<?php wp_title('|', true, 'right'); ?>

การแบน ICO ของเกาหลีใต้ส่งผลอะไรต่อนักลงทุนนอกประเทศบ้าง

ติดตามสยามบล็อกเชนบนSiam Blockchain

การเคลื่อนไหวของทางผู้ออกกฎหมายด้านการเงินในประเทศเกาหลีใต้ในวันนี้ ที่ทำให้ผู้ใช้งานเหรียญ cryptocurrency ทั่วโลกต้องช็อคไปตามๆกัน และเกรงกลัวว่าเหตุการณ์การแบนการระดมทุน Initial Coin Offerings ( ICO) ของรัฐบาลเกาหลีใต้นั้นอาจจะมีผลลงเอยแบบครั้งก่อนของรัฐบาลจีนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาที่มีผลกับราคาของเหรียญ ICO บนกระดานในชนิดที่ทำให้สองสามวันในช่วงเวลาดังกล่าวกระดานแทบจะแดงทั้งกระดาน คำถามที่ตามมาก็คือ การออกมาประกาศแบน ICO ของ regulators ในประเทศเกาหลีใต้ในครั้งนี้แตกต่างจากของประเทศจีนอย่างไร และจะส่งผลอะไรต่อนักลงทุน ICO นอกประเทศเกาหลีใต้บ้าง

การแบน ICO ไม่ใช่เรื่องใหม่

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน หลังจากการประกาศแบน ICO ของธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBoC) มีขึ้นไม่กี่วัน เหมือนจะเป็นการเปิดสวิตซ์บังคับให้รัฐบาลแต่ละประเทศทั่วโลกออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองต่อการระดมทุน ICO ดังกล่าว ซึ่งก็มีทั้งที่ต่อต้านและสนับสนุนปะปนกันไป ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้นั้นก็ถือเป็นหนึ่งในนั้นที่ออกมาประกาศว่าจะเริ่มคุมเข้มกฎหมายเกี่ยวกับ Bitcoin อีกทั้งจะลงโทษคนขาย ICO อีกด้วย

โดยในช่วงวันที่ 4 กันยายน นายคิม ยอง เบียอม (Kim Yong-beom) หรือประธานของ Financial Services Commission (FSC) ได้ออกมากล่าวว่า

“เราได้ทำการระบุข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดการระดมทุนทางธุรกิจโดยไร้ซึ่งใบอนุญาตแล้ว ซึ่งก็ยังมีธุรกิจทางด้านสกุลเงินดิจิตอลที่ฝ่าฝืนกฎดังกล่าว และเราจะมีมาตรการลงโทษต่อไป”

ซึ่งหากลองดูให้ดีแล้วจะค้นพบว่าการออกมาประกาศในวันนี้ของทาง FSC นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการเน้นย้ำการประกาศของเขาที่เคยมีไว้เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลหลักๆที่างรัฐบาลเกาหลีต้องเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการระดมทุนแบบดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการขัดขวาง แต่เป็นเพราะปัญหาด้านอาชญากรรมการฉ้อโกงและการจารกรรมข้อมูลของลูกค้า ที่ส่งผลทำให้สูญเสียเงินเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อไม่นานมานี้

อีกทั้งยังมีรายงานมาว่าปัญหาการฉ้อโกงและมิจฉาชีพนั้นกำลังเกิดกับ Ethereum และการระดมทุนแบบ ICO อย่างมากในปัจจุบัน ด้วยตัวเลขความเสียหายที่พุ่งสูงขึ้นถึง 225 ล้านดอลลาร์จากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การจะออกมาปกป้องนักลงทุนนั้นก็คงไม่แปลก

ดังนั้นในมุมมองของผู้เขียน การกระทำของรัฐบาลเกาหลีใต้ ณ จุดๆนี้ไม่ใช่เป็นการขัดขวางตลาดอุตสาหกรรม cryptocurrency ให้เติบโต แต่เป็นการปราบปรามพวก “มะเร็ง” ที่คอยกัดกินส่วนดีๆของตลาดดังกล่าวมากกว่า

นักลงทุนจีนหนีมาซบอกตลาดเกาหลีใต้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลประเทศเกาหลีเคยออกมาประกาศทำให้ Bitcoin และเหรียญ cryptocurrency อื่นๆถูกกฎหมายมาแล้ว ซึ่งภายหลังจากนั้นทำให้อัตราการเกิดใหม่ของเว็บซื้อขายเหรียญคริปโตในประเทศเกาหลีใต้นั้นมีมากขึ้น ส่งผลให้หลายๆต่อหลายครั้งตลาดเกาหลีใต้เป็นผู้นำด้านโวลลุ่ม ไม่ว่าจะทั้งเหรียญ Ripple หรือ Bitcoin และ Ethereum ที่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาราคาพรีเมียมของทั้งสองเหรียญนี้ในตลาดเกาหลีใต้ก็พุ่งแซงของตลาดโลกไปแบบไม่เห็นฝุ่น

ด้วยลักษณะนี้เอง ที่ทำให้ภายหลังจากการแบน ICO ในประเทศจีน รวมถึงการสั่งปิดเว็บกระดานซื้อขายเหรียญคริปโตในจีนนั้น ทำให้นักลงทุนในประเทศจีนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลจีนต้องดิ้นรนหาตลาดใหม่ หลั่งไหลเข้ามาในตลาดเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ดั่งที่ได้เห็นมาจากโวลลุ่มการซื้อขาย Bitcoin ของประเทศเกาหลีใต้ที่แซงหน้าของตลาดจีน ที่ก่อนหน้านี้ตลาดจีนเคยเป็นตลาดที่มีโวลลุ่มการซื้อขาย Bitcoin มากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ภายหลังก็ต้องกระจัดกระจายออกไปนอกประเทศหลังจากการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลเมื่อช่วงตนปีที่ผ่านมา

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

ธุรกิจด้าน Cryptocurrency ในเกาหลีใต้กำลังเป็นขาขึ้น

หากผู้อ่านที่ติดตามอ่านสยามบล็อกเชนบ่อยๆจะทราบดีว่าก่อนหน้านี้ภาคเอกชนในประเทศเกาหลีใต้เริ่มที่จะหันมาลงทุนในตลาดอุตสาหกรรมเหรียญคริปโตกันมากขึ้นแล้ว

ดังที่ได้เห็นในรายงานข่าวเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม เมื่อกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้แห่งหนึ่งได้ออกมาประกาศทำสัญญาหุ้นส่วนกับบริษัทผู้ให้บริการโอน Bitcoin รายหนึ่งในประเทศ

“เรากำลังร่วมงานกับพันธมิตรทางธุรกิจที่อยู่ในวงการนี้เพื่อเตรียมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ภายใต้ระบบธนาคารแบบเก่า”

อ้างอิงจากการประกาศของหุ้นส่วนทั้งสอง

รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ Kakao เจ้าของแอพแชทบนโทรศัพท์มือถือเบอร์หนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ KakaoTalk ที่เพิ่งจะประกาศร่วมมือกับ Bittrex หรือหนึ่งในเว็บผู้ให้บริการซื้อขายเหรียญคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก (อ้างอิงจาก Coinmarketcap) เพื่อเปิดตัวเว็บกระดานซื้อขาย cryptocurrency นามว่า Upbit.com ที่จะมีการลิสเหรียญทั้งหมด 111 เหรียญ รวมทั้งเหรียญ ICO อย่าง OmiseGO ลงไปด้วย

และยังมีบริษัท Nexon หรือหนึ่งในบริษัทด้านสื่อที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ที่มีรายงานมาว่าพวกเขาได้เข้าทำการเทคโอเวอร์บริษัท Korbit หรือผู้ให้บริการซื้อขายเหรียญ cryptocurrency อันดับสองของประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นถึง 65% ของบริษัทดังกล่าว เป็นมูลค่ากว่า 80 ล้านดอลลาร์

สรุป

หากถึงตรงจุดนี้แล้ว รัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ยังมีความต้องการที่จะเดินรอยตามรัฐบาลจีนเพื่อ “แบนทุกอย่างที่เกี่ยวกับ Cryptocurrency” (ยกเว้นการขุด) แล้วล่ะก็ เม็ดเงินเป็นจำนวนมากคงจะไหลออกนอกประเทศเกาหลีใต้ไปรวมอยู่ที่ประเทศคู่แข่งอย่างญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน คาดว่าพวกเขาคงไม่อยากให้เรื่องน่าเสียดายแบบนี้เกิดขึ้น

[rsnippet id=”1″ name=”AdSense In-article ad 1″]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในรายงานของสื่อเกาหลีท้องถิ่นนั้นจะไม่ได้มีการระบุที่ชัดเจนมากนัก โดยสื่อหนึ่งกล่าวว่า “จะแบนการซื้อขาย ICO ทั้งหมดในประเทศ” ในขณะที่อีกสื่อกล่าวว่า “การแบนนั้นจะมีผลเฉพาะบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศเกาหลีที่ต้องการจะเปิดขาย ICO เท่านั้น แต่การเทรดเหรียญ ICO ในประเทศยังคงทำได้ปกติ” ซึ่งหากวิเคราะห์ดูแล้ว ทางผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า

กระนั้น นักลงทุนทุกคนควรที่จะทำความเข้าใจถึงสาเหตุหลักๆของการเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลว่าพวกเขาทำไปทำไม หากลองดูตัวเลขของ ICO ที่มีมากขึ้นในปัจจุบันจนนับไม่ถ้วนแล้วนั้น นั่นน่าจะเป็นตัวอธิยายเหตุผลได้เป็นอย่างดี กล่าวคือไม่ใช่ ICO ทุกๆตัวที่ถูกสร้างออกมาเพื่อระดมทุนจริงๆ ซึ่งมันก็มีบางตัวที่ถูกทำออกมาเพื่อหลอกเอาเงินของนักลงทุนอีกด้วย

เมื่อไม่กี่วันมานี้บริษัทสัญชาติอเมริกัน Overstock และหุ้นส่วนถือเป็นกลุ่มบริษัทแรกที่จะประกาศเปิดตัวแพลฟอร์มกระดานซื้อขายเหรียญ ICO ที่รองรับกฎหมายจาก SEC และ FINRA เป็นแห่งแรกของประเทศ โดยจะมีหุ้นส่วนของพวกเขาคอยช่วยตรวจและคัดกรองเหรียญ ICO ที่จะถูกลิสขึ้นมาเทรดบนกระดาน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าถือเป็นสัญญาณและแบบอย่างที่ดี ในการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักลงทุน มากกว่าที่จะต้องให้นักลงทุนมาเสี่ยงกันเอง ว่าตัวไหนคือขอจริง ตัวไหนคือของปลอม

ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนนอกประเทศเกาหลีนั้น ในมุมมองของผู้เขียนคิดว่า “คงจะไม่มีอะไรมากนัก” เพียงแต่ว่าต่อไปนี้บริษัทสตาร์ทอัพในประเทศเกาหลีใต้จะไม่สามารถเปิดระดมทุน ICO ในประเทศได้อีกต่อไป ส่งผลให้มี ICO ที่น้อยลง แต่ในทางกลับกัน มันจะเป็นข้อดีที่จะช่วยให้การระดมทุนแบบดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมในด้านกฎหมายที่ดีขึ้นในอนาคต

กดคลิกเพื่อแสดงความเห็น