<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

ธปท. เตรียมลุย ! เดินหน้าทดสอบ “ระดับนวัตกรรม” คัดสุดยอด 10 ทีม พัฒนา ‘บาทดิจิทัล’

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เดินหน้าตามแผน!!! ธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังเข้าสู่เฟสของการทดสอบ “ระดับนวัตกรรม” บน Retail CBDC หรือเงินบาทดิจิทัล ล่าสุด ได้คัดสุดยอด 10 ทีมนักพัฒนาที่เข้ารอบจากทั้งหมด 102 ทีม เปิดนำเสนอผลงานในวันที่ 22 ต.ค.65 ก่อนประกาศผลผู้ได้รับรางวัล 28 ต.ค.นี้ 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังอยู่ในช่วงของการเตรียมการทดสอบนำร่องใช้งานเงินบาทดิจิทัลกับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการทดสอบ “ระดับพื้นฐาน”(Foundation track) คาดจะเริ่มต้นขึ้นในปลายปีนี้กับสถาบันการเงิน 3 แห่ง และกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 ราย

ไม่ใช่เพียงเท่านี้ แต่ยังมีอีกการทดสอบที่จะทำคู่ขนานกันไปคือการทดสอบ “ระดับนวัตกรรม”(Innovation track) ซึ่งเป็นการทดสอบด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ต่อยอดลงไปบน Retail CBDC หรือเงินบาทดิจิทัล อันจะทำให้เงินบาทดิจิทัลสามารถทำได้มากกว่าแค่การใช้จ่ายใน “ระดับพื้นฐาน” หรือการโอนชำระค่าสินค้าและบริการ 

การทดสอบ “ระดับนวัตกรรม”(Innovation track) จะเป็นการเขียนคำสั่งลงไปบนเงินบาทดิจิทัลให้ทำงานในฟังก์ชันที่ซับซ้อนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย ต่างจากการทดสอบระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นฟังก์ชันการใช้งานแบบง่ายๆ 

การทดสอบระดับนวัตกรรมดังกล่าวนี้ ธปท. ได้เปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอดบาทดิจิทัล ผ่านโครงการ “CBDC Hackathon”

ล่าสุด ได้คัดมาแล้วเหลือ 10 ทีมจากทั้งหมด 102 ทีม จะมีการนำเสนอผลงานในวันที่ 22 ต.ค.65 และประกาศผลผู้ได้รับรางวัลในวันที่ 28 ต.ค.นี้  โดยรายชื่อ 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบได้แก่

  1. ทีม Smart Deep Tier
  2. ทีม วันนี้ที่รอคอย(น์)
  3. ทีม TExTKX Innovation for SMEs
  4. ทีม iTAX-AVA
  5. ทีม LIFELINE เงินกู้ต่อชีวิต
  6. ทีม Grow Up Wallet
  7. ทีม Smart Insurance Platform
  8. ทีม ThaiTrip – Wallet for tourist
  9. ทีม Green Wallet
  10. ทีมเป๋าบุญ

ธปท.เปิดกว้างด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง DLT และ non-DLT

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. อธิบายสิ่งที่คาดหวังจากผู้เข้าแข่งขันในด้านวัตกรรมว่า การใช้งาน Retail CBDC จะต้องมีผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (วอลเล็ต) ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ ซึ่งการต่อยอดนวัตกรรมลงไปบน CBDC จะทำในระดับของกระเป๋าเงินดิจิทัล กล่าวคือ ต้องเขียนโปรแกรมคำสั่งลงไปบนเลย์เยอร์ของกระเป๋าเงินดิจิทัล (วอลเล็ต)

โดย ธปท.เปิดกว้างด้านเทคโนโลยี ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง DLT และ non-DLT เช่นเดียวกับการพัฒนา CBDC ในต่างประเทศที่ยังคงศึกษาและเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดที่เหมาะสม

Pilot บาทดิจิทัล Vs หยวนดิจิทัล

นายกษิดิศ ตันสงวน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. อธิบายว่าแม้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการทำ Pilot โปรเจกต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนเดียวกันกับประเทศจีน แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือของไทย มีกำหนดการที่ชัดเจนว่าเริ่มเมื่อไหร่หยุดทดสอบเมื่อไหร่ ในขณะที่จีนทำ Pilot โปรเจกต์อย่างต่อเนื่องขยายไปในวงกว้าง กระจายไปในหลายเมือง 

“ของเรามีวันเริ่มและวันสิ้นสุดการทดสอบ แต่ไม่ได้ปล่อย Pilot ยาวเหมือนประเทศจีนที่ทำไปเรื่อยๆ เพราะเราต้องการดูผลการทดสอบว่า จะพัฒนาต่อหรือจะหยุด แล้วหันไปทำ CBDC แบบที่ใช้ในระดับธุรกรรมขนาดใหญ่เลยดีไหม อย่างไร เป็นต้น ดังนั้น มันไม่ได้หมายความว่าพอเราจบการทดสอบ Retail CBDC แล้ว จะเปิดใช้ CBDC เลย”  นายกษิดิศกล่าว

ทั่วโลกมุ่งสู่ CBDC แต่กลับมีแค่ไม่กี่ประเทศที่ออกใช้จริง

ปัจจุบัน ธนาคารกลางทั่วโลกประมาณ 80-90 ประเทศหันมามุ่งเน้นศึกษาและพัฒนา CBDC โดยแต่ละประเทศก็อยู่ในขั้นตอนที่แตกต่างกันไป บางประเทศกำลังทำ proof of concept บางประเทศผ่าน proof of concept เข้าสู่การทดสอบหรือ Pilot โปรเจกต์ ในขณะที่บางประเทศออกใช้ CBDC แล้ว

แต่ส่วนใหญ่ประเทศที่ออกใช้ CBDC จริงๆ จะเป็นประเทศเล็กๆ เช่น บาฮามาส เพราะว่าประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ กล่าวคือ ไม่มีบัญชีธนาคาร ทำให้ CBDC เป็นสะพานเชื่อมให้คนในประเทศเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งจะต่างจากไทยที่ประชากรประมาณ 80-90% สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคาร ทำให้ไม่มีความจำเป็นหรือความเร่งรีบที่จะต้องออกใช้ CBDC แต่อย่างใด

“ล่าสุด ไปดูงานที่เยอรมันมา ก็มีการพูดคุยกันในเรื่องประเทศเล็กๆ ที่ออกใช้ CBDC ว่าเอาเข้าจริงๆแล้วก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการสเกลหรือการใช้งานพร้อมกันในปริมาณมากๆ การยอมรับใช้งานในวงกว้าง การเรียนรู้วิธีการใช้งาน พวกนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ คนยังใช้ไม่เป็น” ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กรธปท.กล่าว 

ดังนั้น การนำร่องทดสอบใช้เงินบาทดิจิทัลของไทยจึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน แต่ยังไม่ใช่การเตรียมจะออกใช้เงินบาทดิจิทัลในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในฝั่งของ Wholesale CBDC หรือเงินบาทดิจิทัลที่ใช้สำหรับธุรกรรมขนาดใหญ่เพื่อวัตถุประสงค์การชำระเงินข้ามพรมแดน ธปท.ได้ร่วมกับอีก 3 ธนาคารกลาง​ ได้แก่ ธนาคารกลางฮ่องกง, สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และธนาคารพาณิชย์ 20 ราย “ประสบความสำเร็จ” ในการทดลองนำเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) 4 สกุลมาใช้สำหรับทำธุรกรรมโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศด้วยมูลค่าจริงเป็นครั้งแรกของโลก!

ที่มา: สำนักข่าว อีไฟแนนซ์ไทย

ที่มาภาพ: infoquest