<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ทำไมนักลงทุนในคริปโตถึงเลือกลงทุน Defi และ Cefi ไม่เหมือนกัน

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เดิมทีก่อนหน้านี้ มุมมองของผู้ใช้คริปโตที่มีต่อระบบการเงินนั้นจะมีอยู่ 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ ระบบการเงินแบบดั้งเดิมและระบบการเงินแบบคริปโต แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้มุมมองของพวกเขาจะมีกลุ่มย่อยเพิ่มเข้ามาอีก 2 กลุ่มซึ่งนั้นก็คือ ระบบการเงินแบบรวมศูนย์อำนาจ (CeFi) และระบบการเงินแบบกระจายอำนาจ ( DeFi)

หนึ่งในแนวคิดดั้งเดิมที่อยู่เบื้องหลัง Cryptocurrency คือการมีเครือข่ายเป็นแบบเพียร์ทูเพียร์ทั้งหมดและไม่พึ่งพาตัวกลางใด ๆ เช่นสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้กลับแตกต่างออกไปในความเป็นจริง

อย่างที่เราทราบกันดีว่าประการแรกในการเป็นเจ้าของเหรียญคริปโตก็คือ คุณจะต้องซื้อเหรียญคริปโตด้วยเงินที่ออกให้โดยรัฐบาล เช่นเงินดอลลาร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักใช้บริการซื้อขายผ่านช่องทางเกตเวย์ของเงินเฟียต ที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบต่อต้านการฟอกเงินของรัฐบาล ดังนั้นบริการที่อนุญาตให้ผู้คนแลกเปลี่ยนเงินเฟียตไปเป็นคริปโตจึงอยู่ภายใต้ข้อบังคับที่มีอยู่ หรือที่มีตัวกลางเป็นของรัฐบาลนั่นเอง

สำหรับประการที่สอง นั้นจะเป็นการซื้อขายเหรียญคริปโตแบบเพียร์ทูเพียร์ ทุกคนจะต้องรับผิดชอบในการจัดการความเสี่ยงด้วยตนเอง เนื่องจากจะไม่มีสถาบันที่เป็นศูนย์กลางใด ๆ มีทำหน้าที่รับผิดชอบในส่วนตรงนี้ให้ ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องปกป้อง Private key ด้วยตัวเอง และหากมันเกิดสูญหายไป สินทรัพย์คริปโตทั้งหมดของคุณก็หายไปพร้อมกับมันด้วย

CeFi คืออะไร ?

ชื่อของมันก็ตรงตัวอยู่แล้ว CeFi ก็คือการเงินแบบรวมศูนย์อำนาจ หรือระบบการเงินที่ผู้ใช้ไว้วางใจมอบเงินของพวกเขาให้กับบุคคลที่สาม โดยผู้ใช้บริการ CeFi จะต้องเชื่อมั่นว่าบุคลากรที่บริหารจัดการธุรกิจคริปโตจะรักษามาตรฐานทางจริยธรรมในระดับสูง  นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าคำว่า CeFi มีอยู่ในบริบทของสกุลเงินดิจิทัลตามที่นาย Bill Dashdorj CEO ของ Pokket กล่าวไว้ : 

“CeFi เป็นส่วนขยายของรูปแบบทางการเงินแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ แต่ได้รับการอัปเกรดไปอีกขั้นด้วยคริปโต” Dashdorj กล่าว “มันช่วยแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการเงินแบบดั้งเดิมและนั้นก็คือ การที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ  แต่ถึงกระนั้นมันยังคงไว้ซึ่งการใช้งานและความเรียบง่ายเหมือนที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย”

Dashdorj มองว่า “CeFi เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาบริการทางการเงินและตอบสนองความต้องการในทันทีสำหรับผู้คนไม่พอใจหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมได้”

ตัวอย่างของบริการ CeFi ได้แก่ เว็บกระดานเทรดคริปโตแบบรวมศูนย์เช่น Coinbase และ Binance เหรียญ Stablecoin เช่น USDC ของ Coinbase และ เหรียญ Stablecoin ของ Libra ที่นำเสนอโดย Facebook โดยเหรียญ Stablecoin เหล่านี้ได้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของ CeFi เนื่องจากมันได้รับการประกันจากเงินดอลลาร์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลส่วนกลาง

แต่สิ่งเดียวที่บริการ CeFi มีการกระจายอำนาจก็คือ  พวกมันมีส่วนช่วยในการผลักดันกรณีการใช้งานของเหรียญ Cryptocurrency แบบกระจายอำนาจเช่น bitcoin, ethereum และ litecoin

DeFi คืออะไร ?

แนวคิดหลักเบื้องหลังของ DeFi คือ การนำการกระจายอำนาจมาสู่ระบบนิเวศของคริปโตอย่างเต็มรูปแบบ นาย Brian Kerr ซีอีโอของ Kava Labs ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม DeFi กล่าว

“มันไม่เหมือนกับบริการของ CeFi โปรโตคอลและแอปพลิเคชันของ DeFi นั้นเป็นรูปแบบโอเพ่นซอร์สและทำงานอยู่ในระบบคลาวด์โดยมีผู้ให้บริการจำนวนมากทั่วโลก” Kerr กล่าว “ซอฟต์แวร์นี้เปิดกว้างและสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ตและไม่ต้องใช้การยืนยันตัวตน KYC หรือขั้นตอนการสมัครใช้งานที่ยุ่งยากเหมือนกับโลกการเงินแบบเดิม ๆ”

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าเสรีภาพที่ DeFi มอบให้นั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบของผู้ใช้งาน ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตนเอง ซึ่งตรงกันข้ามกับ CeFi ที่มีตัวกลางมาดูแลในส่วนตรงนี้ให้

นอกจากนี้บริการ DeFi นั้นยังค่อนข้างเปราะบาง โดยรายงานล่าสุดจากบริษัทข่าวกรองด้านคริปโต Ciphertrace เผยให้เห็นว่า เม็ดเงินมูลค่ากว่า 98 ล้านดอลลาร์ได้สูญเสียไปกับการแฮ็กที่กำหนดเป้าหมายไปยังโปรโตคอลการเงินแบบกระจายอำนาจ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ยังเลวร้ายหนักขึ้นไปอีกในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากแพลตฟอร์ม DeFi ‘Akropolis’ ได้ถูกแฮ็กและสูญเสียเงินไปกว่า 2 ล้านดอลลาร์

ตัวอย่างของบริการ DeFi ได้แก่ เว็บกระดานเทรดคริปโตแบบกระจายอำนาจเช่น Uniswap และ dYdX ด้วยบริการเหล่านี้ ผู้ใช้จะสามารถเชื่อมต่อกระเป๋าเงินคริปโตของพวกเขาเข้ากับเว็บเทรดเพื่อทำการซื้อขายทันที โดยไม่ต้องมีหน่วยงานส่วนกลางที่ถือครองและจัดการทรัพย์สินของพวกเขา โปรเจคการให้กู้ยืมอย่างเช่น Compound และ bZx ก็ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ DeFi เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีเหรียญ Stablecoins อีกเป็นจำนวนมากที่ถูกล็อคอยู่ในโปรโตคอลของ DeFi รวมถึงเหรียญคริปโตชั้นนำเช่น Ethereum, Bitcoin และอื่น ๆ แทนที่จะเป็นเงินที่ออกโดยรัฐบาล

แต่ถึงกระนั้นทั้ง CeFi และ DeFi ก็มีความคล้ายคลึงกัน ในปัจจัยพื้นฐานบางประการ

“กรณีการใช้งานจริงที่สำคัญที่สุดของ DeFi และ CeFi ก็คือความสามารถในการสร้างผลตอบแทนจากเงินทุนและสภาพคล่องทั่วโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตราบใดที่พวกเขามีอินเทอร์เน็ต” นาย John Patrick Mullin ผู้ร่วมก่อตั้ง Mantra DAO   กล่าว 

“การพัฒนาเหล่านี้จะอนุญาตให้ผู้ใช้ที่ถูกปิดกั้นจากระบบการเงินแบบดั้งเดิม สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายในรูปแบบที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน” นาย Mullin กล่าวเสริม

บทบาทของ CeFi ในจักรวาลคริปโต

แม้คุณสมบัติการรวมศูนย์อำนาจของ CeFi จะขัดต่อหลักแนวคิดพื้นฐานของ Cryptocurrency แต่สิ่งนี้ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันให้คริปโตการยอมรับให้วงกว้างขึ้น โดยนี่คือบางส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญคิดว่า CeFi นั้นมีประโยชน์

ประสบการณ์การใช้งานที่คุ้นเคย

ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้คุณสมบัติบางประการของ CeFi ได้รับการออกแบบมาที่ค่อนข้างคล้ายกับระบบการเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้หน้าใหม่ ๆ ยอมรับคริปโตเพิ่มขึ้น

นาง Katherine Deng รองประธานฝ่ายธุรกิจของ MXC Exchange กล่าวว่า Cryptocurrency นั้นเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนอยู่แล้ว ซึ่งหากเราต้องการให้มันเป็นกระแสหลัก เราจำเป็นต้องใช้ CeFi เข้ามาช่วย :

“ด้วยการออกแบบธุรกิจของ CeFi สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดและให้บริการผู้ใช้คริปโตหน้าใหม่เข้าให้มาสู่ตลาด” Deng  กล่าว “ผู้ใช้เหล่านี้ล้วนแต่คุ้นเคยกับวิธีการใช้งานมาจากระบบการเงินแบบเดิม ๆ ดังนั้นการใช้ CeFi จะช่วยให้พวกเขาคุ้นเคยกับคริปโตได้เป็นอย่างดี”

การซื้อขายเหรียญคริปโตแบบข้ามเครือข่าย

ปัจจุบันมีเหรียญคริปโตจำนวนหนึ่งในตลาดเช่น Bitcoin, Ether, Litecoin, Ripple, Zcash ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตกับคนอื่นได้ เช่นเดียวกับที่ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯไปเป็นยูโร อย่างไรก็ตามกระบวนการซื้อขายเหรียญคริปโตจาก blockchains ที่แตกต่างกันนั้นไม่ง่ายเหมือนกับสกุลเงินเฟียตแบบดั้งเดิม

คุณไม่สามารถฝาก Bitcoin บนเครือข่าย Ethereum Blockchain เพื่อรับเหรียญ Ethereum ได้ เครือข่าย Bitcoin Blockchain นั้นแตกต่างจาก Ethereum blockchain โดยสิ้นเชิงและพวกมันไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ นาย Adam O’Neill หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Bitrue Exchange กล่าว

“CeFi อนุญาตให้มีการซื้อขายข้ามเครือข่ายได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าในทางทฤษฎีแล้วคุณสามารถแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตใดก็ได้ระหว่างกัน” นาย O’Neill กล่าว “นอกจากนี้ CeFi ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถซื้อเหรียญคริปโตด้วยเหรียญเฟียตอย่างเช่นดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้พวกเขามีวิธีง่าย ๆ ในการเป็นเจ้าของเหรียญคริปโตโดยตรง”

ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

“ในทางทฤษฏีแล้ว CeFi นั้นมีประสิทธิภาพที่มากกว่า Defi เพราะคุณสามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีความเห็นพ้องหรือประชามติใด ๆ” นาย Alex Batlin ซีอีโอของ Trustology ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินคริปโตกล่าว

ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นนี้มาจากความจริงที่ว่า บริการทางการเงินแบบรวมศูนย์อำนาจไม่ได้ทำทุกธุรกรรมทุกอย่างบนบล็อกเชน แต่ในทางกลับกันโปรโตคอล DeFi ส่วนใหญ่จะต้องทำธุรกรรมทุกอย่างบนเครือข่ายทั้งหมด ส่งผลให้ธุรกิจของ CeFi สามารถนำเสนอสภาพคล่องที่สูงกว่าและมีความเร็วในการทำธุรกรรมที่มากกว่า

บทบาทของ DeFi ในจักรวาลคริปโต

ความโปร่งใสที่เพิ่มมากขึ้น

การขาดความโปร่งใสของระบบการเงินแบบดั้งเดิม เป็นสิ่งหนึ่งที่คริปโตพยายามหาทางแก้ไขมาโดยตลอด ขณะที่โมเดล CeFi มีการปรับปรุงในเรื่องความโปร่งใสเพียงเล็กน้อยเท่านั้น DeFi ก็ดูเหมือนว่าจะพยามกำหนดคำนิยามของความโปร่งใสขึ้นมาใหม่

“Defi สร้างอิสระให้กับผู้คนโดยใช้ประโยชน์จากความโปร่งใสและความสามารถในการเข้าถึงของเครือข่ายบล็อกเชนแบบกระจายอำนาจ ความเป็นอิสระนั้นถูกใช้เพื่อสร้างโอกาสทางการเงิน” นาย  Steven Becker ประธานของมูลนิธิ Maker Foundation กล่าว

โดยพื้นฐานแล้ว DeFi นำเสนอความโปร่งใสสำหรับการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น เนื่องจากโปรโตคอลแบบกระจายอำนาจส่วนใหญ่เป็นแบบโอเพ่นซอร์สที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ 

Kerr กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ตรงกันข้ามกับ CeFi ที่ผู้ให้บริการมักเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้งาน ผลกำไรใด ๆ ที่ได้รับจากแอปพลิเคชัน DeFi นั้นจะถูกส่งคืนกลับไปยังผู้เข้าร่วม ซึ่งนี่จะสร้างประสิทธิภาพทางการตลาดที่ยากที่จะบรรลุได้ด้วยโมเดลของ Cefi”

DeFi ช่วยกีดกันพฤติกรรมแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ

ความพยายามกำจัดพฤติกรรมแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า rent-seeking นั้นเป็นการหารายได้หรือกำไรในอัตราสูงกว่าที่จะได้จากระบบตลาดแข่งขันตามปกติ

แนวคิดนี้มาจากความเชื่อที่ว่า ผู้ให้บริการด้านคริปโตรายใหญ่นั้นมีรายได้มาจากส่วนต่างของราคาในการซื้อขาย, การถอนเงินและค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้บริการหรือหลายอย่างรวมกัน ซึ่งสิ่งนี้อาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ผูกขาดได้ และสิ่งนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันอาจส่งผลต่อการเติบโตของนวัตกรรม

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะไม่ผลกระทบใด ๆ ต่อ Defi ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

“DeFi ช่วยให้เกิดนวัตกรรมในโซลูชันทางการเงินที่มีอยู่ ตลอดจนวิธีที่แต่ละคนสามารถใช้ตัวเลือกเหล่านั้นได้อย่างอิสระ แต่อิสรภาพทางการเงินมักแลกมาด้วยราคาที่แพงเสมอ ซึ่งผู้ใช้ DeFi จะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการจัดการสินทรัพย์ด้วยตัวเอง” Becker กล่าว

CeFi และ DeFi ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

แม้ว่าแนวคิดหลักของ DeFi นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่และน่าสนใจ แต่ผลิตภัณฑ์ Defi ในปัจจุบันนั้นดูเหมือนว่าจะใช้ไม่ได้สำหรับตลาดกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น Defi นั้นไม่ตอบโจทย์ ผู้ที่ไม่ต้องการฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ยหรือผู้ที่มีเงินฝากน้อย สำหรับในกรณีนี้ DeFi ยังคงต้องการพึ่งพาประสบการณ์การใช้งานของ CeFi อยู่

“DeFi และ CeFi จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน พวกเขาจะมอบทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้คนและสถาบันในการใช้ความสามารถในการสร้างโอกาสทางการเงิน” นาย Becker กล่าวเสริม