<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

เปิดมุมมอง “อ.ตั๊ม พิริยะ” สินทรัพย์ไหนน่าถือในช่วงสงคราม ดอลลาร์, ทอง หรือ Bitcoin?

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

ปัจจุบันปฏิเสธเลยไม่ได้ว่าสถานการณ์โลกได้เข้าสู่ความตึงเครียดจากสงครามระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ทั้งนี้ถึงแม้เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจะอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย แต่ตลาดการเงินและตลาดคริปโตนั้นยังคงเป็นตลาดที่อยู่ใกล้ตัวของพวกเรา 

ท่ามกลางความไม่แน่นอน นักลงทุนทั่วโลกต่างพยายามถอนเงินออกจากสินทรัพย์ที่ลงทุนไว้ จนส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุก ๆ ตลาดทั่วโลก และนำไปสู่คำถามสำคัญในกลุ่มนักลงทุนว่าสินทรัพย์รายการไหนที่เหมาะจะถือในช่วงสงคราม ?

ด้วยประเด็นนี้เอง รายการหนุ่ยทอล์กจึงได้จัดทำคลิปวิดีโอการสัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวในวันที่ 15 ตุลาคม โดยมีแขกรับเชิญคือ คุณกวี ชูกิจเกษม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ Head of Research and Content จากบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) และอาจารย์ตั๊ม พิริยะ สัมพันธารักษ์ กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล โดยในบทความนี้ สยามบล็อกเชนจะพาทุกคนมาสำรวจมุมมองของทั้งสองท่านไปพร้อมกัน

มุมมองของคุณกวี

เริ่มต้นกันที่มุมมองของคุณกวี โดยคุณกวีได้อธิบายว่าในวันนี้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) พร้อม ๆ กับภาวะโลกเดือด (climate change) ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้เงินในการสู้รบกับรัสเซียและจีน ทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนไปกับพลังงานสะอาดภายในประเทศพร้อม ๆ กัน

“วันนี้อเมริกาใช้เงินกับสงครามทั้งสองอย่างไปแล้ว 16% ของงบประมาณ แต่ตอนนี้สงครามกำลังเพิ่มขึ้นมา เขาจะต้องใช้เงินมากขึ้น ตอนนี้เขาถมไปที่ยูเครน และก็จะต้องถมไปที่อิสราเอลอีก ถ้าอย่างนั้นวันนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเขาจะต้องเป็นหนี้มากขึ้นแน่ ๆ” คุณกวีคาดการณ์

ทองอาจไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงสงคราม

ถัดมาคุณกวีได้ชี้ให้เห็นว่าราคาทองในช่วงสงครามเป็นสิ่งที่ “ไม่แน่นอน” เพราะถ้าหากย้อนมองกราฟราคาทองในอดีต จะเห็นว่าราคาทองเคยปรับตัวลงอย่างหนักในสงคราม Gulf War แต่กลับเพิ่มขึ้นสูงในช่วงสงคราม 911 ซึ่งความแตกต่างนี้เนื่องมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อราคาทองนั้นมีอยู่มากมาย และบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น ความตื่นตระหนกของผู้คน

“ทองเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยจริง ๆ ไหมในยามที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันแย่? มันไม่เสมอไปคุณหนุ่ย” คุณกวีกล่าวกับผู้ดำเนินรายการ

เงินดอลลาร์คือคำตอบ

ถึงแม้คุณกวีจะไม่แน่ใจว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในช่วงสงครามหรือไม่ แต่คุณกวีได้ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สินทรัพย์ที่ “นิ่ง” ที่สุด คือ “ค่าเงินดอลลาร์” เพราะในวันนี้ 80% ของโลกแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ กันด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกก็ยังคงมีเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในคลังไม่เปลี่ยนแปลง

“ถึงแม้จะลดลง ก็ยังคงอยู่ที่ 60% ถึง 70% ของโลกนี้ที่ยังใช้เงินดอลลาร์ เพราะฉะนั้นเงินดอลลาร์ยังคงมีความสำคัญอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะมีความสำคัญลดลง แต่ก็ยังคงมีความสำคัญที่สุด” คุณกวีอธิบาย

“สังเกตให้ดีว่าเวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือเกิดสงครามแล้วทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เงินดอลลาร์จะแข็งครับ หลังเกิดวิกฤตต่างหากที่เงินดอลลาร์จะไม่น่าสนใจ เพราะเงินดอลลาร์ไม่ใช่สกุลเงินที่คนอยากจะถือในตอนที่ทุกอย่างมันปกติ”

“ผมไม่ได้บอกว่าดอลลาร์จะยังคงมีความสำคัญตลอดไป ในอีก 50 ปีข้างหน้ามันอาจจะไม่ใช่แล้วก็ได้ แต่เอา ณ วันนี้ก่อน เพราะฉะนั้นผมบอกได้เลยว่าถ้ามันจะเกิดความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง, geopolitical risk เพิ่มสูงขึ้น, เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภาวะหดตัว, เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว สังเกตให้ดีว่าค่าเงินดอลลาร์กลับเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

มุมมองของอาจารย์ตั๊ม

สำหรับมุมมองของกูรูด้านสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เมื่อผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามกับอาจารย์ตั๊มว่า Bitcoin เป็นอย่างไรในช่วงสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์ อาจารย์ตั๊มก็ได้ตอบกลับไปว่า

“จริง ๆ ทุกคนน่าจะเห็นนะว่าช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์ที่ผ่านมาเนี่ย… มันไม่กระดิกเลย” อาจารย์ตั๊มหัวเราะ “ผมไม่ได้มองว่ามันควรจะดีหรือมันควรจะไม่ดี จริง ๆ การที่มันไม่กระดิกเลยก็เป็นเรื่องที่อยู่ตามคาดในตอนนี้”

ขณะเดียวกัน อาจารย์ตั๊มได้ตั้งข้อสังเกตว่านักลงทุนมากกว่า 90% มองว่า Bitcoin มีไว้เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ทำให้ราคา Bitcoin มักจะร่วงลงอย่างรวดเร็วในเวลาที่เกิดวิกฤต แต่ทว่าในวันนี้ราคา Bitcoin กลับไม่ตอบสนองต่อสงครามมากเท่าไร ดังนั้นอาจารย์ตั๊มจึงมองว่าการที่ Bitcoin สามารถคงระดับราคาไว้ได้นั้น “เป็นสิ่งที่น่าสนใจ” เนื่องจาก “เป็น sign ที่บ่งบอกว่าคนที่ถือ Bitcoin ในตลาดตอนนี้ไม่ใช่นักเก็งกำไรระยะสั้น”

“เราต้องเข้าใจก่อนว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ถือ Bitcoin มองว่า Bitcoin คือสินทรัพย์เสี่ยงที่มีไว้สำหรับเก็งกำไรระยะสั้น มันจะคนประมาณ 1% ถึง 5% ที่มองว่า Bitcoin คือสินทรัพย์สำหรับเก็บออมระยะยาว ผมเป็นหนึ่งในนั้น แต่มันเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ๆ มันไม่สามารถ move ตลาดได้หรอก”

อาจารย์ตั๊มอธิบายเสริมว่ามีตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่เราสามารถดูได้ว่าคนที่ถือ Bitcoin อยู่ในตอนนี้คือใคร ซึ่งอาจารย์ตั๊มชี้ให้เห็นว่าผู้ถือ Bitcoin ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้คือ Long-term holders หรือคนที่ถือ Bitcoin มานานกว่า 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนกลุ่มนี้จะไม่ได้ซื้อและไม่ได้ขาย จนส่งผลให้ตลาด ”ไม่ค่อยกระดิก”

นอกจากนี้ อาจารย์ตั๊มยังกล่าวไว้ว่าส่วนใหญ่ Bitcoin ไม่ได้ตอบสนองต่อสงครามเสียทีเดียว แต่สิ่งที่มีผลกระทบต่อ Bitcoin ในตอนนี้จะเป็นเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องทางกฎหมาย, การขอใบอนุญาต ETF, คดีของ Sam Bankman-Fried หรือคดีของ Craig Wright ดังนั้นโดยสรุปแล้วสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์จึงไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลต่อสินทรัพย์ดิจิทัลมากนัก แต่ Bitcoin จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ตั๊มยืนยันว่า Bitcoin ยังคงแปรผันตรงกับอัตราพิมพ์เงิน ซึ่งอัตราการพิมพ์เงินกับสงครามค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก

“เพราะสงครามเป็นข้ออ้างที่ดีที่สุดในการพิมพ์เงินเพิ่ม” อาจารย์ตั๊มกล่าว

เงินดอลลาร์น่าสนใจจริงหรือไม่?

อาจารย์ตั๊มมองว่าการที่ผู้คนจำนวนมากหันมาถือเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงสงคราม เป็นเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก ดังนั้นในช่วงเวลาที่เกิดสงคราม เงินดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลให้สินทรัพย์นี้เป็นสิ่งที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่

“คนไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น คนไม่รู้ว่าจะต้องหนีไปไหนหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะพังไหม เพราะฉะนั้นสกุลเงินของประเทศที่คนเชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลกจะเป็นสกุลเงินที่มีค่ามากที่สุด”

“ถ้าถามคำถามใหม่ว่าเราจะเก็บอะไรดี จะเก็บทองคำ ดอลลาร์ หรือ Bitcoin หรือจะกว้านซื้อสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่งดี ผมต้องถามกลับไปก่อนว่าเวลาเราเจอสถานการณ์นี้ ความเสี่ยงของเราคืออะไร” อาจารย์ตั๊มชี้แนะ

“ถ้าความเสี่ยงที่คุณกลัว คือกลัวว่าวันหนึ่งเงินของเราจะใช้ไม่ได้ ผมยังไม่เห็นอะไรดีกว่า Bitcoin ในการตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะว่าถ้าเป็น Bitcoin จริง ๆ ที่เราเก็บใน Wallet เราด้วย Private key ที่ไม่มีใครรู้และไม่มีใครเข้าถึงได้ มันไม่มีใครมาห้ามเราได้เวลาเราจะใช้อะไรก็ตาม ถ้าเป็นคริปโตยังถูกห้ามได้ ดอลลาร์ยังถูกห้ามได้ ทองคำก็ถูกไม่ให้ขนออกนอกประเทศมาตั้งแต่ 1916 แล้ว”

“ถ้ามองว่าเราต้องอพยพ เราต้องหนี สิ่งที่ดีที่สุดที่ตอบโจทย์คือ Bitcoin แต่ถ้าเราไม่คิดว่าเราจะต้องหนี สิ่งที่ตอบโจทย์อาจเป็นทองคำหรืออาจจะเป็นดอลลาร์” อาจารย์ตั๊มย้ำชัด

ที่มา: หนุ่ยทอล์ก