาของเหรียญต่าง ๆ ในขณะที่บางคนพยายามกีดกันคุณออกไปจาก ‘โลก’ ของพวกเขาด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าคุณจะไปเพิ่มค่า difficulty ให้พวกเขานั่นเอง

ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น พระราชกำหนดดังกล่าวดูเหมือนว่าจะถูกออกแบบมาเพื่อปราบรามธุรกิจอันเลวร้ายเหล่านี้ และก็แน่นอน ตราบใดที่คุณไม่เข้าไปหลอกลวงหรือฉ้อโกงใคร การซื้อขายเหรียญ cryptocurrency ก็จะยังคงทำได้ตามความสมัครใจของนักลงทุน แม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายมารองรับมันก็ตาม

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น