<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

“ท๊อป จิรายุส” ลั่น ! การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐฯ เป็น “จุดเปลี่ยน” ของอุตสาหกรรมคริปโต

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต. สหรัฐฯ) ได้อนุมัติให้จัดตั้งกองทุน Spot Bitcoin ETFs เป็นครั้งแรก โดยอนุมัติคำขอของกองทุนที่ยื่นขอใบอนุญาตทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ Fidelity, BlackRock, Grayscale, Valkyrie, ARK 21 Shares, Invesco Galaxy, VanEck, WisdomTree, Franklin, Bitwise และ Hashdex

การอนุมัติในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งใหญ่ของวงการคริปโทเคอร์เรนซี เนื่องจากเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของโลกว่า Bitcoin เป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “มติของ ก.ล.ต. สหรัฐ ที่อนุมัติให้จัดตั้ง 11 กองทุน Spot Bitcoin ETFs ในครั้งนี้ จะส่งผลสำคัญต่อทิศทางวงการคริปโทเคอร์เรนซี่ เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนผ่าน Bitcoin ได้สะดวกและง่ายขึ้นแล้ว

ยังเป็นเหมือนการประทับตรายืนยันสถานะของ Bitcoin ที่ถูกสบประมาทมากว่า 10 ปี ว่าเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ให้กลายเป็น “The First International Digital Commoditiy” ที่เป็นที่ยอมรับ และกำลังจะเข้าถึงคนส่วนใหญ่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ คือการเข้ามาของเงินทุนสถาบันที่จะยิ่งส่งให้เหตุการณ์ “Golden Year” หรือเวฟใหม่ของคริปโทเคอร์เรนซี่ที่ตามสถิติแล้วจะมาถึงทุก 4 ปี หลังปรากฎการณ์ “Bitcoin Halving”

ซึ่งครั้งต่อไปจะเป็นช่วง 2567-2568 ที่จะยิ่งมีความคึกคักมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา วงการคริปโทเคอร์เรนซี่ถูกขับเคลื่อนแค่เพียงเม็ดเงินจากนักลงทุนรายย่อยแทบทั้งหมด

แต่หลังการอนุมัติกองทุนSpot Bitcoin ETFs จะมีเงินทุนสถาบันจำนวนมหาศาล อีกทั้งนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เดิมทีมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ก็มีโอกาสลงทุนใน Bitcoin ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะคล้ายกับยุคที่อนุมัติกองทุน ETF ทองคำเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน

และตนเชื่อว่า หลังจากนี้จะยังมีกองทุนใหม่เพิ่มขึ้นจาก 11 กองทุนเดิมที่ได้รับอนุญาต รวมถึงกลุ่มกองทุนเดิม 11 แห่งก็จะต้องการปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อแข่งขันให้รองรับความต้องการของนักลงทุนสถาบันที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ การมาของ Spot Bitcoin ETFs เราน่าจะได้เห็น New Financial Products ของ Bitcoin เกิดขึ้นมา และจะทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นสถาบันการเงินเก่าเข้ามาเป็น Infrastructure Providers ในการเข้ามาทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือจะเปิดเป็น Crypto Private Fund เพื่อการลงทุน

หรือแม้แต่จะเข้ามาทำ Custodian Solutions เพื่อรับฝากเหรียญของลูกค้าเหมือนการฝากเงินธนาคาร รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น หากวงการคริปโทเคอร์เรนซี่มีขนาดใหญ่ขึ้น

นายจิรายุส กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยกับนายแกรี่ เกนสเลอร์ ประธาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ ที่ออกมาเตือนว่า มติในครั้งนี้เป็นการอนุมัติการจัดตั้งกองทุนSpot Bitcoin ETFs แต่ไม่ได้รับรองสิ่งที่ผูกติดมากับ Bitcoin ซึ่งก็ยังคงต้องระมัดระวังในการเลือกการลงทุนนี้อยู่ โดยเป็นเรื่องที่ดีและเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้วที่ควรให้คำแนะนำแก่นักลงทุน เพราะแม้แต่การลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ ก็ยังมีคนล้มละลายจากการไม่ศึกษาตัวธุรกิจให้ถี่ถ้วน

ซึ่งสำหรับตนก็อยากแนะนำว่า ตลาด Bitcoin มีความผันผวนสูงมาก การอนุมัติ ETF นี้มีข้อดีคือช่วยให้นักลงทุนที่ไม่ชำนาญทางเทคนิคในระบบการซื้อขายสามารถเข้ามาลงทุนได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วย ไม่แนะนำให้เข้ามาลงทุนตามกระแส เพราะมีความเสี่ยงสูงมาก ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุนทุกครั้ง”

“สิ่งที่ได้มาจากมติของ ก.ล.ต. สหรัฐ เมื่อคืนก่อนนี้ คือ “Legitimacy” หรือ การคืนความชอบธรรมทางกฎหมายให้แก่อุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล ที่ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์มานาน เหตุการณ์นี้จึงนับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดความชอบธรรมและชัดเจนแล้วว่า Bitcoin ได้ถือเป็นหนึ่งใน “Mainstream Asset Class” แล้ว ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมคนในแวดวงคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกต่างตื่นตัวและจับตามองต่อเหตุการณ์นี้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป”

ที่มา : moneyandbanking